“กสม.” ขอให้ “สตช.” ทบทวนแก้ไขระเบียบเปิดเผยประวัติอาชญากรรมเด็กและเยาวชน
“กสม.” ขอให้ “สตช.” ทบทวนแก้ไขระเบียบการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน ย้ำต้องคุ้มครองสิทธิเด็กตามกฎหมาย-พันธกรณีสากล เอื้อบาปบริสุทธิ์กลับคืนสู่สังคม
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2562 นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะที่ 4/2560 เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็กในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา กรณีการเปิดเผยประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เมื่อเดือนสิงหาคม 2560 เพื่อให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2557 โดยให้คัดแยกประวัติการกระทำผิดของเด็กและเยาวชนและบัญชีทะเบียนประวัติของเด็กและเยาวชนไว้ในหมวดใดหมวดหนึ่งโดยเฉพาะ แยกจากกรณีการกระทำความผิดของบุคคลทั่วไป รวมทั้งขอให้กำชับหน่วยงานในสังกัดในการพิจารณาอนุญาตให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน
นายวัส กล่าวว่า แม้ว่า สตช. จะได้เร่งดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติฯ ตามข้อเสนอแนะที่ 4/2560 ของ กสม. ข้างต้นแล้วก็ตาม แต่ กสม. เห็นว่าเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันอย่างเคร่งครัดว่าจะไม่มีการเปิดเผยหรือนำประวัติการกระทำผิดอาญาของเด็กหรือเยาวชนไปพิจารณาให้เป็นผลร้ายหรือเป็นการเลือกปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมแก่เด็กหรือเยาวชนไม่ว่าในทางใด ๆ ตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 กสม. จึงมีมติให้ สตช. ทบทวนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยประมวลระเบียบการตำรวจไม่เกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 32 การพิมพ์ลายนิ้วมือ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ดังนี้
1. ให้แก้ไขระเบียบฯ บทที่ 4 การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และรายการประวัติ หรือบัญชีประวัติ ข้อ 1.11 ให้ระบุเพียง “คดีอาญาที่มีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิด” โดยไม่ต้องระบุว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขคุมความประพฤติเช่นใด เพื่อคัดแยกประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชนในทุกกรณีออกจากทะเบียนประวัติอาชญากรรม ไม่ว่าศาลจะมีคำพิพากษาเช่นใด
2. ให้แก้ไขระเบียบฯ บทที่ 4 การคัดแยกและทำลายแผ่นพิมพ์ลายนิ้วมือ และรายการประวัติ หรือบัญชีประวัติ ข้อ 4 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในทางราชการให้กองทะเบียนประวัติอาชญากรนำข้อมูลที่คัดแยกออกจากสารบบหรือฐานข้อมูลประวัติอาชญากรไปแล้ว มาตรวจสอบรายการประวัติหรือบัญชีประวัติของบุคคลได้ ในกรณีต่าง ๆ โดยหลักเกณฑ์ข้อ 4.3 ระบุว่า “กรณีอื่น ๆ ตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอนุญาตให้ตรวจสอบได้ เช่น เพื่อประโยชน์ในการศึกษา ค้นคว้า วิจัยทางวิชาการ ทางอาชญาวิทยา ทางการแพทย์ โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่าเป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับบุคคลใด รวมถึงกรณีที่มีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบโดยมีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่งและผู้มีประวัติยินยอมเป็นหนังสือ” โดยให้เพิ่มข้อความ “ซึ่งไม่ใช่การกระทำความผิดของเด็กและเยาวชน” ต่อท้าย
3. ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำชับหน่วยงานในสังกัดที่พิจารณาอนุญาตให้เปิดเผยประวัติอาชญากรรมของเด็กและเยาวชน จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงสิทธิเด็กและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ
“การคัดแยกประวัติการกระทำความผิดทางอาญาของเด็กและเยาวชน และการห้ามมิให้เปิดเผยประวัติลักษณะดังกล่าว จะส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนที่เคยกระทำความผิดได้รับโอกาสกลับคืนสู่สังคม และได้รับการคุ้มครองสิทธิตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 รวมทั้งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี โดยสำนักงาน กสม. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติดังกล่าวภายใน 90 วัน ขณะเดียวกัน กสม. ได้มีหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีให้รับทราบมติ กสม. ในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน” ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุ