เปิดเหตุผลยื้อต่ออายุ ‘พาราควอต’ รอประกาศฯ 5 ฉบับ กำหนดเงื่อนไข ก่อนแบนถาวร
เปิดหนังสือ ‘กรมวิชาการเกษตร’ ถึงคกก.วัตถุอันตราย สรุปความก้าวหน้ามาตรการจำกัดใช้สารเคมีอันตราย 3 ชนิด ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส-ไกลโฟเซต’ เหตุผลยื้อต่ออายุ -เร่งพิจารณาออกประกาศฯ 5 ฉบับ กำหนดเงื่อนไข ก่อนแบนถาวร
ยังคงยื้อเวลาต่อไปอย่างน้อยอีก 2 ปี!!!
สำหรับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 ยืนยันมติเดิมไม่ยกเลิกนำเข้าและใช้สารเคมีเกษตร ‘พาราควอต’ โดยอ้างว่า ปัจจุบันยังไม่มีสารหรือมาตรการทดแทน ดังนั้น จึงสั่งให้กรมวิชาการเกษตร เร่งดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง คาดว่าภายในปี 2563 หรือ 2 ปีหลังจากนี้ จะยกเลิกได้ถาวร
นั่นจึงทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคม นำโดยเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ออกแถลงการณ์ในเย็นวันเดียวกัน แสดงความผิดหวังและเศร้าสลดที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายไม่มีมติตามข้อเรียกร้อง ทั้งที่กว่า 50 ประเทศทั่วโลก ต่างเลิกใช้แล้ว
นำไปสู่การตั้งคำถามกับ ‘กรมวิชาการเกษตร’ ว่าตลอดเกือบ 1 ปี นับตั้งแต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่เสนอโดยกรมวิชาการเกษตร เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 ได้ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า กรมวิชาการเกษตร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ กษ0933/789 ถึงประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย สรุปความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิด 5 มาตรการ ได้แก่
1.กรมวิชาการเกษตรได้เสนอร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ฉบับ ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งต่อมาคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพิ่งมีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2562 และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎกระทรวงและประกาศกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กำลังพิจารณาร่างประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดังกล่าว
2.กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการจำกัดปริมาณการนำเข้าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 โดยสามารถลดการนำเข้า สารพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ในปี 2562 ได้เท่ากับ 21,709 ตัน 45,501 ตัน และ 1,178 ตัน ตามลำดับ ซึ่งลดลงจากสถิติเฉลี่ยการนำเข้า ปี 2557 ถึง 2559 คิดเป็นร้อยละ 25 (พาราควอตและไกลโฟเซต) และร้อยละ 55 ตามลำดับ
3.จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารพาราควอต ผ่านช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ของกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง Youtube และ Facebook ซึ่งได้เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับการใช้สารพาราควอตเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้ได้จัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารไกลโฟเซต และสารคลอร์ไพริฟอส ที่ถูกต้องเพื่อเผยแพร่ต่อไป
4.กรมวิชาการเกษตรได้จัดอบรมให้ความรู้โครงการนำร่องทดสอบหลักสูตร ผู้พ่นสาร พาราควอตเพื่อกำจัดวัชพืชในมันสำปะหลังและอ้อยในจังหวัดนครราชสีมาและนครปฐมแล้ว รวมทั้งสิ้น 100 คน
5.จัดทำโครงการวิจัยเพื่อลดการใช้สารเคมีและหาวิธีการทดแทนการใช้สารเคมี รวมทั้งศึกษา ผลกระทบของสารที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ผู้ผลิต และผู้บริโภค ซึ่งได้เสนอขอรับทุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนา การวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2562 รวมระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
ทั้งนี้ เพื่อให้การประกาศยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด นั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกษตรกรมีเวลาปรับตัวในการลด ละ และเลิกใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด จึงขอให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายเร่งรัดการพิจารณาออกประกาศตาม พ.ร.บ. 5 ฉบับ ดังกล่าวข้างต้นเพื่อกำหนดเงื่อนไขการใช้สารเคมีดังกล่าวคือ
- การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ใช้ ผู้จำหน่าย ผู้ให้บริการพ่นสารเคมีจะต้องผ่านการอบรมก่อน รวมทั้งกำหนดให้มีการปิดฉลากที่เห็นได้ชัดเจนบนบรรจุภัณฑ์ของวัตถุอันตราย ทั้ง 3 ชนิดที่สื่อความหมายว่าสารเคมีดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิตมนุษย์
- การประกาศเขตห้ามใช้/ครอบครอง/จำหน่ายสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ในพื้นที่ต้นน้ำตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
กรมวิชาการเกษตร ยังย้ำว่า จะควบคุมการนำเข้าวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด อย่างต่อเนื่องตามแผนดำเนินการที่กำหนดไว้ในปี 2562 และในปีต่อ ๆ ไป ด้วย
นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานในการประชุมฯ เผยว่า ถ้ายังไม่มีสารหรือมาตรการทดแทนจะไม่สามารถยกเลิกนำเข้าและใช้พาราควอตได้ แต่คิดว่า เมื่อครบ 2 ปี แล้วยังไม่มี อาจต้องมาประเมินกันใหม่
พร้อมกันนี้ยังขึ้นอยู่กับประกาศกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ 5 ฉบับ จะเเล้วเสร็จตามที่กรมวิชาการเกษตรเสนอเข้ามาหรือไม่ด้วย
ส่วนหลังจากนี้จะชี้แจงกับผู้ตรวจการแผ่นดิน “โดยในระเบียบวิธีปฏิบัติจะเชิญไปให้อธิบายว่า มีขั้นตอนอย่างไร เหตุใดจึงไม่เห็นด้วยกับผู้ตรวจการแผ่นดิน และยกเลิกภายใน 1 ปีไม่ได้ เพราะเหตุใด”
..........................................................
จึงตีความได้ว่า การยกเลิกนำเข้าเเละใช้พาราควอตจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีการประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทั้ง 5 ฉบับ เพื่อบังคับใช้ตามกฎหมาย เเละมีสารหรือมาตรการทดเเทนออกมา คราวนี้ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการพิจารณาฯ เเล้วว่าจะเร่งทำหน้าที่ เเละคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะไม่อาศัยจังหวะยื้อเวลา อุ้มกลุ่มผลประโยชน์อีกครั้ง? เนื่องจากยิ่งนานวัน สุขภาพของคนไทยจะยิ่งถดถอยลงไปทุกที .
อ่านประกอบ:มติคกก.วัตถุอันตราย ไม่เเบน 'พาราควอต' สั่งกรมวิชาการเกษตรหามาตรการทดเเทน-คาดเลิกถาวรใน 2 ปี
686 องค์กร แถลงผิดหวังมติไม่แบนพาราควอต ลั่นเดินหน้าหนุนผู้ตรวจการฯ ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/