ธ.ก.ส.เปิดตัว “หมอหนี้อาสา” ปรับโครงสร้างหนี้ชุมชน-สอนบัญชีครัวเรือน
ธ.ก.ส.เปิดตัว “หมอหนี้อาสา” ต่อยอดธนาคารชุมชน ปรับโครงสร้างหนี้ชาวบ้านเข้าสู่ระบบ-เป็นที่ปรึกษาการเงิน-สอนบัญชีครัวเรือน เลือกจากผู้นำชุมชนต้นแบบ เริ่ม 650 ราย 13 จังหวัด ตั้งเป้า 2.6 หมื่นคนทั่วประเทศภายในปี 54 ตั้งงบ 6 พันล้านคาด 3 ปีช่วยชาวบ้าน 3 แสนราย
วันที่ 29 พ.ย.53 ที่สำนักงานใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดแถลงข่าว “เปิดตัวโครงการอาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินครัวเรือน(หมอหนี้)” โดย นายวินัย เครือตรีประดิษฐ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า เศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ชาวบ้านชนบทโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยในชนบท ขาดโอกาสเข้าถึงบริการจากสถาบันการเงินในระบบ จึงต้องกู้ยืมเป็นหนี้นอกระบบจนเป็นหนี้สิน ธ.ก.ส.จึงทำโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ให้ชุมชนคัดเลือกผู้มีจิตอาสา ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่นับถือไว้วางใจของคนในชุมชน แต่อาจเน้นไปที่ผู้หญิง เพราะมีความละเอียดรอบคอบ เข้าใจพื้นฐานการทำบัญชีครัวเรือนซึ่งเป็นหัวใจในการบริหารจัดการหนี้ มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำด้านการจัดการทางการเงินและการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“หมอหนี้ยังประสานระหว่างคนในชุมชนกับองค์กรการเงินชุมชนหรือสถาบันการเงินในระบบ เช่น กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารชุมชน และ ธ.ก.ส. ตลอดจนสนับสนุนการสร้างกลุ่มอาชีพ เชื่อมโยงการตลาดของชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งทุนในระบบควบคู่กับการบูรณาการแก้ไขหนี้อย่างครบวงจร”
รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเป็นหมอหนี้ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี ประเมินผลงานทุกปี หากสามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาการแก้ปัญหาหาหนี้สินครัวเรือน ถ่ายทอดความรู้ในการทำบัญชีครัวเรือนได้ดี ก็ให้ทำหน้าที่ต่อ ทั้งนี้ ธ.ก.ส.จะช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ปฏิบัติงาน เงินช่วยเหลือ ค่าใช้จ่าย และสวัสดิการประกันชีวิต
ส่วนการดำเนินงาน นายวินัย กล่าวว่า จะเริ่มจากพื้นที่ชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ธ.ก.ส. และพื้นที่ให้บริการสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านจำนวน 26,000 แห่งทั่วประเทศ ขณะนี้มีการคัดเลือกผู้แทนจากชุมชนเพื่อเข้าอบรมแล้ว 650 ราย จาก 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร หนองคาย ขอนแก่น สกลนคร มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ซึ่งหมอหนี้ดังกล่าวจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์แสดงสินค้าและประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และจะเริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่ทันที จากนั้นจะทยอยอบรมชุดต่อไป จนครบตามเป้าหมายภายในปี 2554
นายลักษณ์ วจนานวัชร ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า ธ.ก.ส.มีหน่วยงานที่ดูแลในระดับอำเภอ แต่ยังเข้าไม่ถึงหมู่บ้าน โครงการดังกล่าวเสริมเข้ามาในโครงการธนาคารชุมชนที่ดำเนินการไปแล้ว เพื่อช่วยเติมเต็มให้ผู้ด้อยโอกาสในชนบทที่เข้าไม่ถึงสถาบันการเงินในระบบ โดยหมอหนี้จะทำหน้าที่ให้คำแนะนำทางการเงิน และใช้บัญชีครัวเรือนเป็นฐานข้อมูลในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อของธนาคาร คาดว่า 3 ปีจะช่วยชาวบ้านได้ 3 แสนราย โดยตั้งงบประมาณไว้ 6 พันล้านบาท.