กทบ.ให้กู้อีก 1.7 หมื่นหมู่บ้านน้ำท่วม ขอ รบ.ชดเชย ดบ.ปีแรก
บอร์ด กทบ.มีมติให้กองทุนหมู่บ้านในพื้นที่ถูกน้ำท่วม-วาตภัย 1.7 หมื่นแห่ง เปิดบัญชีพิเศษกู้เงินก้อนใหม่ 1.7 พันล้าน จากออมสิน-ธ.ก.ส. 1-5 แสนบาทให้เวลาใช้คืน 3 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุน เหตุสมาชิกประสบภัยไม่มีเงินคืนเงินกู้พร้อมเปิดให้ยืมใหม่ไปประกอบอาชีพ
วันที่ 23 พ.ย. 53 ที่รัฐสภา นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ที่มีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้กองทุนหมู่บ้านฯที่อยู่ในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยและวาตภัย คาดมีอยู่ 17,050 แห่ง ซึ่งยังไม่รวมที่ภาคใต้ สามารถกู้เงินจากธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเปิดเป็นบัญชี 3 พิเศษ ภายใต้กองทุนหมู่บ้านฯเพื่อนำเงินกู้ก้อนใหม่นี้ให้สมาชิกได้กู้เงินนำไปใช้หนี้เงินกองทุนหมู่บ้านที่เป็นก้อนดั้งเดิมที่รัฐบาลให้ไป 1 ล้านบาท และวงเงินที่เพิ่มทุนให้ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและไม่เกิดปัญหาหนี้เสีย จากกรณีที่สมาชิกกู้เงินไปแล้ว แต่มาประสบภัยน้ำท่วมจนไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้ตามกำหนดเวลา และยังเปิดช่องให้สมาชิกกู้เงินจากบัญชีนี้ไปประกอบอาชีพได้ด้วย
นายธราดลกล่าวว่า ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้เพิ่มทุนกองทุนหมู่บ้าน ครั้งที่ 7 รวม 2,647 แห่ง วงเงิน 629.2 ล้านบาท ทำให้มีกองทุนที่ได้รับจัดสรรเพิ่มทุนแล้ว 70,011 แห่ง คิดเป็น 88.43% ของจำนวนกองทุนทั้งหมด 79,255 แห่ง รวมวงเงินทั้งหมด 19,556.2 ล้านบาท ส่วนกองทุนฯที่ยังไม่ได้เพิ่มทุนมี 9,164 แห่ง แบ่งเป็นกองทุนที่ยังไม่ได้ขอเพิ่มทุน 356 แห่ง ส่วนที่ขอเพิ่มทุนแต่ติดปัญหามี 8,808 แห่ง อาทิ ยังไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือมีปัญหาหนี้ค้างชำระเกิน 15% หรือกรรมการบริหารชุดเก่ารับเงินไปแล้วไม่เอามาคืน ทำให้ต้องตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมาดำเนินการต่อ ตลอดจนกองทุนที่ไม่สามารถประชุมได้ เช่น ในกรุงเทพฯ และใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ด้านนางปรีชาวรรณ กองสงฆ์ เกษตรกร ต.บางหลวงโดด อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยน้ำท่วมโดยการพักชำระหนี้ลูกหนี้ ธ.ก.ส.เป็นเวลา 3 ปี พร้อมให้กู้เงินลงทุนต่อ โดยลดดอกเบี้ยให้ 3% แต่ในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด เพราะยังไม่มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำให้ ธ.ก.ส. ไม่สามารถพักชำระหนี้หรือให้เงินกู้เพิ่มได้จึงอยากให้มีมติ ครม.โดยเร็ว เพราะน้ำเริ่มแห้งแล้ว หากรอให้พ้นปีใหม่อาจเข้าสู่ช่วงภัยแล้งอีก รวมทั้งขอให้รัฐบาลพักชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านด้วย เพราะเป็นช่วงคืนเงินต้นและดอกเบี้ย
นายอาณัฐพงษ์ ศักดิ์เจริญ ผู้อำนวยการ ธ.ก.ส.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขอให้ลูกหนี้ใจเย็น เชื่อว่าเร็วๆนี้จะพักชำระหนี้และปล่อยเงินกู้เพิ่มได้ ขณะนี้จัดทำทะเบียนรวมถึงลูกหนี้ที่เสียหายไว้แล้วแหล่งข่าวจากผู้ปฏิบัติงานด้านระเบียบและกฎหมายของกองทุนหมู่บ้าน จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้าน 1,488 กองทุน มีลูกหนี้จำนวนมากที่ถูกน้ำท่วมหนักขอพักชำระหนี้ในฐานะนิติบุคคล คณะกรรมการกองทุนเปิดประชุมเพื่อพิจารณาได้โดยพิจารณาเป็นราย ๆไป แต่รัฐบาลไม่ควรประกาศเป็นนโยบายพักชำระหนี้ เพราะจะทำให้สถานะการเงินของกองทุนไม่มั่นคงและอาจล้มได้ เนื่องจากประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยทุกคนจะไม่ส่งเงินต้นและดอกเบี้ยเลยแม้จะมีกำลังส่งก็ตาม
นายอภิเชษฐ์ สิงห์แก้ว พัฒนาการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า น้ำท่วมและพายุส่งผลกระทบต่อกองทุนหมู่บ้าน 1,089 แห่งประมาณร้อยละ 20 สมาชิกไม่มีเงินชำระดอกเบี้ยและเงินต้น จึงให้เลื่อนการชำระหนี้ไประยะหนึ่งและหาทางให้สมาชิกกู้เงินไปประกอบอาชีพให้เร็วขึ้น
นางวิไลวรรณ ไกรโสดา พัฒนาการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดได้ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านวางมาตรการช่วยเหลือสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ขณะนี้มีสมาชิกร้องขอความช่วยเหลือมาแล้ว โดยจะผ่อนผันการชำระคืนเงินกู้และยืดระยะเวลาชำระหนี้เป็นกรณีไป เพราะแต่ละรายได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน
ภาพประกอบจาก http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1276863964&grpid=&catid=01