“ปั่นไปไม่ทิ้งกัน ปี 2” กลุ่มสะพานบุญ ชวนร่วมสมทบทุนสร้าง "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการเชียงดาว"
“ปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2” วันที่ 8 เริ่มปล่อยตัวจากศาลหลักเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เวลา 08.00 น. โดยมี นายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นางสาวอมรรัตน์ วงศ์สารภี ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดสระแก้ว พร้อมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ตัวแทนภาคเอกชน และประชาชน เข้าร่วมพิธีปล่อยขบวนนักปั่นผู้พิการทางสายตาและนักปั่นจิตอาสา จำนวนกว่า 70 ชีวิต เพื่อเดินทางต่อไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ภายใต้ภารกิจระดมทุนสานฝัน "ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียนเชียงดาว "
พิธีปล่อยตัวในช่วงเช้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีกลุ่มชมรมปั่นจักรยานต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว มาร่วมปั่นในโครงการปั่นไปไม่ทิ้งกันด้วย อาทิ กลุ่มปั่นเพื่อสุขภาพอรัญประเทศ ชมรมจักรยานเมืองสระแก้ว ทีมเสือเมืองสระแก้ว เป็นต้นโดยมี นายวิชิต ชาติไพสิฐ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เป็นตัวแทนส่งมอบเงินบริจาคจากธารน้ำใจของชาวจังหวัดสระแก้วเป็นจำนวนเงินกว่า 35,000 บาท (สามหมื่นห้าพันบาท) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ให้แล้วเสร็จ พร้อมเชิญชวนคนไทยทั้งประเทศร่วมกันสมทบทุนกับมูลนิธิสากลเพื่อพิการ เพราะศูนย์แห่งนี้จะเป็นต้นแบบศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้กับผู้พิการ
เส้นทางการปั่นจักรยานของวันที่แปด เริ่มเคลื่อนขบวนจากศาลหลักเมืองสระแก้ว มุ่งหน้าสู่จุดแรกที่โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อำเภอเมือง จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นศูนย์การอบรมกระบือในการทำนา ทำการเกษตร และกิจกรรมต่างๆ ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง คณะนักปั่นได้จอดแวะพักดื่มน้ำ เติมพลังด้วยผลไม้ เช่น แตงโม กล้วยน้ำว้า เครื่องดื่มชูกำลัง ก่อนเดินทางต่อไปยังจุดที่สอง ศาลเจ้าพ่อปรง ริมถนนสุวรรณศร อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี แล้วจึงพักรับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนกบินทร์วิทยา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการส่วนท้องถิ่นและกลุ่มนักปั่นจักรยานในอำเภอกบินทร์บุรีมาคอยต้อนรับ พร้อมมอบเงินบริจาค จากนั้นช่วงบ่ายจึงออกเดินทางปั่นต่อไปจุดที่สี่คือ ปั๊มน้ำมันบางจาก หจก.ส.โชติรัตน์ อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี และจุดที่ห้า ปั๊มน้ำมันปตท.หัวเขาปิโตรเลียม และปลายทางสุดท้ายของวันนี้ที่อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี โดยคาดว่าจะถึงจุดหมายในเวลา 16.30 น.
สำหรับบรรยากาศการปั่นในวันนี้ราบรื่นกว่าเมื่อวาน เป็นถนนตรงยาว ไม่มีเนินสูงชัน แต่สองข้างทางค่อนข้างมีลักษณะภูมิประเทศที่แห้งแล้ง เหล่านักปั่นต้องเผชิญกับอุณหภูมิอันร้อนแรงตลอดช่วงบ่าย ขณะเดียวกัน ทีมนักปั่นพุ่มผ้าป่าจำนวน 30 คน นำโดย ศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ได้จอดแวะตามชุมชนต่างๆ เช่น ตลาดเมืองสระแก้ว ตลาดลำดวน ตลาดกบินทร์บุรี เป็นต้น เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยยอดเงินบริจาคจากช่องทางต่างๆที่ได้รับทั้งสิ้นในขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 4.4 ล้านบาท (สี่ล้านสี่แสนบาท)
นายบัณฑิต โชคสงวน หัวหน้าทีมปั่นพุ่มผ้าป่า หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กลุ่มสะพานบุญ" กล่าวว่า การลงพื้นที่ตามชุมชนและตลาดต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 เป็นวิธีการระดมทุนที่ได้ผลเป็นอย่างดี
"เมื่อนักปั่นจิตอาสากับนักปั่นผู้พิการเดินทางไปย่านชุมชน ตลาดร้านรวงต่างๆ โดยแจกโบชัวร์ประชาสัมพันธ์งานและพูดเชิญชวนผ่านเครื่องขยายเสียง ทำให้ประชาชนสนใจให้การสนับสนุนกันมาก เพราะเขาเห็นถึงความตั้งใจจริงของพวกเรา เขาจึงเชื่อใจ และเต็มใจที่จะบริจาคเงินสมทบทุน อีก 6 วันที่เหลือ เราจะแบ่งกลุ่มเล็กๆ เน้นลงพื้นที่ชุมชนและตลาดมากขึ้น" นายบัณฑิตกล่าว
สำหรับเส้นทางปั่นจักรยานในวันพรุ่งนี้ซึ่งเป็นวันที่ 9 (วันอาทิตย์ที่ 17 ก.พ. 2562) จะเริ่มต้นที่ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีจุดหมายที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ระยะทางทั้งสิ้น 137 กิโลเมตร
โครงการปั่นไปไม่ทิ้งกัน No One Left Behind ปี 2 ถือเป็นครั้งที่สองของประเทศไทย ที่ผู้พิการตาบอดจำนวน 20 ชีวิต ร่วมกับนักปั่นจิตอาสาปั่นนำอีก 20 ชีวิต จะรวมพลังสามัคคีปั่นจักรยานเป็นระยะทางรวมกว่า 1,500 กิโลเมตร 14 วัน 15 จังหวัด ระหว่างวันเสาร์ที่ 9 ก.พ. ถึงวันศุกร์ที่ 22 ก.พ. 2562 โดยเริ่มต้นจากกรุงเทพมหานคร ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี จังหวัดตราด จังหวัดสระแก้ว จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดลพบุรี จังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดนครปฐม เพื่อหาทุนสนับสนุนการก่อสร้าง ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน ที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม ภายใต้ความมุ่งหวังที่จะสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้พิการอย่างยั่งยืน และยังเป็นการสานต่องานที่ “พ่อ” ทำ ด้วยการเปลี่ยน “ภาระ” ให้กลายเป็นอีกหนึ่ง “พลัง” ในการพัฒนาและสร้างสรรค์สังคม.