โกโก้ พืชทางเลือก- อีกหนึ่งทางรอด รักษ์ป่าน่าน
วันนี้น่าน มีวิถีอาชีพบนฐานเกษตร เป็นอาชีพที่ต้องใช้ฐานทรัพยากรที่ดี หากก้าวพ้นต้องเลยไปจากอาชีพบนฐานเกษตร เช่น ฐานของการบริการ การค้า การท่องเที่ยว จึงเป็นเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สูงขึ้น
ในวันที่เจ้าสัวบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการภาคเอกชน ในคณะกรรมการดำเนินงานพื้นที่จังหวัดน่าน การบริหารพื้นที่รูปแบบพิเศษเพื่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน:พื้นที่จังหวัดน่าน แถลงความคืบหน้า โครงการน่านแซนด์บ๊อกซ์ ที่จังหวัดน่าน ถึงการเจรจาตกลงทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชน 99 ตำบล จนได้ "คู่มือผู้นำชุมชน" ซึ่งคือข้อมูลของชุมชน เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ภาคประชาชนร่วมทำงานแก้ไขปัญหาป่าน่านกับภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งได้สัดส่วนการจัดสรรที่ดินป่าสงวนจังหวัดน่าน เพื่อแก้ปัญหาประเด็นสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรให้มีความชอบด้วยกฎหมาย (อ่านประกอบ: น่านแซนด์บ๊อกซ์คืบ "บัณฑูร" โชว์สัดส่วน 72-18-10 ข้อตกลงจัดสรรที่ดินป่าสงวน)
ตอนหนึ่ง เจ้าสัวบัณฑูร ถูกตั้งคำถามถึง พืชชนิดใดคือทางรอดของเกษตรกรที่น่าน ?
“นี่คือโจทย์ใหม่สำหรับทุกคน แต่หลักการ คือ เราไม่รู้คำตอบคืออะไร แต่เรารู้ว่า เราไม่รู้อะไร จึงไปหาองค์ความรู้นั้นๆ มา เช่น พืชประเภทไหน ปลูกในภูมิประเทศแบบนี้ ภูมิอากาศแบบนี้ มีตลอดรองรับอยู่ที่ไหน วิธีการเข้าถึงตลาด” เจ้าสัวบัณฑูร ให้คำตอบสิ่งที่ไม่เคยทำ พร้อมกับมองว่า การปลูกกาแฟตัวเดียว ก็อาจจะไม่รอด ต้องดูปัจจัยอื่นๆ เสริมด้วย
ขณะที่ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย นักวิจัยชุมชนและสังคม กล่าวเสริมถึงเรื่องพืชนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พอจะบอกได้ว่า อะไรเป็นพืชตัวเลือกหากไม่ให้คนน่านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เช่น กลุ่มไม้ผล แต่หัวใจที่จะตัดสิน อยู่ตรงระบบตลาด หากมีคนมารอรับซื้อ มีช่องทาง มีระบบโลจิสติกส์รองรับ พืชชนิดนั้นถึงจะไปได้ เช่น ที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปได้ที่จังหวัดน่าน เพราะระบบโลจิสติกส์
“หากถามว่า ตัวเลือกเป็นอะไรได้บ้าง กาแฟ โกโก้ ซึ่งพอจะทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงหน่อย แต่การจะเปลี่ยนให้เกษตรกรจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปเป็นพืชชนิดอื่น ก็ต้องมีน้ำด้วย วันนี้น่าน มีวิถีอาชีพบนฐานเกษตร เป็นอาชีพที่ต้องใช้ฐานทรัพยากรที่ดี หากก้าวพ้นต้องเลยไปจากอาชีพบนฐานเกษตร เช่น ฐานของการบริการ การค้า การท่องเที่ยว จึงเป็นเป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่สูงขึ้น”
ฉะนั้น ช่วงแรกน่านต้องเปลี่ยนจากเกษตรรายได้ต่ำ เป็นการทำเกษตรที่มีรายได้สูงขึ้น ถึงจะไปรอดได้
พืชยืนต้น ที่ออกลูกทั้งปี อย่าง 'โกโก้' จะใช่พืชทางรอด ของจังหวัดน่านหรือไม่
โกโก้เมืองน่าน
“มนูญ ทนะวัง” ผู้จัดการ บริษัทโกโก้ วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด คนรุ่นใหม่วัย 38 ปี ซึ่งเลือกทิ้งงานประจำกลับมาปลูกโกโก้ที่บ้านเกิด ปีนี้เข้าปีที่ 4 แล้ว
เขาเล่าว่า ช่วงที่กลับมาบ้านได้ถามตัวเองอยากทำอะไร พ่อมีรีสอร์ตเก่าๆ ประกอบกับชอบทานช็อกโกแลต จึงอยากทำอะไรเกี่ยวกับช็อกโกแลต มีคาเฟ่ช็อกโกแลต ขนมช็อกโกแลต จึงจับสิ่งเหล่านี้มาอยู่ด้วยกัน
“ช่วงแรกผมพลิกสวนฝรั่งของพ่อแม่มาปลูกโกโก้ ปลูกแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี และปลูกหลายสายพันธุ์ หลายแปลงมาก เพื่อต้องการจะดูว่า พันธุ์ใดเหมาะกับพื้นที่อ.ปัว จ.น่าน ที่สุด จนพบว่า โกโก้ปลูกในแปลงสวนผลไม้ได้ดี และควรปลูกแบบผสมผสานให้ร่มเงาซึ่งกันและกัน”
“มนูญ” บอกว่า เขาโชคดีที่พ่อกับแม่เป็นชาวสวนมาก่อน ดังนั้นการปลูกโกโก้เกือบไม่ได้ทดลองเลย เพราะพ่อกับแม่รู้ว่า ทำอย่างไรให้โกโก้โตไว ประกอบกับพื้นที่ติดกับแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไหลมาจากต้นน้ำบนภูเขา
“ผมทดลองปลูก 5 แปลงในลักษณะที่แตกต่างกัน พบว่า ต่อให้ปลูกโกโก้พันธุ์เดียวกัน แต่ปลูกต่างพื้นที่ รสชาติโกโก้ก็ต่างกัน มันเหมือนไวน์" ผู้จัดการ บริษัทโกโก้ วัลเล่ย์ กรุ๊ป บอกเล่าจากประสบการณ์ และว่า เป้าหมายต่อไปเขาอยากให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น เพราะโกโก้เป็นพืชที่ออกทั้งปี ดูแลไม่ยาก ไม่มีศัตรูพืช
แม้วันนี้เขาจะไม่สามารถบอกให้เกษตรกรที่น่านปลูกโกโก้ได้ แต่เขาลงมือทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง และทำอย่างครบวงจร
"เราไม่ได้ทำธุรกิจขายต้นกล้า แต่ผมได้ทำให้เห็นว่า พืชชนิดนี้ เป็นไปได้จริงๆ" มนูญ กล่าวย้ำ และว่า เขาอยากให้เกษตรกรสมัครใจปลูกเอง เราไม่ต้องการไปบอกเขาว่า ปลูกเท่านี้ ได้เงินเท่านี้ ให้ทำเพื่อเงิน เพราะหากไม่ได้ตามเป้าหมายทุกคนจะเลิกทันที แต่หากเกษตรเริ่มต้นด้วยการไม่คาดหวัง ปลูกโกโก้แล้วผลผลิตออกทั้งปี ค่อยๆ เก็บไป เขาจะรู้รายได้เป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์มาก
ในมุมมองของ “มนูญ” เห็นว่า โกโก้ตลาดเมืองนอกเป็นสินค้าที่ค่อนข้างกว้างขวาง เห็นได้จาก ช่วงที่เขาไปโชว์สินค้าที่สหรัฐฯ มีลูกค้าสั่งสินค้ามา 200 ตัน แต่ต้องปฏิเสธไป เพราะไม่มีกำลังผลิต
นี่คือการยืนยัน จากคนรุ่นใหม่ที่ลงมือทำจริง โกโก้เป็นสินค้าโกบอล ฉะนั้นตลาดโกโก้เป็นของทั้งโลกไม่ใช่อยู่เพียงประเทศไทยเท่านั้น
“ผมรับซื้อโกโก้อินทรีย์จากชาวบ้านโลละ 10-12 บาท เวลาเกษตรกรมาดูงาน และอยากจะปลูกโกโก้บ้าง ผมแนะนำให้เริ่มต้นปลูก 60-70 ต้นก่อน แล้วค่อยๆ ขยาย เพื่อให้เราเติบโตไปด้วยกัน”
สำหรับ Cocoa Valley Resort และ Cocoa Valley Cafe เรียกว่า from the farm to the cafe “มนูญ” เล่าต่อว่า เขาคิดสูตรขนมที่ร้านเองทั้งหมดนานถึง 8 เดือน เพราะต้องใช้ตัวช็อกโกแลต 100 % ซึ่งไม่มีใครทำกัน เมืองนอกก็ไม่ทำ เพราะมูลค่าสูงมาก แต่ที่นี่ทำเองทั้งหมด ต้นทุนจึงคุมได้
“ขนมเค้กปกติใช้ผงโกโก้จะง่ายกว่า แต่ทางร้านเราใช้น้ำช็อกโกแลต กว่าจะได้แต่ละเมนู เรียกว่า คิดสูตรขนมจนโดนโกงค่าสร้างรีสอร์ตไป 8 แสนบาท”
ผู้จัดการ บริษัทโกก้า วัลเล่ย์ กรุ๊ป ยังให้มุมมองถึงการที่หน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่ ไปส่งเสริมปลูกพืชชนิดต่างๆ ด้วยว่า สุดท้ายชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไรต่อ แตกต่างจากคนพื้นที่ "เช่น ผมเอาโกโก้ไปให้เขา ผมเป็นคนพื้นที่ เราก็ให้ต้นเขาไปฟรีๆ เขาเห็นโกโก้ของผมเป็นความหวังของเขา เนื่องจากเราอยู่ที่นี่ เขารู้ว่าปลูกยังไง ขายที่ไหน แล้วนำไปทำอะไรต่อ”
ก่อนจะทิ้งท้าย “ผมชอบโมเดลโครงการรักษ์ป่าน่านที่เข้าไปทำกับชาวบ้าน ทั้งโมเดลการคุมพื้นที่ หาผลผลิตที่ให้ผลตอบแทนให้เกษตรในพื้นที่จำกัด กระทั่งการต่อยอดพัฒนา แปรรูป และหาตลาดให้ในที่สุด”
ตากแห้งแล้ว
from the farm to the cafe
โกโก้ที่นี่ ทำจากผลสด รสชาดเปรี้ยวและขม ไม่หวาน
ของแท้จะละลายอุณหภูมิร่างกายมนุษย์
มูลค่าตัวไขมันมากกว่าตัวช็อกโกแลต เอาไปทำลิปสติก ตกกก. 1-3 พันบาท
ไขมันโกโก้ ดีที่สุดในตระกูลไขมันพืช และแพงที่สุด
มีสารโพลีฟีนอลล์ (Polyphenols) ต้านอนุมูลอิสระ
วิธีคัดแยกเปลือกโกโก้ ทำด้วยมือ
การฟัดแยกเปลือกโกโก้ สร้างรายได้ให้คนในชุมชน