สนช.เลื่อนพิจารณา วาระ 2-3 ร่าง พ.ร.บ.ข้าว ไปสัปดาห์หน้า-เครือข่ายเกษตรกรรมฯ ยื่นจม. จี้ชะลอ
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยื่น จม.เปิดผนึก ค้านร่าง พ.ร.บ. ข้าว พ.ศ. ... จี้ชะลอออกไปก่อน ขณะที่ สนช. เลื่อนพิจารณา ไปเป็นสัปดาห์หน้า
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 20 ก.พ. 2562 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก นำโดยนายมงคล ด้วงเขียว ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกผ่านพล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ สมาชิกสภานิติบัญญัติเเห่งชาติ (สนช.) ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ. ... เพื่อขอคัดค้านเเละขอให้สนช. ชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. ... ซึ่งตามกำหนดเดิม สนช. จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ในวันนี้ โดยมีสาระสำคัญ ซึ่งเครือข่ายได้วิเคราะห์และมีมติร่วมกันในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1. จุดยืนของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกคือ พ.ร.บ.ข้าวต้องเป็นประโยชน์ต่อชาวนา ผู้ประกอบการในห่วงโซ่เศรษฐกิจข้าว ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบนฐานความร่วมมือของทุกภาคีที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจ สุขภาพ สังคม วิถีวัฒนธรรม และระบบนิเวศ
2. เป้าหมายของ พ.ร.บ.ต้องเป็นไปเพื่อดำรงไว้ซึ่งอาชีพชาวนา พัฒนาและส่งเสริมชาวนารายย่อย พัฒนาให้องค์กรชาวนามีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการพัฒนาระบบการผลิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการอนุรักษ์ การแลกเปลี่ยนพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์ วิถีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชนทั้งเพื่อใช้เองและการจำหน่ายโดยเกษตรกรและชุมชน เพราะนี่คือหลักประกันการเกิดขึ้นของความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหารของข้าว การสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับมีความเข้มแข็ง มีระบบที่มีความโป่งใสตรวจสอบได้ และเป็นการสร้างเศรษฐกิจบนฐานธรรมาภิบาลและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
3. เครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ในหลายมาตรา ตัวอย่างเช่น
มาตรา 6 สัดส่วนของกรรมการจากผู้แทนองค์กรเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจำนวน 4 คน เป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับกรรมการโดยตำแหน่ง และร่าง พ.ร.บ.มีความสำคัญต่อชาวนาอย่างมากควรต้องมีสัดส่วนองค์กรเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเพิ่มมากขึ้น
มาตรา 21 การจัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศ เนื่องจากเป็นการเป็นการลดพื้นที่ปลูกข้าวของประเทศโดยใช้กฎหมายควบคุมและการกำหนดโซนนิ่งการปลูกข้าวที่วิเคราะห์จากกายภาพและการตลาด ในขณะที่การปลูกข้าวและการเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกของเกษตรกรไม่ได้พิจารณาเพียงแค่กายภาพของพื้นที่หรือการค้าเท่านั้น แต่การปลูกข้าวและการเลือกพันธุ์ข้าวที่ปลูกอยู่บนฐานของวิถีวัฒนธรรม ความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน ระบบนิเวศน์ รสนิยมความชอบของเกษตรกรและครอบครัว ทักษะและความเชี่ยวชาญ และแรงงานในครอบครัว รวมถึงพิธีกรรมความเชื่อ รวมกับข้อจำกัดของหน่วยงานรัฐต่อความรู้และการส่งเสริมข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะพันธุ์พื้นบ้าน การทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศจึงส่งผลต่อความหลากหลายของพันธุ์ข้าวและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาล
มาตรา 27 (27/1-27/4)การตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าวที่ให้อำนาจกรมการข้าวในการตรวจสอบ รับรองพันธุ์ข้าว การประกาศเป็นพันธุ์ข้าวรับรอง การประกาศห้ามจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว การประกาศการตรวจสอบและรับรองพันธุ์ข้าว การเผยแพร่พันธุ์ข้าว รวมทั้งการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว ผลกระทบจากมาตรานี้คือ การรวบอำนาจรวมศูนย์ และทำลายอิสระภาพในการปลูกและพัฒนาพันธุ์ข้าวของเกษตรกรและนักวิชาการ การพัฒนาพันธุกรรมข้าวต้องอยู่บนฐานของความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีวัฒนธรรม การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เกษตรกรและกลุ่มองค์กรเกษตรกรต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวได้ ไม่ใช่การจำกัดด้วยข้อกฎหมายตาม พรบ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 และ พรบ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 เช่นในปัจจุบัน รวมถึง มาตรา 27/1-27/4 ของร่าง พรบ.ข้าว รวมทั้งหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะกรมการข้าวยังมีข้อจำกัดในความรู้และความเชี่ยวชาญต่อพันธุกรรมข้าวพื้นบ้านที่มีอยู่ ขาดศักยภาพในการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ที่เหมาะสมกับปัจจัยและบริบทของเกษตรกร ระบบนิเวศ สุขภาพและรสนิยมของผู้บริโภค รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง มาตรา 27/1-27/4 จึงเป็นข้อจำกัดมากกว่าการส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์ข้าว
มาตรา 32 การลงโทษผู้ไม่อำนายความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการบังคับให้ต้องอำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่แบบไม่มีเงื่อนไข และเป็นการให้อำนาจต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อาจนำไปสู่การประพฤติมิชอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และผู้เกี่ยวข้องได้
และอีกหลายมาตราที่กระทบต่อสิทธิ เสรีภาพ การเลือกปฏิบัติ และการทำลายวิถีวัฒนธรรมของชาวนา รวมถึงการควบคุม ผูกขาด รวบอำนาจไว้ที่หน่วยงานราชการ
พร้อมมีข้อเสนอ คือ
1. ไม่ควรรีบเร่งในการออกกฎหมายที่กระทบกับสังคมวงกว้าง และมีความเห็นข้อเสนอที่ดีจากหลายฝ่าย ควรรับฟังความเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมต่อร่าง พ.ร.บ.จากผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน จึงขอให้สภานิติบัญญัติยชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ข้าว พ.ศ.... โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทำหน้าที่นี้ต่อ
2. พ.ร.บ.ข้าว ต้องกำหนดวัตถุประสงค์การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองและการส่งเสริมวิถีเกษตรกรรมข้าวในระบบการผลิตเชิงนิเวศ เพื่อความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืนให้ชัดเจน โดย
2.1 ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรม และโครงการของเกษตรกรและชุมชนที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง
2.2 เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ให้ยกเว้นข้อจำกัดของพ.ร.บ.พันธุ์พืช 2518 โดยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถขายเมล็ดพันธุ์ข้าวในท้องถิ่นได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
2.3 เพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมให้มีตัวแทนชาวนาหรือองค์กรชาวนาที่อนุรักษ์และฟื้นฟูพันธุ์ข้าวหรือการปลูกข้าวในระบบเกษตรเชิงนิเวศเพิ่มขึ้นในคณะกรรมการข้าว
อย่างไรก็ตาม สนช. เลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า หลังเกิดกระแสท้วงติงจากภาคเกษตรกร-ชาวนา ยืนยันกฎหมายไม่มีโทษปรับหรือจำคุกชาวนา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/