กกต.ตั้งวอร์ลูมตรวจสอบหาเสียงออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง
ผอ.สำนักกฎหมายและคดี กกต. แจงหาเสียงออนไลน์ทำได้ ยึดกติกาการหาเสียงแบบปกติ น้อยกว่าหมื่นบาทไม่ต้องแจ้ง แนะปชช.ระวังการแสดงความคิดเห็น อย่างแชร์-เชียร์ด้วยข้อความสุ่มเสี่ยง ขณะที่อุปนายกเว็บไทย ย้ำพรรคการเมืองอย่าลืมลงพื้นที่หา ปชช.
เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดงานเสวนาจิบน้ำชา ครั้งที่1/2562 หัวข้อ “ชี้ชัด ขอบเขตโฆษณาเลือกตั้งออนไลน์” ที่จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี คณะกรรมการการเลือกตั้ง กล่าวถึงการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งของการหาเสียง ซึ่งพรรคการเมืองสามารถทำได้ตามรูปแบบของการหาเสียงแบบปกติ รวมทั้งการซื้อพื้นที่โฆษณาของสื่อโทรทัศน์ที่มีช่องทางในสื่อออนไลน์ แต่ทั้งนี้หากมีค่าใช้จ่ายจะต้องส่งข้อมูลให้ทาง กกต.รับทราบภายหลังจากการเลือกตั้งภายใน 90 วัน หากค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 10,000 บาท ไม่ต้องแจ้งกับทาง กกต.ในที่นี้รวมถึงค่าใช้จ่ายที่มาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น กลุ่มผู้สนับสนุน หรือ ผู้ทรงอิทธิพล (Influencer)
ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าวว่า ในส่วนของการตรวจสอบการหาเสียงในสื่อออนไลน์ ทางกกต.มีหน่วยงานที่จะคอยสอดส่องการกระทำความผิดตลอด 24 ชั่วโมง การกระทำที่อาจสุ่มเสี่ยงเป็นการทำความผิด เช่น การโพสต์หรือแสดงความคิดเห็นที่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก การกล่าวให้ร้ายกับบุคคลหนึ่งหรือฝ่ายตรงข้าม ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงสมัครหรือประชาชนกระทำ หากทาง กกต.พบเห็นการกระทำดังกล่าว เบื้องต้นจะทำการลบข้อความนั้นทิ้ง หลังจากนั้นจะเป็นการตรวจสอบไปยังผู้กระทำ สาเหตุและเจตนาการกระทำ ต่อไปจึงเป็นการแบ่งประเภทการกระทำความผิด หากเป็นการกล่าวให้ร้าย จะถือเป็นความผิดทางอาญา ฐานหมิ่นประมาท หากเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นการนำข้อมูลที่เป็นเท็จเข้าสู่ระบบ ทั้งนี้ หากมีการสืบสวนแล้วผิดจริง และกรณีที่พบว่า ผู้สมัครรู้เห็นในการกระทำนั้นๆ ทั้งผู้ลงสมัครและผู้รับการว่าจ้างให้ทำจะต้องได้รับความผิดทั้งคู่
“คาดเร็ว ๆ นี้ กกต.จะแถลงความผิด ที่ตรวจพบการใช้สื่อออนไลน์หาเสียง”
ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี กกต. กล่าวอีกว่า ในขั้นต้นกกต.ได้มีการพูดคุยกับทางตัวแทนของสื่อสังคมออนไลน์อย่าง เฟสบุ๊คและไลน์ ซึ่งพร้อมจะให้การสนับสนุนเต็มที่ในการจัดการข้อมูลต่างๆ ที่อาจทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหาได้ โดยเบื้องต้นหากทางระบบพบข้อความดังกล่าว เช่น ข้อมูลที่เป็นเท็จจะทำการลบทิ้ง โดยที่ผ่านมาการกระทำความผิดโดยการแสดงความคิดเห็นหรือโพสต์ข้อความที่เป็นการยุยง ปลุกปั่น ส่วนใหญ่จะมาจากผู้สนับสนุนของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือผู้ไม่หวังดี ไม่ได้มาจากตัวผู้ลงสมัครเอง
“ในวันก่อนการเลือกตั้ง กกต.ใช้มาตรการเดียวกันกับการหาเสียงแบบปกติ คือ ห้ามมีการประชาสัมพันธ์ใดๆหลังเวลา 18.00 น.ซึ่งหลังจากเวลาดังกล่าวประชาชนเองก็คววรที่จะร่วมกันไม่แสดงความเห็นหรือโพสใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งอาจจะเป็นการเข้าข่ายการช่วยพรรคการเมืองนั้นๆหาเสียง”ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าว
ด้าน ดร.อุดมธิปก ไพรเกษตร อุปนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย กล่าวถึงการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์ถือเป็นเรื่องที่ดี ที่พรรคการเมืองใช้ช่องทางนี้เพื่อเข้าถึงประชาชนในยุคปัจจุบัน แต่ประชาชนไทยบางส่วนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงช่องทางออนไลน์ได้ ฉะนั้นแล้ว พรรคการเมืองควรที่จะลงพบปะประชาชนในพื้นที่เองด้วย