เปิดบทวิเคราะห์สื่อฮ่องกง ส่องนโยบายปรับลดงบกลาโหม กลเกมข้อมูลข่าวสาร เพื่อไทย VS ทหาร
“...การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยนั้นมุ่งเน้นไปที่การปลุกเร้าความรู้สึกของกลุ่มชนที่ไม่พอใจกับการปกครองของรัฐบาลทหาร ...และเรื่องนี้จะเป็นกระแสสังคมตลอดในช่วงการเลือกตั้งนี้ เพราะประชาชนเริ่มจะตระหนักแล้วว่าตลอด 5 ปีของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวกนั้นต้องการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มงบการทหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ..."
ในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นทางการเมืองที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสาธารณชนกันอย่างมาก ก็คือ นโยบายตัดงบทางการทหารร้อยละ 10 ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งทำให้ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกมาตอบโต้ว่า ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินแทน (อ่านประกอบ : อ่านนัยการเมืองผ่านงานวิจัยเพลง‘หนักแผ่นดิน’ ทำไม‘บิ๊กแดง’ให้‘คุณหญิงหน่อย’ฟัง?)
น่าสนใจว่า กรณีนี้ก็ถูกสื่อต่างประเทศ อย่างสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ในฮ่องกง นำไปตีแผ่ผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน
โดยสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ได้สัมภาษณ์นักวิเคราะห์ด้านอุตสาหกรรมการป้องกัน เกี่ยวกับนโยบายการปรับลดงบประมาณด้านการทหารของพรรคเพื่อไทย ได้รับคำตอบว่า เป็นเรื่องที่ยากที่จะปฏิบัติตามได้ เนื่องจากในขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านของประเทศไทยกำลังมีการเพิ่มกิจกรรมทางการทหารรวมไปถึงการใช้อาวุธอย่างต่อเนื่อง อาทิ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์ไปด้วยว่ากลไกต่างๆของฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทยซึ่งล้วนมากจากทางฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลทหารนั้นได้วางแผนการสืบทอดอำนาจเอาไว้แล้ว ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้งในวันที่ 24 มี.ค.ก็ตามแต่
ส่วนที่ไปที่มาของนโยบายการออกนโยบายดังกล่าวนี้ มีการระบุว่า มาจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ที่มองว่าในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังไม่มีความมั่นคงแบบนี้ การซื้ออาวุธเป็นจำนวนมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงไม่มีความจำเป็น
ซึ่งพรรคเพื่อไทยนั้น ก็ถูกเชื่อมโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกรัฐประหารไปก่อนหน้านี้ และพรรคเพื่อไทยเองก็เคยเป็นพรรคที่อยู่ในอำนาจรัฐบาลก่อนที่จะเกิดเหตุรัฐประหารเมื่อปี 2557
ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่า ในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึงนี้ภาพของพรรคเพื่อไทยนั้นถือเป็นคู่อริหลักต่อพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอย่างแน่นอน
แต่ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนั้น เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญที่ถูกร่างโดยรัฐบาลทหารอีกเช่นกัน ดังนั้นนักวิเคราะห์ทางการเมืองจึงเชื่อได้ว่าด้วยกลไกในรัฐธรรมนูญนั้นได้มีการออกแบบมาแล้วว่ากลุ่มผู้ที่มีอำนาจรวมไปถึงทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นจะยังคงมีอำนาจต่อไป แม้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จะแพ้พรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งก็ตาม
ขณะที่ นายจอน เกรวัต (Jon Grevatt) นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากบริษัท Jane's ซึ่งเป็นบริษัทที่วิเคราะห์กิจกรรมด้านกลาโหมทั่วโลกวิเคราะห์ว่า นโยบายพรรคเพื่อไทยแม้ว่าจะได้รับความนิยมประชาชนที่เบื่อการปกครองภายใต้รัฐบาลทหาร แต่ก็คงจะยากที่จะรวบรวมเสียงจากทางสมาชิกรัฐสภาจนผ่านความเห็นชอบไปได้
เพราะทางฝ่ายทหารนั้นมีตัวช่วยที่สำคัญก็คือข้อมูลทางสถิติประกอบกัน โดยถ้าหากเทียบงบด้านกลาโหมในต่างประเทศรอบข้างประเทศไทย งบกลาโหมของประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่ 2.27 แสนล้านบาท หรือประมาณ 1.4 เปอร์เซ็นต์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติหรือจีดีพี
ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศที่มีการใช้จ่ายด้านการทหารสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน นั้น ได้ประกาศไปเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ว่าจะใช้งบประมาณด้านกระทรวงกลาโหมนีนี้ทั้งสิ้น 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ (356,255 ล้านบาท) หรือคิดเป็น 3.4 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ส่วนที่อินโดนีเซียเองก็มีการตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารจากปัจจุบันออกไปอีก 36 เปอร์เซ็นต์ในปี 2567 หรือราวๆ 9.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ (309,345 ล้านบาท) จากที่ในปัจจุบันอินโดนีเซียใช้จ่ายงบประมาณด้านการทหารอยู่ที่ 7.2 พ้นล้านเหรียญสหรัฐ (224,978 ล้านบาท)
ดังนั้น หากเปรียบเทียบกับงบทางการทหารของประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเพิ่มขึ้นจะพบว่าทางกองทัพไทยสามารถเอาข้อมูลตรงนี้มาอ้างได้ชัดเจนเลยว่างบประมาณด้านการทหารของไทยนั้นมีความเหมาะสมทางแล้วหากเทียบกับจีดีพีของประเทศ
“ข้อเท็จจริงก็คือรัฐบาลทหารนั้นมีความตระหนักในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณด้านต่างๆให้มีความเหมาะสมอยู่แล้ว และยังรับรู้ด้วยว่าการเพิ่มงบประมาณทหารนั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่เป็นที่ชื่นชอบของประชาชน” นายจอนกล่าว
นายจอนกล่าวต่อด้วยว่า หากย้อนดูการจัดซื้อของรัฐบาลทหารนั้นจะพบว่าล้วนแล้วแต่จ่ายเงินให้กับสิ่งที่จ่ายเงินไหวมีความเหมาะสมและยังพยายามเหลีกเลี่ยงการใช้สินเชื่อเพื่อการส่งออก โดยอนุญาตให้รัฐบาลของประเทศที่ผลิตและขายอาวุธนั้น สามารถยื่นข้อเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ประเทศที่ต้องการจะซื้ออาวุธได้
นายจอน ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ทำการจัดซื้ออาวุธใหญ่ๆการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนในช่วงที่การเพิ่มงบกลาโหมร้อยละ 4.6 ก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมด้วยเช่นกัน
@ นายจอน เกรวัต นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากบริษัท Jane's (เครดิตภาพจากเว็บไซต์ www.cnn.com)
อย่างไรก็ดี มีนักวิเคราะห์ทางด้านการเมืองในประเทศไทย ได้กล่าวแสดงความเห็นว่า ข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยก็สามารถดึงความสนใจของสาธารณชนได้เป็นอย่างดีเช่นกัน โดยเฉพาะในเวลานี้ที่มีความเชื่อในสังคมไทยอย่างกว้างขวางว่าในช่วงเวลาที่รัฐบาลทหารปกครองอำนาจ มีการเพิ่มขึ้นของงบกลาโหมอย่างมีนัยยะสำคัญ
เห็นได้จากผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจำนวนมากที่แสดงความคิดเห็นสนับสนุนนโยบายของพรรคเพื่อไทยบนหน้าเฟซบุ๊กของคุณหญิงสุดารัตน์ และสนับสนุนคำวิจารณ์ของคุณหญิงสุดารัตน์ที่วิจารณ์พล.อ.อภิรัชต์ว่า ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกนั้นควรจะมีความเป็นกลางทางการเมืองมากกว่านี้
“การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยนั้นมุ่งเน้นไปที่การปลุกเร้าความรู้สึกของกลุ่มชนที่ไม่พอใจกับการปกครองของรัฐบาลทหาร” นักวิเคราะห์ทางการเมืองที่ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่งระบุ
และกล่าวต่อว่าเรื่องนี้จะเป็นกระแสสังคมตลอดในช่วงการเลือกตั้งนี้ เพราะประชาชนเริ่มจะตระหนักแล้วว่าตลอด 5 ปีของรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพวกนั้นต้องการมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มงบการทหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจ
(เรียบเรียงจาก:https://www.scmp.com/week-asia/politics/article/2186833/thailands-junta-arms-over-plan-cut-military-outlay-neighbours)
ทั้งหมดนี่ เป็นมุมมองของนักวิเคราะห์ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ ที่สะท้อนผ่านสำนักข่าวเซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ เกี่ยวกับนโยบายการปรับลดงบประมาณด้านการทหารของประเทศไทยที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสาธารณชนกันอย่างมากในช่วงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งหลายมุมมองชี้ให้เห็นว่า เรื่องนี้มีอะไรซ่อนอยู่มากกว่า แค่การวิจารณ์ตอบโต้กันไปมาระหว่างพรรคเพื่อไทย และ ทหาร เท่านั้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/