รังสิตโพลล์เผยคนไทยตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 83% พลังประชารัฐคะแนนเสียงสูงสุด
รังสิตโพลล์เผยคนไทยตื่นตัวใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 83% พลังประชารัฐกวาดไป 8.310 ล้านเสียง รองมา ประชาธิปัตย์ 7.045 ล้านเสียง และ เพื่อไทย 6.532 ล้านเสียง ตามลำดับ
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตได้เปิดเผยผลการสำรวจทัศนคติของประชาชนทั่วประเทศ เรื่องการเลือกตั้งในเดือน มี.ค. 2562 จำนวน 8,000 ตัวอย่าง ใน 350 เขตเลือกตั้ง ทั้งในและนอกเขตเทศบาล ตามโครงสร้างประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ในการเลือกตั้งปี 2562 มีผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 11,182 คน มากกว่าผู้สมัครในปี 2554 ที่มีเพียง 2,422 คน นั่นคือผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นร้อยละ 360 ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมากนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่เรียกว่าระบบการเลือกตั้งสัดส่วนที่ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีความหมายต่อจำนวน ส.ส. เขต และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ดังนั้นจึงเกิดพรรคการเมืองขนาดเล็กเป็นจำนวนมากที่ส่ง ส.ส. เพื่อหวังได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต อย่างไรก็ดีพรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส. มีจำนวนมากมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวของคนไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการเมืองมากขึ้นตามไปด้วย
จากตัวเลขของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มี 51.44 ล้านคนในการสำรวจครั้งนี้พบว่าคนไทยมีความตื่นตัวที่จะไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งสูงถึงร้อยละ 83 ผู้ที่ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ได้ใช้สิทธิค่อนข้างต่ำคือเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น ผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจในการเลือกตั้งอยู่ในร้อยละ 13
ผลการสำรวจโดยใช้การประมาณการว่าจะมีผู้ไปใช้สิทธิ ร้อยละ 75 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด (ราว 38.6 ล้านคน) โดยเลือก 12 พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดตามลำดับ ดังนี้ คือ 1.พลังประชารัฐ 8.310 ล้านเสียง (21.5%) 2.ประชาธิปัตย์ 7.045 ล้านเสียง (18.3%) 3. เพื่อไทย 6.532 ล้านเสียง (16.9%) 4. ภูมิใจไทย 3.153 ล้านเสียง (8.2%) 5. อนาคตใหม่ 2.874 ล้านเสียง (7.4%) 6. รวมพลังประชาชาติไทย 2.216 ล้านเสียง( 5.7%) 7. เสรีรวมไทย 2.150 ล้านเสียง (5.6%) 8. ชาติไทยพัฒนา 1.626 ล้านเสียง (4.2%) 9. เพื่อชาติ 1.317 ล้านเสียง (3.4%) 10. ชาติพัฒนา 1.215 ล้านเสียง (2.19%) 11. ประชาชาติ 0.989ล้านเสียง (2.6%) 12. ไทยรักษาชาติ 0.887 ล้านเสียง (2.3%)
จากข้อมูลข้างต้นนี้ ผู้สำรวจใคร่ตั้งข้อสังเกตว่า
1. คะแนนที่ปรากฏนี้เป็นเพียงแนวโน้มไม่ใช่คะแนนเสียงจริง คะแนนจริงจะทราบได้ในราวสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
2. คะแนนความนิยมรวมอาจจะแตกต่างจากจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดที่ได้รับเลือกตั้งได้ นั่นคือพรรคที่ได้คะแนนนิยมสูงสุดอาจไม่ได้ ส.ส. เขตมากที่สุด
3.พรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ไม่ครบ 350 เขต จะเสียเปรียบพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส. ครบทุกเขตในแง่ของการนับคะแนนและจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ เว้นแต่พรรคการเมืองนั้นจะสามารถชนะ ส.ส. เขตเลือกตั้งได้อย่างเป็นกแบเป็นกำ ตัวอย่างเช่นพรรคเพื่อไทยที่ส่ง ส.ส. เพียง 350 เขต เพราะต้องการแบ่งพื้นที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคให้แก่พรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คะแนนเสียงรวมของเพื่อไทยมาเป็นอันดับ
ที่ 3
4. ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ทำให้พรรคที่ได้คะแนนรวมสูงคือ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และเพื่อไทย อาจได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อย หรือไม่ได้เลย แต่พรรคที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า คือ ภูมิใจไทย อนาคตใหม่ รวมพลังประชาติไทยและพรรคที่เหลือทั้งหมดจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะอาจมี ส.ส. บัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส. เขต
5. เนื่องจากการสำรวจทำกับ 12 พรรคการเมืองที่น่าจะได้คะแนนนิยมสูงสุดในการเลือกตั้งครั้งนี้เท่านั้น อย่างไรก็ดีน่าจะมีพรรคขนาดเล็กอีกจำนวนหนึ่งที่น่าจะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อต่ำกว่า10 คน ลงมาอีกหลายพรรค และ
6. ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคค่อนข้างแน่นอน ถ้าพลังประชารัฐหรือประชาธิปัตย์เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่เข้าร่วมน่าจะเป็นภูมิใจไทย รวมพลังประชาชาติไทย ชาติไทยพัฒนา และชาติพัฒนา หากมีการเลือกตั้งวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีเสียงรวมกันมากกว่า 300 เสียง แต่ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่จะเข้าร่วมได้แก่ อนาคตใหม่ เสรีรวมไทย เพื่อชาติ ประชาชาติและอนาคตใหม่ อย่างไรก็ดี พรรคภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนาอาจกลายเป็นตัวแปรทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งที่จะเสริมความเข้มแข็งให้แก่รัฐบาลชุดใหม่ หากมีการเลือกตั้งจริงในวันที่ 11 ก.พ. ที่ผ่านมาและเพื่อไทยเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะมีเสียงมากกว่า 200 เสียง และหากมี 3 พรรคหลังเข้าร่วมจะมีเสียงรวมกัน 270 เสียง แต่ถ้า 3 พรรคหลังไม่เข้าร่วมกัน พรรคเพื่อไทยจะจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ เพราะจะมีเสียงประมาณ 200 เสียงเท่านั้น ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพพอ
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก สยามพับลิค