กางระเบียบ ก.พ. ‘2ขรก.อบต.ขามป้อม’ ทำงานต่อได้หรือไม่? หลังศาลตัดสินเป็นบุคคลล้มละลาย
“...หากข้าราชการผู้ใดถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องสั่งให้ออกจากข้าราชการ ตาม มาตรา 107 (4) มาตรา 110 (3) โดยถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 36 ข. (ุ6)…”
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ช่วยตรวจสอบกรณี นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน หัวหน้าสำนักปลัด ข้าราชการใน องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม จ.มหาสารคาม ได้คำสั่งจากศาลล้มละลายกลางให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 แต่ปัจจุบันบุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตามปกติ ทั้งที่ การเป็นบุคคลล้มละลายเป็นลักษณะต้องห้ามที่จะรับราชการ ตาม พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 36 ข.(6)
ขณะที่ นายจันทร์ สมศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศรา ว่า บุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตำแหน่งเดิมอยู่ ตนยังไม่ได้รับหนังสือที่กล่าวว่าคนทั้งสองตกเป็นบุคคลล้มละลาย จึงยังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่ชัด
ส่วน นางอุไรรัตน์ บุตรตะกะ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่า บุคคลทั้งสองยังคงทำงานอยู่ และจะขอตรวจสอบเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง
ด้าน นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม กล่าวว่า จะขอชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเป็นหนังสือ ขณะที่ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน ไม่สามารถติดต่อได้ (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ)
เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงทางด้านกฎหมายมากขึ้น ว่าเมื่อข้าราชการถูกศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ยังสามารถทำงานต่อเป็นข้าราชการได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องพร้อมข้อสังเกตมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
พ.ร.บ.ฉบับนี้ ระบุถึงคุณสมบัติทั่วไปและลักษณะต้องห้ามของข้าราชการพลเรือนไว้ใน มาตรา 36 ว่า
ผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือนต้องมีคุณสมบัติทั่วไป และไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้
ก. คุณสมบัติทั่วไป
(1) มีสัญชาติไทย
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปี
(3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วยความบริสุทธิ์ใจ
ข. ลักษณะต้องห้าม
(1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
(2) เป็นคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความสามารถ คนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ หรือเป็นโรคตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.
(3) เป็นผู้อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักราชการหรือถูกสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(4) เป็นผู้บกพร่องในศีลธรรมอันดีจนเป็นที่รังเกียจของสังคม
(5) เป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่รับผิดชอบในการบริหารพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง
(6) เป็นบุคคลล้มละลาย
(7) เป็นผู้เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(8) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก ปลดออก หรือไล่ออกจากรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
(9) เป็นผู้เคยถูกลงโทษให้ออก หรือปลดออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้หรือตามกฎหมายอื่น
(10) เป็นผู้เคยถูกลงโทษไล่ออก เพราะกระทำผิดวินัยตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายอื่น
(11) เป็นผู้เคยกระทำการทุจริตในการสอบเข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
ผู้ที่จะเข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตาม ข. (4) (6) (7) (8) (9) (10) หรือ (11) ก.พ. อาจพิจารณายกเว้นให้เข้ารับราชการได้ แต่ถ้าเป็นกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม (8) หรือ (9) ผู้นั้นต้องออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสองปีแล้ว และในกรณีมีลักษณะต้องห้ามตาม (10) ผู้นั้นต้องออกจากงานหรือออกจากราชการไปเกินสามปีแล้ว และต้องมิใช่เป็นกรณีออกจากงานหรือออกจากราชการเพราะทุจริตต่อหน้าที่ มติของ ก.พ. ในการยกเว้นดังกล่าวต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสี่ในห้าของจำนวนกรรมการที่มาประชุม การลงมติให้กระทำโดยลับ
ในกรณีการขอยกเว้นโทษตามวรรคสอง ก.พ. จะยกเว้นให้เป็นการเฉพาะราย หรือจะประกาศยกเว้นให้เป็นการทั่วไปก็ได้
ข้อสังเกต การเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 ข. (6) แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551
ทั้งนี้ มาตรา 36 ยังระบุถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะเข้ารับราชการพลเรือน แต่ในกรณีที่บุคคลนั้นถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายขณะเป็นข้าราชการอยู่ จะพิจาณาตาม หมวด 8 การออกจากราชการ มาตรา 107 แห่ง พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ระบุว่า
มาตรา 107 ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเมื่อ
(1) ตาย
(2) พ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
(3) ลาออกจากราชการและได้รับอนุญาตให้ลาออกหรือการลาออกมีผลตามมาตรา 109
(4) ถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 59 มาตรา 67 มาตรา 101 มาตรา 110 หรือมาตรา 111 หรือ
(5) ถูกสั่งลงโทษปลดออก หรือไล่ออก
วันออกจากราชการตาม (4) และ (5) ให้เป็นไปตามระเบียบที่ ก.พ. กำหนด
ข้อสังเกต ในกรณีการเป็นบุคคลล้มละลายนั้น พิจารณาตามความใน มาตรา 107 (4) ซึ่งระบุถึงการถูกสั่งให้ออกตามมาตรา 59, 67, 101, 110 หรือ 111 โดยมาตราที่เกี่ยวข้องกับการถูกสั่งให้ออกเมื่อตกเป็นบุคคลล้มละลายพิจารณาตาม มาตรา 110 (3) ระบุว่า
มาตรา 110 ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ในกรณีดังต่อไปนี้
...
(3) เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดขาดคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 36 ก. (1) หรือ (3) หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 36 ข. (1) (3) (6) หรือ (7)
...
ข้อสังเกต ตาม มาตรา 110 (3) ระบุไว้ชัดเจนว่า ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 36 ข. (6) คือ เป็นบุคคลล้มละลาย ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้
หมายความว่า หากข้าราชการผู้ใดถูกศาลพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลายแล้ว ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีอำนาจสั่งบรรจุตามมาตรา 57 ต้องสั่งให้ออกจากข้าราชการ ตาม มาตรา 107 (4) มาตรา 110 (3) โดยถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 36 ข. (6)
อย่างไรก็ดี ข้าราชผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการตาม มาตรา 110 (3) สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ตาม มาตรา 114
มาตรา 114 ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้หรือถูกสั่งให้ออกจากราชการตามมาตรา 110 (1) (3) (5) (6) (7) และ (8) ผู้นั้นมีสิทธิ์อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ค. ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบหรือถือว่าทราบคำสั่ง
การอุทธรณ์และการพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.ค.
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้รับการติดต่อจากผู้เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
ดังนั้น ข้อเท็จจริงสำหรับกรณีนี้ ที่ว่า นางสมฤดี ประสมศรี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม และ สิบเอกบัณฑิต ปักกุนนัน หัวหน้าสำนักปลัด ข้าราชการใน องค์การบริหารส่วนตำบลขามป้อม จ.มหาสารคาม ถูกศาลล้มละลายกลางสั่งให้ตกเป็นบุคคลล้มละลาย ตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. 2561 แต่ปัจจุบันบุคคลทั้งสองยังคงรับราชการตามปกติ
เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับตามกฎหมายหรือไม่ จึงยังไม่ได้รับความกระจ่างชัดในขั้นตอนปฏิบัติ ณ ขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ร้อง ‘อิศรา’ สอบ 2ขรก.อบต.ขามป้อมถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์คดีล้มละลาย แต่ยังทำงานตามปกติ