เครือข่ายเกษตรฯ ร้องตั้งองค์กรดูแลความไม่เป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา
เครือข่ายเกษตรฯ ร้องเร่งเยียวยาเกษตรกรรายย่อยในระบบเกษตรพันธะสัญญา หนี้เพียบ-ล้มละลาย-โดนคดี เสนอเร่งสำรจ-เยียวยา ระยะยาวปฏิรูป กม.-มีองค์กรดูแลสัญญาไม่เป็นธรรม
วันที่ 27 มิ.ย.55 มีการสัมนา “เกษตรพันธะสัญญา : ใครอิ่ม ใครอด” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ซึ่งประกอบด้วย เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ได้ร่วมกันจัดทำ “ข้อเสนอนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้แก่เกษตรกรและผู้บริโภค” ดังนี้
1. จากการศึกษาวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาของสถาบันวิชาการหลายแห่ง เช่น ศูนย์การศึกษากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่ามีเกษตรกรจำนวนมากตกอยู่ในวงจรหนี้สิน บางกลุ่มอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าทันข้อมูลและสถานการณ์ บางครอบครัวล้มละลาย ซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน จึงมีข้อเสนอดังนี้
1.1 ให้คณะอนุกรรมการด้านเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) 5 มิ.ย.55 ลงนามโดยนายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยาภายใน 3 เดือน
1.2 แต่งตั้งคณะทำงานกลางเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมและหนี้สิน รวมทั้งการฟ้องร้อง ดำเนินคดี เป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และการช่วยเหลือและเยียวยา ภายใน 1 เดือน หลังจากมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนเสร็จ
2. เนื่องจากโครงสร้างระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยปัจจุบันเข้าสู่โครงสร้างระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร จะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการแบบใหม่ องค์ความรู้เฉพาะในการผลิตและการตลาดแนวใหม่ ทั้งนี้เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในระบบและกำลังจะเข้าสู่ระบบมีข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการการผลิตและการตัดสินในการเข้าสู่ระบบ จึงมีข้อเสนอดังนี้
2.1 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สภาเกษตรกรแห่งชาติ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีความรู้ข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ และเท่าทันในเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการและการผลิตที่เน้นมาตรฐานและคุณภาพ และประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบ
2.2 ให้คณะทำงานในข้อ 1.1 เป็นกลไกหลักจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบปฏิบัติในการส่งเสริมสนับสนุนการเข้าสู่ระบบและอยู่ในระบบอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค ประชาสังคม และสื่อมวลชน ภายใน 6 เดือน
2.3 ให้สภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา สื่อมวลชนและภาคประชาสังคม จัดสมัชชารับฟังความคิดเห็นรวบรวมปัญหาและผลกระทบและข้อเสนอ เพื่อจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร” และนำผลการจัดทำสมัชชามาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
3. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูประบอบกฎหมายที่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ สังคม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ดาวน์โหลด