จม.เปิดผนึกถึงพรรคการเมือง อย่ามองข้าม 'สังคมสูงวัย’ ภาระที่คนรุ่นใหม่ต้องแบกรับ
"...ตามผลการรายงานของโครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัยชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของจำนวนประชากรไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง กลุ่มผู้ที่มี 40-59 ปีซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นผู้สูงวัย มีจำนวน 19,673,580 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65 ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนกลุ่มนี้จะต้องมองหาพรรคการเมืองที่วางนโยบายในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ ใน กรุงเทพมหานคร..."
“ประเทศไทยจะต้องพบกับ สังคมสูงวัย ในอีก 10 ปีข้างหน้า ผู้ที่จะต้องเผชิญปัญหานี้ คือ คนวัย 40 ปีขึ้นไปในปัจจุบัน ฉะนั้นพรรคการเมืองที่จะบริหารประเทศต่อจากนี้ จะต้องใส่ใจ จัดวาง และสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยในทุกมิติ”
คือ หนึ่งในใจความสำคัญจดหมายเปิดผนึกของการจัดประชุมเพื่อหาแนวทางการสื่อสารการติดตามนโยบายพรรคการเมืองเตรียมพร้อมรองรับสังคมสูงวัย ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) และสำนักประสานงานสนับสนุนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะรองรับสังคมสูงวัย(สป.สว.) ณ ห้องประชุม 302 ชั้น 3 อาคารสุขภาวะ สสส. เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา นำโดย ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธาน สป.สว. ที่เล็งเห็นถึงปัญหาสังคมผู้สูงวัยในประเทศไทย ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงได้จัดทำจดหมายเปิดผนึกส่งไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่ลงเลือกตั้งในปี 2562 เพื่อให้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และวางนโยบายที่สามารถครอบคลุมปัญหาสังคมผู้สูงวัยทั้ง 4 ด้านได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อม สุขภาพ และชุมชนสังคม มีรายละเอียดดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ
1) จะปรับปรุงและพัฒนาระบบสวัสดิการโดยเฉพาะระบบบำนาญอย่างไร? เมื่อไร? ถึงจะเพียงพอ มั่นคง และยั่งยืน
2) จะพัฒนาระบบการออมของคนไทยอย่างไรให้เป็นจริง เพื่อให้คนสูงอายุเมื่อหยุดทำงานจะมีเงินเก็บออม เป็นบำนาญของตัวเอง
3) จะส่งเสริมการขยายอายุการทำงานของคนไทยอย่างไร โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการผลิตโดยรวม และ ส่งเสริมให้คนไทยหันมาขยายอายุการทำงานของตนเองอย่างไร?
4) อนาคตประเทศไทยจะขาดแคลนแรงงาน เพราะประเทศเพื่อนบ้านกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยตามหลัง ประเทศไทย เราจะมีนโยบายเรื่องแรงงานอย่างไร?
5) จะส่งเสริมการจ้างงานที่ใกล้ชุมชนชนบทอย่างไร เพื่อให้คนทำงานยังสามารถดูแลพ่อ แม่ และลูกได้
2. ด้านสภาพแวดล้อม
1) จะมีนโยบายและมาตรการปรับปรุง ที่อยู่อาศัย บ้าน ถนนหนทาง การเดินทาง และอาคารสาธารณะ อย่างไร เพื่อรองรับสังคมสูงวัยที่จะมีผู้สูงอายุจำนวนมากเกิดขึ้น โดยให้สามารถเป็นประโยชน์ร่วมกันทั้ง เด็ก คนพิการ และคนวัยทำงาน (อยู่ดี ทุกวัย) ได้อย่างไร?
2) จะกระจายอำนาจการบริหารจัดการให้ท้องถิ่นและชุมชน เพื่อพัฒนาปรับปรุงสภาพแวดล้อมร่วมกับ ชุมชนและเจ้าของบ้านอย่างไร? จะระดมช่างชุมชนเพื่อเป็นกลุ่มจิตอาสาร่วมกับสถาบันการศึกษาด้าน ช่างหรือไม่ อย่างไร?
3) จะส่งเสริมภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ให้เข้ามีส่วนร่วมเพื่อปรับสภาพแวดล้อมของบ้านและชุมชนอย่างไร?
3. ด้านสุขภาพ
1) จะมีนโยบาย มาตรการให้คนไทยแก่ช้าและเจ็บป่วยช้าลงอย่างไร? และเมื่อเจ็บป่วยในบั้นปลายชีวิตจะ ทำอย่างไรให้ไม่ต้องทรมาน ยื้อชีวิตอยู่อย่างไม่มีคุณภาพ
2) อนาคตคนสูงอายุจะมากขึ้น โรงพยาบาลย่อมขาดแคลนไม่เพียงพอ รัฐจำเป็นต้องส่งเสริมศูนย์ฟื้นฟู สุขภาพ ทั้งก่อนไปโรงพยาบาล ก่อนกลับบ้าน และก่อนตายอย่างไร?
3) อนาคตจะมีคนติดบ้าน ติดเตียงมากขึ้น ประเทศไทยควรมีระบบให้ชุมชนระดมจิตอาสา เพื่อสร้างศูนย์ กิจกรรมบำบัดของผู้สูงอายุ และผู้พิการกระจายทุกตำบลอย่างไรหรือไม่? จะพัฒนาผู้มีจิตอาสาให้เป็น นักบริบาลออกเยี่ยมเยียนผู้ติดเตียงอย่างเป็นระบบได้อย่างไร?
4) จะใช้เทคโนโลยีในยุคดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ในการดูแล รักษา ผู้สูงอายุอย่างไร?
4. ด้านชุมชนสังคม
1) จะสร้างแรงจูงใจและลดภาระให้หนุ่ม-สาว ที่พร้อมมีลูกเพิ่มขึ้นอย่างไร รัฐจะอุดหนุนอย่างเป็นระบบเพื่อ ลดภาระการเลี้ยงดูลูกอย่างไร ชุมชนและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นควรมีบทบาทอย่างไร? แค่ไหน?
2) จะให้ชุมชน บ้าน วัด โรงพยาบาล องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น รพ.สต. ชมรมผู้สูงอายุมีส่วนร่วมรวมตัว เพื่อสร้างระบบรองรับสังคมสูงวัยอย่างไร?
3) ในอนาคตโรงเรียนจะมีที่ว่างมากขึ้น ครูจะว่างงานมากขึ้น เพราะจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยลง ยิ่งกว่านั้น การศึกษาหาความรู้มิใช่อยู่แต่เพียงในโรงเรียนเท่านั้น รัฐจะส่งเสริม พัฒนาโรงเรียน ให้เป็นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคน 3 วัยอย่างไร? ผู้สูงอายุจะมี ความสุขมากขึ้น เมื่อมีกิจกรรมร่วมกับลูกและหลาน ใคร?องค์กรไหน? ควรเป็นผู้ดำเนินการ
4) จะต้องกระจายอำนาจให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้ง อบต. เทศบาล อบจ. อย่างแท้จริงหรือไม่? เพราะแต่ละท้องถิ่นย่อมมีปัญหาและความต้องการต่างกัน
สำหรับรายนามคณะกรรมการ โครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัย ได้แก่ ศาสตราภิชาน ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ดำรงตำแน่งประธานกรรมการ ศ.กิตติคุณ ดร.เทียนฉาย กีระนันทน์ กรรมการและที่ปรึกษา นพ.อำพล จินดาวัฒนะ กรรมการและที่ปรึกษา และกรรมการซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานด้านต่างๆ กรมอนามัย กรมกิจการผู้สูงอายุ คณะกรรมการสุขภาพ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ด้านพรรคการเมืองที่มีการตอบรับจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว คือ พรรคพลังธรรมใหม่ซึ่งจะพิจารณาจัดทำกรอบนโยบายสำหรับผู้สูงวัย เพื่อเสนอการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารพรรคขั้นต่อไป และ พรรคเสรีรวมไทยที่พร้อมสนับสนุนหลักการเพื่อผู้สูงวัยและได้มีนโยบายสำหรับเรื่องดังกล่าวไว้อยู่แล้ว
ซึ่งตามผลการรายงานของโครงการพัฒนานโยบายรองรับสังคมสูงวัยชี้ให้เห็นว่า สัดส่วนของจำนวนประชากรไทยที่มีสิทธิเลือกตั้ง กลุ่มผู้ที่มี 40-59 ปีซึ่งในอีก 10 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นผู้สูงวัย มีจำนวน 19,673,580 คน คิดเป็นร้อยละ 38.65 ซึ่งถือว่าเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คนกลุ่มนี้จะต้องมองหาพรรคการเมืองที่วางนโยบายในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ
ในการรายงานยังมีการเปรียบเทียบโครงสร้างสถานการณ์ประชากรของประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 2543 2553 2564 และ พ.ศ.2579
ภาพประกอบจาก WATCHDOG CHANNEL สถานการณ์สังคมสูงวัย 2561
จากแผนภาพแสดงให้เห็นว่าปีพ.ศ.2579 จะมีประชากรไทยที่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 1ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งในสมัยก่อนครอบครัวไทยจะมีลูกเฉลี่ย 5 คนต่อครอบครัว แต่ปัจจุบันแต่ละครอบครัวมีลูกเฉลี่ยลดลงน้อยกว่า 2 คนต่อครอบครัว นั้นหมายความว่าในอนาคตจะมีกลุ่มวัยทำงานน้อยลงแต่ต้องมีความรับผิดชอบสูงขึ้น เพราะปัจจุบันคนวัยทำงาน 4 คนจะดูแลผู้สูงอายุ 1 คนและเด็ก 1 คน แต่ในอีก 15ปีข้างหน้า พ.ศ.2579 จะเหลือคนวัยทำงาน 2 คนต่อการดูแลผู้สูงอายุ 1 คน และเด็ก 1 คน
ฉะนั้นแล้วในการเลือกตั้งวันที่ 24 มี.ค.2562 นี้ การตัดสินใจว่าจะ เลือกพรรคการเมืองอย่างไร?
ปัจจัยเรื่อง ’สังคมสูงวัย’ จึงเป็นสิ่งที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคนต้องตระหนัก และใส่ใจ เพราะเป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องเผชิญหน้าอย่างหนีไม่พ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/