อ่านนัยการเมืองผ่านงานวิจัยเพลง‘หนักแผ่นดิน’ ทำไม‘บิ๊กแดง’ให้‘คุณหญิงหน่อย’ฟัง?
“…ประเด็นที่น่าสนใจคือ งานวิจัยของ ศ.ธงชัย ระบุว่า ในบทสนทนาของรายการสดดังกล่าว มีเสียงเพลงหนักแผ่นดิน ดังประกอบตลอดรายการสนทนา ดังนั้นรายการสนทนาดังกล่าวเป็นตัวแทนของบรรยากาศ วาทกรรมและความคิดเห็นของฝ่ายขวาที่มีต่อการปราบปรามนองเลือดเมื่อ 6 ตุลาฯ…”
“ก็ให้ไปฟังเพลงหนักแผ่นดินไง”
เป็นคำตอบจาก ‘บิ๊กแดง’ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ตอบคำถามสื่อกรณีคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวปราศรัยว่าต้องการเสนอนโยบายตัดงบกระทรวงกลาโหม 10% และยกเลิกการเกณฑ์ทหาร
ยิ่งปลุกให้สถานการณ์การเมืองร้อนแรงยิ่งขึ้นไปอีก เกิดการตอบโต้กันสารพัดไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง หรือบรรดาแฟนคลับของทั้งสองฝ่าย
คำถามคือ ทำไม ‘บิ๊กแดง’ ต้องการให้ ‘คุณหญิงหน่อย’ ฟังเพลงดังกล่าว
เพลงหนักแผ่นดิน มีที่มาที่ไปอย่างไร มีนัยทางการเมืองแอบแฝงอย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org เรียบเรียงบทวิเคราะห์จากงานวิจัยต่าง ๆ ดังนี้
ประวัติโดยสังเขปของ เพลงหนักแผ่นดิน ถูกแต่งขึ้นเมื่อปี 2518 ใช้เปิดออกอากาศทางสถานีวิทยุ จ.ส. กรมการสื่อสารทหารบก กองทัพบก โดยใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองกับขบวนการคอมมิวนิสต์ ในช่วงปี 2518-2523 ประพันธ์คำร้องโดย พ.อ.บุญส่ง หักฤทธิ์ศึก และขับร้องโดย ส.อ.อุบล คงสิน และศิริจันทร์ อิศรางกูล ณ อยุธยา ต่อมาใน พ.ศ.2520 ชื่อเพลงนี้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชื่อ ‘หนักแผ่นดิน’ กำกับโดยนายสมบัติ เมทะนี แสดงนำโดยนายสมบัติ เมทะนี และนัยนา ชีวานนท์ (อ่านเนื้อเพลง คลิกที่นี่)
(เพลงหนักแผ่นดิน เวอร์ชั่นต้นฉบับ เมื่อปี 2518 ขับร้องโดย ส.อ.อุบล คงสิน และศิริจันทร์ อิศรางกูล ณ อยุธยา)
สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับบริบทการต่อสู้ทางการเมืองไทยผ่านบทเพลงในอดีต ช่วงทศวรรษการต่อสู้ระหว่างรัฐไทยและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เริ่มต้นกันที่ งานวิจัยผ่านวิทยานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เรื่องวาทกรรมชาตินิยมของรัฐบาลไทย ตั้งแต่ พ.ศ.2475-2550 โดยนางพิมพาภรณ์ บุญประเสริฐ เรียบเรียงลักษณะวาทกรรมชาตินิยมในเพลงปลุกใจ โดยช่วงปี 2517-2519 ระบุว่า เพลงหนักแผ่นดินเป็นหนึ่งในเพลงสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว
โดยสาระเรื่องชาติของเพลงปลุกใจในช่วงเวลาดังกล่าว ปรากฎข้อความที่สะท้อนสาระในเรื่องความรักชาติที่สนับสนุนวาทกรรมชาตินิยมของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น คำร้องในเพลงหนักแผ่นดินได้แสดงแนวคิดที่สนับสนุนวาทกรรมชาตินิยม โดยใช้บทเพลงบอกถึงลักษณะของผู้ที่ได้ชื่อว่าผู้ไม่รักชาติแบบต่าง ๆ และย้ำในท่อนสร้อยเพลงโดยซ้ำคำว่า ‘หนักแผ่นดิน’ ซึ่งในการร้อง ผู้ร้องจะต้องร้องท่อนสร้อยด้วยน้ำเสียงจริงจัง ตอกย้ำพฤติกรรมของผู้ไม่รักชาติว่าเป็นผู้สมควรได้รับการตำหนิ การประณามจากสังคมเป็นบุคคลไร้ค่า แม้มีชีวิตอยู่ไปก็หาประโยชน์อันใดไม่ได้
ซึ่งผู้ไม่รักชาติที่เพลงนี้กล่าวถึงคือผู้มีลักษณะ เช่น คิดทำลายแผ่นดินไทย ดูถูกคนไทย ผู้ไม่รักชาติคือผู้ยุยงให้คนไทยแตกความสามัคคี นับถือชาติอื่นแล้วข่มเหงคนไทยด้วยกัน ผู้ปฏิเสธความเป็นไทย และสนับสนุนให้ลัทธิอื่นเข้ามาแทนที่วิถีไทย (ในช่วงเวลานั้นคือลัทธิคอมมิวนิสต์) ดังนั้นเนื้อหาของเพลงนี้จึงสร้างการรับรู้ให้กับผู้ฟังทั่วไปว่า คนที่มีลักษณะตามเนื้อเพลง ไม่ว่าจะเป็นคนที่เฝ้าคิดทำลายชาติ ดูถูกดูแคลนเพื่อนร่วมชาติ คอยยุยงให้เกิดความแตกแยก หรือชื่นชมยกย่องชาติอื่นเพื่อดูถูกชาติตน รวมถึงนำความลับของชาติไปบอกแก่ศัตรู หรือสนับสนุนลัทธิบางอย่างที่เป็นภัยต่อชาติ จึงถูกมองว่าเป็นคนหนักแผ่นดิน หากประโยชน์อันใดมิได้ ต้องร่วมประณาม
นอกจากนี้ในงานวัจนกรรมในบทเพลงปลุกใจให้รักชาติ ระหว่าง พ.ศ.2510-2550 เขียนโดยอัจฉราพร ใครบุตร และวิไลศักดิ์ กิ่งคำ เผยแพร่ในวารสารมหาวิทยาลัยนครพนมเมื่อปี 2559 โดยระบุว่าเป็นวัจนกรรมการบริภาษที่ผู้พูดต้องการระบายความไม่พึงพอใจต่อการกระทำของพวกที่มีต้องการมุ่งร้ายทำลายชาติ ด้วยพฤติกรรมที่แสดงออกดังตัวอย่างข้างต้น เช่น มัน หรือหนักแผ่นดิน แสดงให้เห็นว่า เนื้อเพลงมีคำบริภาษพฤติกรรมของคนไทย ที่มีการกระทำในลักษณะทำลายชาติบ้านเมืองของตน ดูถูกคนเชื้อชาติเดียวกัน ด้วยคำว่า หนักแผ่นดิน ซ้ำ ๆ กันหลายครั้ง
ขณะที่งานวิจัยชื่อ 6 ตุลาในความทรงจำของฝ่ายขวา 2519-2549 จากชัยชนะสู่ความเงียบ (แต่ยังชนะอยู่ดี) เขียนโดย ศ.ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ชื่อดัง และหนึ่งในอดีตนักศึกษาที่ถูกล้อมปราบในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยบอกเล่าถึงบรรยากาศของชัยชนะของฝ่ายขวา หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ใหม่ ๆ โดยอ้างการออกอากาศรายการสด เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้าวันที่ 6 ตุลาฯ โดย ดร.อุทิศ นาคสวัสดิ์ เป็นพิธีกร สนทนากับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าปฏิบัติการปราบปราม เช่น พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค จากกองปราบปราม (ยศในขณะนั้น) โดยบทสนทนาดังกล่าว เป็นไปอย่างออกรสออกชาติ เห็นได้ชัดว่าทุกคนกำลังฮึกเหิมราวกับนักรบออกศึกที่เพิ่งได้ชัยชนะ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ งานวิจัยของ ศ.ธงชัย ระบุว่า ในบทสนทนาของรายการสดดังกล่าว มีเสียงเพลงหนักแผ่นดิน ดังประกอบตลอดรายการสนทนา ดังนั้นรายการสนทนาดังกล่าวเป็นตัวแทนของบรรยากาศ วาทกรรมและความคิดเห็นของฝ่ายขวาที่มีต่อการปราบปรามนองเลือดเมื่อ 6 ตุลาฯ
อย่างไรก็ดีความหมายทางการเมืองของเพลงหนักแผ่นดิน หรือเพลงปลุกใจรูปแบบอื่นที่ผูกพันกับการเมืองยุคเดือนตุลาฯ และตกทอดต่อมาค่อย ๆ หมดความหมายในแบบเดิมไปกับเส้นแบ่งซ้ายขวาในแบบเดิมเช่นกัน เปิดโอกาสแก่การช่วงชิงความหมายของเพลงเหล่านี้ในแบบอื่น จึงได้ยินเพลงเหล่านี้เคียงคู่กันบทเวทีพันธมิตรฯในปี 2551 ก็เพราะพันธมิตรฯเป็นปรากฎการณ์ของความเปลี่ยนแปลงดังที่กล่าวมา
นี่คือความหมาย-นัยทางการเมืองผ่านบทเพลง ‘หนักแผ่นดิน’ เพลงที่ถูกขุดขึ้นมาพูดถึงอีกครั้ง
ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองล่อแหลม-ร้อนแรงอยู่ตอนนี้!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
ภาพประกอบ : คุณหญิงสุดารัตน์ จาก TV24, พล.อ.อภิรัชต์ จาก BBC Thai