‘สภากาชาดไทย’ สานต่อหนังสั้นรณรงค์บริจาคดวงตา “#คนตายไม่น่ากลัว”
ศูนย์ดวงตาและศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ผนึกกำลังกับเครือซีพี และ ทรู คอร์ปอเรชั่น สานต่อโครงการ Let Them See Love 2019 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 ภายใต้แนวคิด“#คนตายไม่น่ากลัว” กำกับโดย โต้ง บรรจง ครั้งแรกกับการกำกับหนังผีที่ไม่น่ากลัว “6 บทสนทนาสัพเพเหระต่อหน้าศพ” เพื่อกระตุ้นให้มองเห็นโอกาสในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ดวงตาและศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย ร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดแถลงข่าวสานต่อโครงการ Let Them See Love 2019 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้นชุดใหม่ “6 บทสนทนาสัพเพเหระต่อหน้าศพ” ภายใต้แนวคิด “#คนตายไม่น่ากลัว” กำกับโดย โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล เพื่อร่วมรณรงค์สร้างการรับรู้และย้ำเตือนคนรุ่นใหม่และบุคคลทั่วไปให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคดวงตาและอวัยวะ โดยสื่อสารผ่านหนังผีที่ไม่น่ากลัว พร้อมสื่อให้เห็นถึงโอกาสของการใช้ชีวิตใหม่ ณ โรงภาพยนตร์เอสพลานาด ซีนีแพล็กซ์ รัชดาภิเษก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงลลิตา ปริยกนก ผู้อำนวยการศูนย์ดวงตา สภากาชาดไทย กล่าวว่า จากสถิติในปี 2561 พบว่าผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนกระจกตามีมากถึง 12,221 ราย แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมาศูนย์ดวงตากลับได้รับการบริจาคดวงตาจากผู้เสียชีวิตเพียง 1,001 ดวง เท่านั้น และมีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาเพียง 889 ราย สืบเนื่องจากจัดเก็บดวงตาได้น้อย อีกทั้งญาติผู้เสียชีวิตไม่แจ้งให้ศูย์ดวงตาทราบ หรือบางรายแจ้งล่าช้าเกินกว่าเวลา 6 ชั่วโมงหลังการเสียชีวิต
“สำหรับปีนี้ เชื่อมั่นว่าด้วยแนวคิดการจัดทำหนังโฆษณาในรูปแบบใหม่ ภายใต้แนวคิด “#คนตายไม่น่ากลัว” จะช่วยดึงดูดความสนใจของคนรุ่นใหม่และคนทั่วไปให้ตระหนักถึงปัญหานี้มากขึ้น เพราะการบริจาคดวงตาและอวัยวะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ถือเป็นการทำบุญสูงสุดของชีวิต” ผู้อำนวยการศูนย์ดวงตา กล่าว
ด้าน นายแพทย์วิศิษฎ์ ฐิตวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอการปลูกถ่ายอวัยวะมากถึง 6,401 ราย แต่ในปี 2561 ที่ผ่านมาศูนย์รับบริจาคอวัยวะได้รับการบริจาคจากผู้ป่วยสมองตายเพียง 261 ราย เท่านั้น และนำอวัยวะไปปลูกถ่ายช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ทั้งสิ้น 582 ราย ลิ้นหัวใจ 74 ราย และผิวหนังอีก 33 ราย (โดยในคนไข้ 33 ราย ใช้ทำผิวหนังผ่าตัดรักษาแผลให้คนไข้ไปทั้งสิ้น 50 ครั้ง)
ทั้งนี้ อวัยวะที่จะนำมาปลูกถ่ายให้แก่ผู้ป่วยต้องเป็นอวัยวะที่มาจากผู้เสียชีวิตด้วยภาวะสมองตาย ซึ่งเป็นภาวะเดียวที่ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้วแต่อวัยวะสำคัญยังมีสภาพดี คือ มีเลือดไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทำให้สามารถนำไปช่วยชีวิตผู้อื่นได้ ขณะเดียวกัน ต้องได้รับความยินยอมจากญาติผู้เสียชีวิตด้วย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารกับญาติผู้เสียชีวิตให้เห็นถึงความสำคัญของการให้ที่ยิ่งใหญ่
“สิ่งที่ยังเป็นอุปสรรคในขณะนี้ คือ 1.ญาติผู้ป่วยบางรายไม่เชื่อว่า ผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยภาวะสมองตายเนื่องจากหัวใจยังไม่หยุดเต้น 2.วัฒนธรรมทางตะวันออกมีความเชื่อว่า หากบริจาคอวัยวะไปแล้วเกิดชาติหน้าจะมีอวัยวะไม่ครบสามสิบสอง 3.เมื่อมีอวัยวะที่เยอะขึ้น บุคลากรกลับไม่พร้อมจะผ่าตัดเนื่องด้วยระยะทางและเวลาที่มีจำกัด ซึ่งปัญหาดังกล่าวกำลังทำการแก้ไขอยู่” ผู้อำนวยการศูนย์รับบริจาคอวัยวะ กล่าว
ขณะที่ นางรุ่งฟ้า เกียรติพจน์ ผู้บริหารฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน โครงการพิเศษ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และผู้ช่วยบริหารงานประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือเจริญโภคภัณฑ์ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับค่านิยม 3 ประโยชน์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางของสหประชาชาติ (United Nations) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals - SDGs) ในด้านส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะที่ดี (Good Health & Well-being) และการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเพื่อหล่อเลี้ยงสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืน (Partnerships for the Goals) จึงเชื่อมั่นว่าโครงการ Let Them See Love จะประสบความสำเร็จมากกว่าปีก่อน และสามารถสร้างการรับรู้ในสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะและดวงตามากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดตัวด้วยไอเดียสุดแหวกแนวด้วยการทำภาพยนตร์สั้นชุดใหม่ “6 บทสนทนาสัพเพเหระต่อหน้าศพ” ร่วมสร้างสรรค์โดยผู้กำกับชื่อดัง โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล (ผู้กำกับพี่มากพระโขนง, ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ และห้าแพร่ง) โดยหนังผีเรื่องนี้จะเป็นหนังผีเรื่องแรกที่ไม่น่ากลัว และไว้วางใจให้บริษัท มานะ แอนด์ แฟรนด์จำกัด โดยนายกิตติ ไชยพร ผู้ก่อตั้ง ร่วมกันเป็นผู้สร้างสรรค์และนำเสนอผลงานภายใต้แนวคิด “#คนตายไม่น่ากลัว” เพื่อต้องการกระตุ้นให้ญาติและคนรอบตัวผู้เสียชีวิตนึกถึงเรื่องการบริจาคดวงตาและอวัยวะเป็นอันดับต้นๆ
นายบรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับภาพยนตร์ เปิดเผยถึงแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ว่า ปัญหาของการบริจาคดวงตา คือ ถึงแม้ว่าคุณอยากบริจาคแต่ในวันที่คุณเกิดเสียชีวิตไปแล้วกลับกลายเป็นว่าญาติไม่ยอม จึงมองว่านี่คือปัญหาใหญ่ และจะเกิดอะไรขึ้นหากได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วเปลี่ยนความคิดว่าเวลาที่มีคนเสียชีวิตแทนที่จะนึกถึงความน่ากลัว อยากให้นึกถึงโอกาสของการให้มากกว่า ซึ่งโอกาสในที่นี้หมายถึงโอกาสในการมองเห็น เพื่อที่จะสื่อสารว่าคนตายไม่น่ากลัว เท่ากับคนที่มีชีวิตอยู่แล้วมองไม่เห็น และเมื่อคุณดูหนังสั้นเรื่องนี้จบคาดหวังว่าเมื่อคุณเห็นคนตาย คุณจะเห็นโอกาสที่จะได้บอกบุญเป็นครั้งสุดท้ายให้กับญาติผู้เสียชีวิต และเห็นโอกาสในการช่วยเหลือคนที่กำลังจะตาบอดให้กลับมามองเห็นอีกครั้ง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/