สมาคมสิทธิฯ ค้านการกักตัวนักกิจกรรมต่างชาติเพื่อซักถามส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์
สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน ออกแถลงการณ์คัดค้านการกักตัวนักวิชาการและนักกิจกรรมชาวต่างชาติ เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยเพื่อซักถามของรัฐ ส่อคุกคาม ส่งผลกระทบทางลบ
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2562 ดร.แอนดรูว์ จอห์นสัน อาจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยปรินซ์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เขียนข้อความลงในทวิตเตอร์ว่า เขาถูกกักตัวโดยเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย(เจ้าหน้าที่ ตม.) เอาไว้ชั่วคราวระหว่างกำลังจะเดินทางออกจากประเทศไทย เจ้าหน้าที่บอกกับเขาว่า มีรายชื่อของนักวิชาการจำนวนราว 30 คนที่ทางการไทยต้องการทราบว่าพวกเขาไปพูดคุยกับใครและไปที่ไหนมาบ้าง และจากการตรวจสอบจากเพื่อน ดร.แอนดรูว์เชื่อว่ารายชื่อดังกล่าวมาจากการร่วมลงชื่อคัดค้านการดำเนินคดีกับนักวิชาการในเวทีนำเสนองานทางวิชาการในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 หรือที่รู้จักกันในเหตุการณ์ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” แม้คดีจะถูกยกฟ้องไปเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 แล้วแต่รายชื่อที่ทางการไทยขึ้นบัญชีดำไว้ก็ยังคงอยู่
สำหรับคดีเวทีวิชาการไทยศึกษา ศาลเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการ นักกิจกรรม และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่เชียงใหม่ ในความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 แต่ระหว่างการพิจารณาคดีนี้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 22/2561 ออกมาให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่โจทก์นำมาฟ้องแล้ว การกระทำจึงไม่เป็นความผิด จึงมีเหตุยกฟ้อง แต่ศาลยังรับรองไว้ด้วยว่า สำหรับการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไป โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนหน้านั้น ย่อมไม่ถูกกระทบกระเทือนให้เป็นอันเสียไป หรือกลายเป็นอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ข้อ 2 ทั้งนี้ ในข้อ 2 ของคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 22/2561 ระบุไว้ว่า “การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้”
จากการตรวจสอบของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) การกักตัวชาวต่างประเทศเพื่อ “สอบถาม” มิใช่เกิดขึ้นกับ ดร.แอนดรูว์เท่านั้น ก่อนหน้านั้นมีชาวต่างประเทศหลายคนได้ถูกกักตัวและซักถามทุกครั้งที่เดินทางเข้าและออกประเทศไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ ตม.ที่เกี่ยวข้องแจ้งให้ทราบว่าจำเป็นต้องทำแม้จะมีความลำบากใจและได้พยายามทำอย่างสุภาพที่สุด แต่ที่ต้องทำเพราะเป็นคำสั่งจากฝ่ายความมั่นคงของไทย ให้จับตานักวิชาการและนักกิจกรรมที่อยู่ใน “บัญชีจับตามมอง” หรือ “Watch List”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ดร. แอนดรูว์ จอนห์สันนักวิชาการ และนักกิจกรรมชาวต่างประเทศอื่น ๆ จึงเป็นตัวบ่งชี้ว่า รัฐไทยในยุคที่ คสช. มีอำนาจเต็มในการปกครองบ้านเมืองยังคงมีนโยบายจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ไม่เว้นกระทั่งนักวิชาการต่างชาติที่เข้ามาทำการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ซึ่งนโยบายและปฏิบัติการของทางการไทยดังกล่าว มีลักษณะเป็นการคุกคามผู้ที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล คสช. ซึ่งจะมีผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่เป็นลบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก
อนึ่ง ในช่วง 4 ปี 8 เดือน หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 คสช. ได้แสดงบทบาทอันเป็นการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ชุดความรู้ ความเชื่อ ความจริงที่นักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยแสดงออกทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยที่แตกต่างจากรัฐ กลายเป็น "สิ่งต้องห้าม" สำหรับสังคมไทย นักวิชาการและนักวิจารณ์ถูกเรียกไปรายงานตัว กักตัว ปรับทัศนคติ ทำให้มีคดีติดตัว การล้มกิจกรรมที่มีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฏฐาธิปัตย์ แม้ในระยะหลังการใช้ "อำนาจดิบ" จะลดลง แต่ปฏิบัติการสอดส่องยังดำรงอยู่ บรรยากาศแห่งความกลัวยังปกคลุมรอบตัว เสรีภาพทางวิชาการถดถอยลง กิจกรรมทางวิชาการหลายกิจกรรมที่นักวิชาการตั้งใจจะจัด แต่ไม่สามารถจัดได้เพราะไม่ได้รับอนุญาต
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) จึงขอแสดงจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยกับการคงไว้ซึ่งนโยบาย มาตรการ และปฏิบัติการต่าง ๆ ของ คสช. ทุกรูปแบบ ที่ดำเนินการผ่านกลไกของรัฐ ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพทางวิชาการ เพราะทำให้เกิดภาพลักษณ์เชิงลบที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศไทยในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังก้าวสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 สสส. จึงมีข้อเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ดังต่อไปนี้
1. มีคำสั่งไปยังทุกหน่วยงานให้ยกเลิกการดำเนินการใด ๆ ที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งนักวิชาการ ในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก หรือการยื่นข้อเสนอให้รัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในทุกกรณี ทั้งนี้เป็นการสร้างบรรยากาศประชาธิปไตยในระหว่างการรณรงค์ หาเสียงเลือกตั้ง รวมทั้งยกเลิกนโยบายและการปฏิบัติที่มีการกักตัวและ “สอบถาม” ชาวต่างชาติในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประเทศไทยโดยภาพรวม
2. สั่งการไปยังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูล และประสานงานกับศาลในการปฏิบัติโดยเคารพสิทธิเสรีภาพของชาวต่างประเทศที่ไม่มีคดีติดตัว แต่ถูกนำมาขึ้นบัญชีดำ หรือบัญชีจับตามอง เพราะเหตุทีเป็นผู้เคยทำกิจกรรมทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การประชุมสัมมนา การศึกษาวิจัย การทำบันทึกข้อตกลงทางวิชาการ ฯลฯ โดยขอลบล้างบัญชีดำ หรือบัญชีจับตามองเสีย และให้ปฏิบัติต่อบุคคลกลุ่มนี้ที่เดินทางเข้า – ออก ประเทศไทยด้วยการให้เกียรติ และมีความความสุภาพ
3. ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ต้องส่งเสริมให้ประชาชน นักวิชาการ พรรคการเมือง ได้แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอทางออกในการแก้ปัญหาของประเทศไทยได้อย่างเสรี ไม่จำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และไม่ใช้อำนาจในการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองที่ประกาศอย่างชัดเจนที่จะสนับสนุนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ทั้งนี้ เพื่อทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ผลการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย