โชว์ 2 เทคโนโลยี “รถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้า-ระบบเซนเซอร์วัดค่าฝุ่น” แก้ PM2.5
สกว. ร่วมกับ 2 นักวิจัย โชว์เทคโนโลยีแนวทางแก้ ‘ฝุ่น’ เชิงนโยบาย ชี้ทางออก“รถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้า” ลดมลพิษทางอากาศ “เซนเซอร์วัดค่าฝุ่น” ตระหนักรู้อันตราย เตรียมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
แม้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) จะเริ่มคลายความวิกฤตแล้ว โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนยังคงเฝ้าระวัง ติดตามตรวจสอบ และรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญ มีการผลักดันมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ไม่ให้เกินค่ามาตรฐานตลอดไป
รวมถึงในเวทีของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีการจัดโชว์เทคโนโลยีแนวทางแก้ ‘ฝุ่น’ เชิงนโยบาย ภายใต้งานการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สกว. เพื่อเผยแพร่งานวิจัยด้านเทคโนโลยี ข้อมูลข้อค้นพบและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
ทั้งนี้ มี 2 งานวิจัยเทคโนโลยีเกี่ยวกับการแก้ปัญหาฝุ่นที่น่าสนใจ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org หยิบยกมานำเสนอ
@รถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าด้วยวัสดุคอมโพสิท
“ถ้าประเทศไทยสามารถขยับมาตรฐานเชื้อเพลิงจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 สำเร็จ ปัญหาเรื่องมลพิษในอากาศจะลดน้อยลง”
ศ.ดร.ยศพงษ์ ลออนวล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี แสดงความคาดหวัง ก่อนจะกล่าวถึงการใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงในประเทศไทยว่า เรายังใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 1, 2 และ3 ซึ่งในต่างประเทศทั่วไปเลิกใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงนี้มา 10 กว่าปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันรถรุ่นใหม่ที่ออกมาจะเป็นรถมาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 4 ส่วนมากเป็นรถเก๋งและรถกระบะ
ส่วนรถเมล์และรถบรรทุกนั้น หากเป็นรถรุ่นใหม่ ยังใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 3 ส่วนรุ่นเก่าที่จดทะเบียนก่อนหน้านั้น นั่นคือรถเมล์ควันดำ ยังใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงยูโร 1 และ 2 ซึ่งได้เสนอมาตรการให้เลิกใช้มาตรฐานเชื้อเพลิงนี้ภายใน 20 ปี
นักวิจัย ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ยืนยันว่า “เราควรทำให้ประเทศไทยมีอากาศที่สะอาดกลับคืนมา” โดยผ่านข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
1)การใช้เทคโนโลยียานยนต์ที่สะอาด
2)การใช้เชื้อเพลิงสะอาด
3)มาตรการจัดการรถเก่าและการดูแลเครื่องยนต์ที่เหมาะสม
4)รวมถึงมาตรการลดระยะการเดินทางจากการใช้รถยนต์
เหตุผลเพราะมลพิษทางอากาศนั้นควบคุมพิษจากยานยนต์เป็นเรื่องสำคัญ
ศ.ดร.ยศพงษ์ นำเสนอต่อไปว่า จากที่มาและเหตุผลทั้งหมด ทำให้เกิด “โครงการการออกแบบโครงสร้างน้ำหนักเบา สำหรับรถโดยสารไมโครบัสไฟฟ้าในประเทศไทยด้วยวัสดุคอมโพสิท” เพื่อต้องการพัฒนาเครื่องยนต์ และลดปัญหามลพิษทางอากาศ
โดยโครงการฯ ระยะที่1 นั้น ได้ออกแบบโครงสร้างรถสำหรับระยะการขับขี่ 300 กิโลเมตร ร่วมกับ ขสมก. นำรถโดยสารไฟฟ้าของบริษัท เอดิสัน มอเตอร์ส ประเทศเกาหลีใต้ มาใช้ และงานวิจัยครั้งนี้ยังได้ออกแบบโครงสร้างรถโดยสารน้ำหนักเบาด้วยโครงสร้างแบบ Semi-monocoque (โครงสร้างส่วนรับแรงส่วนใหญ่เป็นผิวและมีคานรองพื้นห้องโดยสาร) จากวัสดุคอมโพสิท และใช้โครงสร้างแบบแซนวิช แทนโครงสร้างแบบเดิมที่ประกอบจากเหล็ก โดยคำนึงถึงขนาด และลักษณะของรถโดยสาร ให้สอดคล้องกับกฎหมายของกรมการขนส่งทางบก และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตาม UN-ECE รวมถึงชนิดวัสดุ และความสามารถในการผลิตในประเทศ
“ปัญหาภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ รวมถึงฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ส่งผลให้หลายประเทศให้ความสำคัญและส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกเพื่อทดแทน ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล” ผศ.ดร.ยศพงษ์ กล่าว
@ระบบเครือข่ายเซนเซอร์หมอกควัน
อีกหนึ่งงานวิจัย คือ “การพัฒนาระบบเครือข่ายเซนเซอร์และระบบภูมิสารสนเทศเพื่อติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันภาคเหนือของประเทศไทย” โดย ผศ.ดร.สรรเพชร ซื้อนิธิไพศาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.สรรเพชร เปิดเผยว่า จากการศึกษานำร่องในพื้นที่จังหวัดน่านพบได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก กระจายไปทุกพื้นที่ของชุมชน รวม 95 แห่ง ในเดือนมกราคม พ.ศ.2560 เพื่อสร้างระบบติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์หมอกควันในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และเป็นข้อมูลเสริมจากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศหลักที่มีอยู่ในอำเภอเมืองของทุกจังหวัดภาคของภาคเหนือตอนบน
“อุปกรณ์ดังกล่าวมีขนาดเล็ก ติดตั้งใช้งานง่ายและสะดวกในการบำรุงรักษา สามารถตรวจวัดค่าความเข้มข้นของ PM1.0 PM2.5 และPM10 รวมถึงค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ โดยผ่านการทดสอบเทียบค่ากับเครื่องมือตรวจวัดมาตรฐานที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมและสถานีตรวจวัดมาตรฐาน เพื่อกำหนดค่าปรับแก้ข้อมูล มีจอแสดงผลข้อมูลและ LED เพื่อใช้แสดงสถานะของค่าหมอกฝุ่นควันอย่างง่ายๆ ตัวอุปกรณ์เชื่อมต่อกับไวไฟและส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบคลาวด์ทุก 5 นาที หน่วยงานท้องถิ่น ภาครัฐและประชาชนสามารถเข้าดูได้ที่ http://cusense.net/ พร้อมระบบการเตือนผ่านทวิตเตอร์ @foonReporter อีกทั้งจะขยายผลการทำงานต่อ ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
นักวิจัยจุฬาฯ กล่าวยืนยันว่าการฝ่าวิกฤตหมอกฝุ่นควันด้วย IoT เรื่องจริงไม่ใช่ดราม่า ชาวน่านทราบค่าฝุ่นละอองผ่านเครือข่ายเซนเซอร์ กว่าสิบปีของปัญหาหมอกฝุ่นควันภาคเหนือ ถึงวันนี้ แม้นโยบายต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหา แต่หมอกฝุ่นควันก็ยังกลับมาเยือนทุกปี ถึงเวลาที่ประชาชนควรมีสิทธิรับรู้ ความรุนแรงของหมอกฝุ่นควัน โดยอุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อความตระหนักรู้ในอันตรายที่กำลังได้รับในพื้นที่และเตรียมการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างทันท่วงที .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/