กองทัพเมียนมาค้านการแก้ไข 'แก่นแท้ของรัฐธรรมนูญ'
กองทัพเมียนมายืนยันไม่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากความเปลี่ยนแปลงนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อมาตราที่ถือเป็น "แก่นสาร" หรือ "สาระสำคัญ"
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากคณะกรรมาธิการข่าวของกองทัพเมียนมาจัดการแถลงเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการที่รัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี มีความประสงค์แก้ไข "บางมาตรา" ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 และเขียนขึ้นโดยกองทัพ ว่าฝ่ายทหารไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความพยายามในการเปลี่ยนแปลง "สาระสำคัญ" ของรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ พล.ต. ตุน ตุน ยี กล่าวว่ากองทัพไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับ "แนวทางปฏิบัติเช่นนี้ซึ่งไม่ยุติธรรม" โดยจากจำนวนสมาชิกคณะกรรมาธิการยกร่างธรรมนูญจำนวน 45 คนซึ่งรัฐสภาที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ( เอ็นแอลดี ) ของนางซูจี ครองเสียงข้างมากทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น จะมีสัดส่วนมากถึง 18 คน ในขณะที่ตัวแทนจากกองทัพมีสัดส่วนเพียง 8 ที่นั่ง และที่เหลือจะเป็นการแบ่งสรรระหว่างพรรคการเมืองขนาดเล็กในสภา ซึ่งแทบไม่มีอำนาจต่อรองอะไร
ด้านพ.อ.พิเศษ ถั่น ซอ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาในโควตาของกองทัพด้วย กล่าวว่าทหารจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมาธิการปฏิรูปชุดนี้ในสัดส่วนที่กำหนด แต่จะคัดค้านการเปลี่ยนแปลงใดก็ตามที่จะส่งผลกระทบต่อ "แก่นสาร" ของรัฐธรรมนูญ โดยการแสดงจุดยืนของกองทัพเมียนมาครั้งนี้สอดคล้องกับคำกล่าวของพล.อ.มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซึ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์อาซาฮีของญี่ปุ่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ว่ากองทัพเมียนมาไม่ต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่การปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อ "หลักการพื้นฐาน"
ขณะที่ผู้สันทัดกรณีวิเคราะห์ว่า มาตราที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดว่าจะมีการ "ตีความใหม่" คือมาตรา 436 ที่เปิดโอกาสให้กองทัพสามารถใช้อำนาจวีโต้ปัดตกมติการประชุม หรือการเสนอแก้ไขร่างกฎหมายใดก็ตาม ส่วนมาตราเกี่ยวกับการห้ามบุคคลซึ่งมีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติจากการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ที่แน่นอนว่ากองทัพเขียนมาตรานี้ขึ้นเพื่อ “ป้องกัน” นางซูจีจากการขึ้นสู่จุดสูงสุดทางการเมือง “อย่างเป็นทางการ” อาจยังไม่จำเป็นในตอนนี้ เนื่องจากนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเมื่อเดือนเม.ย. 2559 อำนาจบริหารทั้งหมดอยู่ที่นางซูจี ในฐานะมนตรีแห่งรัฐ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อเธอโดยเฉพาะ ให้เป็น “ผู้นำในทางพฤตินัย” มากกว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือนายวิน มยินต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในพันธมิตรยาวนานของเธอเสียอีก
ที่มาข่าว: https://dailynews.co.th/foreign/695004