ผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2561
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยผลการดำเนินงานของระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2561 ว่าสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อน สอดคล้องกับทิศทางของเศรษฐกิจ ด้านคุณภาพสินเชื่อค่อนข้างทรงตัวส่วนหนึ่งเป็นผลจากการบริหารคุณภาพพอร์ตสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ขณะที่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นและค่าใช้จ่ายการกันสำรองที่ลดลง ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพโดยมีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.4 ในปีก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง โดยการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นมาจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคในทุกพอร์ตซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดี และสินเชื่อธุรกิจในหลายประเภทที่ส่วนใหญ่มาจากการใช้สินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่และ SME ที่วงเงินค่อนข้างสูง แม้ว่าธุรกิจขนาดใหญ่บางส่วนจะมีการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มขึ้น
สินเชื่อธุรกิจ (ร้อยละ 65.9 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 4.4 โดยสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากสินเชื่อภาคบริการในธุรกิจที่พักแรม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากลูกหนี้บางรายที่ซื้อกิจการเครือโรงแรมในต่างประเทศ ประกอบกับการขยายตัวของสินเชื่อในภาคพาณิชย์ และภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก สำหรับสินเชื่อธุรกิจ SME (ไม่รวมธุรกิจการเงิน) ขยายตัวร้อยละ 4.5 โดยยังขยายตัวดีในธุรกิจพลังงาน อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง ส่วนใหญ่จาก SME ที่มีวงเงินสินเชื่อสูง
สินเชื่ออุปโภคบริโภค (ร้อยละ 34.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนในทุกพอร์ตมาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 โดยหลักจาก 1) สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ก่อนมาตรการ Loan To Value (LTV) จะบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2562 2) สินเชื่อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น หลังสิ้นสุดระยะเวลาถือครอง 5 ปีของมาตรการรถยนต์คันแรก และ 3) สินเชื่อส่วนบุคคลทุกประเภท อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีบ้านเป็นหลักประกัน สินเชื่อทะเบียนรถ และสินเชื่อสวัสดิการ
คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นปี 2561 สัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan: NPL) ต่อสินเชื่อรวม อยู่ที่ร้อยละ 2.93 ใกล้เคียงกับปีก่อนที่ร้อยละ 2.91 โดยมียอดคงค้าง NPL อยู่ที่ 443 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 14 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงต่อเนื่องมาตั้งแต่สิ้นปี 2559 สะท้อนภาพรวมคุณภาพสินเชื่อที่เริ่มทรงตัว แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างหนี้และการตัดหนี้สูญ สำหรับสัดส่วนสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ต่อสินเชื่อรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.42 จากร้อยละ 2.55 ในปีก่อน โดยมียอดคงค้างทั้งสิ้น 366 พันล้านบาท
ทั้งนี้ ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองอยู่ในระดับสูงที่ 668 พันล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 67 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 193.3
ในปี 2561 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรสุทธิ 207.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.8 จากปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยตามสินเชื่อที่ขยายตัว และการลดลงของค่าใช้จ่ายการกันสำรอง แม้ว่ารายได้ค่าธรรมเนียมชะลอตัวลงเนื่องจากการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลซึ่งมีการยกเว้นค่าธรรมเนียมเร่งตัวขึ้น ประกอบกับรายได้ค่านายหน้าจากธุรกิจประกันและกองทุนรวมลดลง ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย(Return on Asset : ROA) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.11 จากร้อยละ 1.04 ในปีก่อน ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยเฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) ทรงตัวที่ร้อยละ 2.73
ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,569 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 117 พันล้านบาท โดยเป็นผลจากการจัดสรรกำไรเข้าเป็นเงินกองทุนเป็นสำคัญ ส่งผลให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1 ratio) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 18.3 และ 15.8 ตามลำดับ