ผอ.สุวรรณภูมิ ชี้ขยายอาคารฝั่งตะวันออก ไร้ประโยชน์ แก้ปัญหาไม่ตรงจุด
ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิ ยันต้องเร่งขยายอาคารผู้โดยสารฝั่งตะวันตกเพราะมีประโยชน์กว่าฝั่งตะวันออก ช่วยเพิ่มพื้นที่ระหว่างประเทศและเพิ่มสายพานกระเป๋าขาเข้า และเร่งเทอร์มินอล 2 เร็วที่สุด ชี้ผู้โดยสารโตเกินคาด
นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีความหนาแน่นอย่างมาก โดยมีผู้โดยสารกว่า 64 ล้านคน/ปี ขณะที่ออกแบบรองรับไว้ 45 ล้านคน/ปี ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่2 ในตำแหน่งด้านทิศเหนือของอาคารเทียบเครื่องบิน A (Concourse A) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้วางแผนจะก่อสร้างเพื่อรองรับเฉพาะผู้โดยสารภายในประเทศ หรือ Domestic Terminal. แต่ปัจจุบัน ปรับเป็นรองรับทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ โดยขีดความสามารถรองรับประมาณ 25-30 ล้านคน/ปี ตามที่ ICAO แนะนำ หรือประมาณ 30% ของผู้โดยสารทั้งหมด ส่วนที่เหลือ ใช้อาคารผู้โดยสารหลังเดิมเป็นหลัก
“เวลานี้ ผู้ให้บริการภายในสนามบิน สายการบินต่างๆ ต้องการเพิ่มพื้นที่อาคารผู้โดยสารทั้งระหว่างประเทศ และในประเทศ โดยเร็ว ล่าสุดผู้โดยสารมีปริมาณสูงสุด 217,000 คน/วัน ช่วงแออัดที่สุด เคยมีผู้โดยสาร4,500 คน/ชม. ตอนนี้ เพิ่มเป็น 5,400 คน/ชม.แล้ว หากการเพิ่มพื้นที่ยิ่งช้า จะยิ่งสูญเสียโอกาสธุรกิจการบินและท่องเที่ยว สูญเสียรายได้ที่จะขับเคลื่อนประเทศ กรณีให้สร้างอาคารผู้โดยสารด้านใต้ รัฐต้องลงทุนอีกมาก และใช้เวลา ในการทำระบบขนส่งเชื่อมโยง ส่วนตัวในฐานะผู้บริหารสนามบิน เห็นว่า จำเป็นต้องมีอาคารหลังที่2 ให้เร็วที่สุด”
***ยันปัญหาตอนนี้ ต้องแก้ไขด้วยการขยายอาคารฝั่งตะวันตก
สำหรับ การก่อสร้างส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันตก (West Expansion Building) มีประโยชน์ต่อสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลานี้มากกว่า การขยายด้านตะวันออก (East Expansion Building) เพราะตอนนี้ มีผู้โดยสารระหว่างประเทศมากกว่า80% หากขยายด้านตะวันออก เท่ากับเพิ่มพื้นที่ผู้โดยสารในประเทศ และรองรับเครื่องบินขนาดเล็กที่บินภายในประเทศ
ขณะที่พื้นที่อาคารเดิมที่เคยรองรับผู้โดยสารภายในประเทศ หากจะใช้รับผู้โดยสารระหว่างประเทศ จะต้องมีการปรัปรุงโครงสร้าง และระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าเพื่อรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
“หากขยายปีกด้านตะวันออก พื้นที่ผู้โดยสารภายในประเทศของอาคารเดิมจะมีปัญหาระบบสายพานกระเป๋าขาเข้าที่รับเครื่องบินใหญ่เพียง 1 ตัวจะมีปัญหากับ พื้นที่คัดแยกสัมภาระ(Sorting Area ) เพราะเดิมออกแบบเป็นอาคารปีกในประเทศและมองภาพรวมผู้โดยสารที่ 60 ล้านคน/ปี โดยมีผู้โดยสาร transfer รอเปลี่ยนเครื่องประมาณ 20% หรือ 15 ล้านคน ซึ่งตรงนี้ อาคารเทียบเครื่องบินรอง (อาคารแซทเทิลไลท์) จะมีประโยชน์ เพราะคิดว่า จะเป็นฮับ แต่ความเป็นจริงประเทศไทยไม่มีผู้โดยสาร transfer ทั้งลำ มีแต่น้อย เพราะผู้โดยสารส่วนใหญ่จะมาลงที่ไทย ไม่ค่อยมีต่อเครื่อง ดังนั้นแผนแม่บทเดิมปี 2546 จะมีแต่สายพานขาออกเท่านั้น ไม่มีสายพานขาเข้า ดังนั้น ผู้โดยสาร 80% ที่เข้ามา ต้องใช้รถ Dolly ขนกระเป๋ามาจากเครื่อง ที่ผู้โดยสารบ่นรอกระเป๋านาน ตรงนี้จะยิ่งช้าไป อีก วันนั้นกับวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีสายพานใหม่ ซึ่งขอทำพร้อมกับการขยายอาคารด้านตะวันตก”
ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า การขยายอาคารด้านตะวันตกในขณะนี้ จะแก้ปัญหาได้ดีกว่า มีโอกาสที่จะให้เครื่องใหญ่ เช่น A380 สามารถจอดเทียบได้พร้อมกัน 10 ลำ นอกจากนี้ การก่อสร้างด้านตะวันตก ไม่มีผลกระทบต่อการให้บริการ
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงมติคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ( บอร์ดสศช.) ที่ให้ทอท.ดำเนินการก่อสร้างอาคารด้านตะวันออกก่อนตามแผนเดิม แล้วนั้น ผอ.สนามบินสุวรรณภูมิกล่าวว่า สภาพัฒน์ จะรู้เรื่องการบินดีกว่า ทอท.ที่เป็นผู้บริหารสนามบินหรือไม่
***ลุ้น สผ. อนุมัติ EHIA รันเวย์ 3 เล็งเปิดประมูลในก.ค.นี้
ส่วนมติบอร์ดสศช.อนุมัติให้ ทอท.ดำเนินการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่3 (รันเวย์3) วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท นั้น ขณะนี้ การออกแบบรันเวย์ที่3 เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างรอการอนุมัติ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งล่าสุด เมื่อเดือนก.พ. คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ได้ประชุมและมีความเห็น ให้ทอท. ทำข้อมูลเพิ่มเติม
ทั้งนี้ คาดว่าจะจัดทำรายละเอียดด้าน EHIA เพิ่มเติม และเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ(สผ.) พิจารณาอนุมัติได้ประมาณเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะสามารถเปิดประมูลได้ ซึ่งแบบเสร็จแล้ว ส่วน ร่างทีโออาร์จะดำเนินการไปคู่ขนาน
โดยทางวิ่งเส้นที่3 (รันเวย์3) วงเงิน 2.2 หมื่นล้านบาท (ค่าก่อสร้าง 1.4 หมื่นล้านบาท ค่าชดเชยไม่เกิน1 หมื่นล้านบาท) เพิ่มขีดรองรับจาก 68 เที่ยวบิน/ชม. เป็น 94 เที่ยวบิน/ชม. โดยใช้เวลาก่อสร้างส่วนของรันเวย์ ประมาณ 1 ปีครึ่ง -2 ปี
ที่มาข่าว:https://m.mgronline.com/business/detail/9620000016717