งานวิจัยสกว.ชี้สิ่งที่ยังขาด- เร่งผลักดันเพิ่ม การส่งเสริมใช้รถ EV
ภาครัฐควรเป็นแกนนำในการเปลี่ยนยานยนต์ในสังกัดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ และรถแท็กซี่ ให้ใช้เช่นกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ดีของยานยนต์ไฟฟ้า
การเผชิญหน้ากับปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทำให้เกิดกระแสความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหามลพิษทางอากาศในวงกว้าง ซึ่งหนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 คือ พาหนะเครื่องยนต์ดีเซลที่นิยมใช้ในภาคคมนาคมขนส่ง
ทางออกหนึ่งเพื่อการแก้ปัญหานี้อย่างยั่งยืนซึ่งมีการใช้งานแล้วในหลายประเทศที่ผู้นำและประชาชนตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม คือ “ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric vehicles : EV)”
ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ยานยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ของไทย เพราะรัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยได้วาง “แผนการขับเคลื่อนภารกิจด้านพลังงานเพื่อส่งเสริมการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยในระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2579” รวมถึงวาง “แผนที่นำทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยระหว่างปีพ.ศ. 2557 – 2562”
เนื่องจากยานยนต์ไฟฟ้ามีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ประหยัดเชื้อเพลิง และมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง เช่น มีอัตราเร่งในการออกตัวสูง (ไม่ต้องทดเกียร์) ไม่มีเสียงดังของเครื่องยนต์รบกวน
นอกจากนั้นยังประหยัดค่าใช้จ่ายในบางด้านลง เช่น ค่าซ่อมบำรุง และค่าเชื้อเพลิง ฯลฯ แม้จะมีข้อด้อยที่ต้องคำนึงถึง เช่น การชาร์จพลังงาน 1 ครั้ง (ประมาณ 4 ชั่วโมง) จะวิ่งได้ประมาณ 400 ก.ม. ทำให้ไม่เหมาะแก่การใช้เดินทางไกล ไม่นับรวมด้านราคาขายในปัจจุบันที่ยังจัดว่า ค่อนข้างสูง แต่เมื่อวัดกันที่การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวแล้ว ก็ยังถือว่ามีความคุ้มค่า
นักวิจัย สกว. ชี้ชัดว่า ยานยนต์ไฟฟ้า พิสูจน์ได้จากหลายประเทศที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศได้มีการเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ประเภทนี้เป็นหลักหรือหันมาสนับสนุนการผลิตยานยนต์ประเภทนี้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น นอร์เวย์ เยอรมัน ญี่ปุ่น อเมริกา และจีน เป็นต้น
ถามว่า แล้วเราจะทำอย่างไรให้ผู้ใช้รถตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าแทนยานยนต์ประเภทที่ใช้เชื้อเพลิง (เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine : ICE)) ซึ่งนิยมใช้ในปัจจุบัน และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชี้ชัดถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงความสนใจของผู้ใช้ยานยนต์
ผศ.ดร.ภูรี ได้ทำวิจัยเชิงเศรษฐศาสตร์และได้ข้อสรุปว่า
จากการทำงานวิจัยโครงการประเมินมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อการยอมรับของผู้บริโภคและประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง พบว่า ในการที่จะให้ผู้บริโภคตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้านั้น จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะทั้ง ‘ต้นทุนรวมในการเป็นเจ้าของ (Total cost of Ownership : TCO)’ ยานยนต์หนึ่งคัน ไม่ว่าจะเป็นราคารถมือหนึ่ง และราคาขายต่อ ค่าเชื้อเพลิง ค่าบำรุงรักษา รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาจากการซื้อ เช่น ดอกเบี้ย ประกัน และภาษี
ซึ่งในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบต้นทุนที่ผู้ใช้ยานยนต์ต้องจ่ายหรือ ‘ต้นทุนเอกชน’ แล้ว EV ยังมีความโดดเด่นจูงใจไม่มากพอที่จะทำให้ผู้ซื้อเปลี่ยนมาซื้อ EV โดยเฉพาะเมื่อยานยนต์ในเซ็กเมนต์เดียวกัน ยานยนต์ประเภทสันดาปภายในมีราคารถถูกกว่า
ในขณะที่ ‘ต้นทุนทางสังคม’ โดยเฉพาะต้นทุนที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ การใช้ EV ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนนี้เลย และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า”
ผลจากการสำรวจยังพบว่า อัตราการยอมรับ EV อยู่ที่ร้อยละ 60 แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้รถยินดีที่จะเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมี 3 ส่วน คือ ปัจจัยส่วนบุคคล การศึกษา และรายได้ ปัจจัยภายในเกี่ยวกับตัวรถ ราคา ค่ายรถ และสมรรถนะของรถ สุดท้าย คือ ปัจจัยภายนอก บริการหลังการขาย เป็นต้น
และเพื่อให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ผศ.ดร.ภูรี เสนอแนะว่า นอกจากโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในประเทศที่รัฐบาลผลักดันแล้ว รัฐบาลควรใช้มาตรการส่งเสริมทางการเงินเพื่อลดราคายานยนต์ไฟฟ้าและ TCO ลง เช่น การลดภาษีนำเข้า และการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ เพื่อให้ราคารถประเภทนี้ต่ำลงจนสามารถแข่งขันกับรถสันดาปภายในที่นิยมใช้ในปัจจุบันได้
ที่สำคัญนั้น ภาครัฐควรเป็นแกนนำในการเปลี่ยนยานยนต์ในสังกัดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงขอความร่วมมือไปยังผู้ให้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ และรถแท็กซี่ ให้ใช้เช่นกันเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประสิทธิภาพที่ดีของยานยนต์ไฟฟ้า อีกสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การประชาสัมพันธ์จากภาครัฐเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงข้อดีของ EV ให้แก่ประชาชนควบคู่กันไปด้วย
สุดท้าย ในงานวิจัยมีการประเมินด้วยว่า หากประเทศไทยมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามอัตราการยอมรับ EV ที่ร้อยละ 60 ของเป้าหมาย 1.2 ล้านคันภายในปี พ.ศ.2579 พบว่า ความต้องการน้ำมันเบนซิลจะลดลงโดยรวม 600 ล้านลิตร ดีเซลลดลงโดยรวม 313.9 ล้านลิตร LPG ลดลง 174.7 ล้านลิตร
ขณะที่ความต้องการไฟฟ้าจะสูงขึ้นเฉลี่ย 2,994 GWh โดยต้นทุนเชื้อเพลิงที่ประหยัดได้คิดเป็น 11,936 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 650,059 พัน kgCO2e และลดมูลค่าต้นทุนทางสังคมได้ประมาณ 70,279 ล้านบาท
ดังนั้นแล้วหากจะทำให้เกิดผลนี้ได้ ความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ