บางพรรคใช้นโยบายรัฐหาเสียง!พีเน็ตเผย 9 ข้อสังเกตก่อนเลือกตั้งกระตุ้น กกต.ทำงาน
พีเน็ต ลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบการเปิดรับสมัคร ส.ส. สู้ศึกเลือกตั้งปี’62 พบข้อสังเกต 9 ข้อ แม้การเปิดรับสมัครจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่เจอบางพรรคใช้นโยบายรัฐหาเสียง ขัดกฎหมายหรือไม่-ขาดการพีอาร์จาก กกต.-ขาดประชาชนมีส่วนร่วม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย(พีเน็ต) ได้ติดตามการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการเปิดรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างวันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562ในจังหวัดต่างๆโดยที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้ติดตามข่าวการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการประกาศรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกทั้งช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงของการหาเสียงและการเปิดให้มีการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าจึงขอตั้งข้อสังเกตการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังนี้
1.การรับสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในหลายพื้นที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีผู้สมัครและพรรคการเมืองจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวทางการเมืองของประชาชนอย่างไรก็ตามระเบียบขั้นตอนต่างๆในการสมัครค่อนข้างมีรายละเอียดมากจนอาจเป็นสาเหตุให้ผู้สมัครบางคนหมดสิทธิ์การเป็นผู้สมัครอันเป็นผลจากการที่กกต.ออกระเบียบที่มีรายละเอียดหยุมหยิมและมิได้ใส่ใจทำความเข้าใจให้กับพรรคการเมืองและผู้สมัครอย่างชัดเจน
2.การตรวจคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครที่ล่าช้ามีส่วนทำให้การหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครพรรคการเมืองบางส่วนถูกทำให้เลื่อนเวลาออกไปไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่มีผลทำให้ประชาชนเสียโอกาสในการรับรู้ข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครและนโยบายของพรรคการเมืองเท่าที่ควร
3.การรับเรื่องร้องเรียนของกกต.ในช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่มีความสำคัญละเอียดอ่อนส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางมีข้อห่วงใยว่ากกต.ได้ดำเนินการด้วยความละเอียดรอบคอบตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยเรื่องการสืบสวนการไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาดพ.ศ. 2561หรือไม่อย่างไร
4.การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมาใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต. ยังไม่ทั่วถึงซึ่งขณะนี้ใกล้จะหมดระยะเวลาในการลงทะเบียนแต่ปรากฏว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับทราบข่าวสารข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทะเบียนใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าและอาจจะมีผลทำให้ไม่ได้ไปลงคะแนนในวันเลือกตั้งอีกทั้งเจ้าหน้าที่ในหลายพื้นที่ก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าและได้สร้างความสับสนให้กับประชาชนในการไปติดต่อขอลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า
5.การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจรูปแบบการเลือกตั้งระบบใหม่ของ กกต. ยังไม่ทั่วถึงซึ่งอาจจะมีผลต่อการทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิ์ลงคะแนนตามเจตจำนงของตนเองเพราะไม่เข้าใจถึงระบบเลือกตั้งบัตรเลือกตั้งที่มีผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีเลือกผู้แทนเลือกพรรคการเมืองด้วยการลงคะแนนคะแนนเดียวรวมตลอดไปถึงระบบการคิดคะแนนเลือกตั้งที่มีผลต่อการคิดคะแนนให้ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อการละเลยของกกต.ต่อการทำหน้าที่ในการทำความเข้าใจให้กับประชาชนในเรื่องเหล่านี้จะมีผลกระทบต่อการปฏิรูประบบการเลือกตั้งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
6.กกต. ยังไม่ได้ทำหน้าที่ในการสนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในทางการเมืองการเลือกตั้งและแม้แต่การตรวจสอบการเลือกตั้งแต่อย่างใดส่อเจตนาที่จะทำให้การปฏิรูปการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้งมาตรา 22 (5)
7.ในหลายพื้นที่พีเน็ตได้รับรายงานในเรื่องเกี่ยวกับการใช้นโยบายของรัฐมาใช้หาเสียงให้กับพรรคการเมืองซึ่งน่าจะเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายเลือกตั้งส.ส. มาตรา 73 (5) เพราะมีบางพรรคการเมืองอ้างว่านโยบายของรัฐบางเรื่องเป็นนโยบายของพรรคการเมืองทั้งๆที่พรรคการเมืองนั้นเพิ่งจัดตั้งขึ้นมาไม่นาน
8.ในส่วนราชการต่างๆรวมทั้งมหาดไทย ผู้นำเหล่าทัพ สตช. แม้ได้ประกาศว่าจะวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้งในทางปฏิบัติย่อมต้องให้ความสำคัญกับการวางบทบาทหน้าที่ที่จะต้องร่วมมือกับกกต. บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งอย่างเคร่งครัดและพึงไม่ปฏิบัติงานที่ยังประโยชน์แก่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งและเมื่อพบเห็นการกระทำที่ส่อว่าจะเป็นการทุจริตผิดกฎหมายเลือกตั้ง จะต้องรีบดำเนินการตามอำนาจหน้าที่มิใช่ปล่อยให้กกต.หรือพรรคการเมืองจัดการกันเอง
9.กกต.ไม่ได้มุ่งทำงานบูรณาการเพื่อผสานพลังกับภาคส่วนต่างๆให้มีส่วนร่วมช่วยทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตเที่ยงธรรมแต่วางนโยบายการทำงานแบบแยกส่วนซึ่งย่อมอาจมีผลต่อประสิทธิภาพการทำงานอาจส่งผลทำให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นเพียงการเลือกตั้งตามรูปแบบแต่ขาดจิตวิญญาณของประชาธิปไตยอันเป็นเจตนารมณ์ที่สำคัญของรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง
ข้อสังเกต 9 ข้อข้างต้นเป็นผลมาจากการทำงานของพีเน็ตที่ได้ตรวจสอบสังเกตการณ์การทำงานของกกต.และการหาเสียงของนักการเมืองผู้สมัครพรรคการเมืองทั้งนี้ตั้งแต่ก่อนมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งด้วยความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนช่วยทำให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมโปร่งใสตรวจสอบได้จึงขอเร่งรัดให้กกต.ทบทวนการทำหน้าที่ให้ดำเนินไปด้วยเจตจำนงประชาธิปไตยที่ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมและด้วยความเป็นอิสระมุ่งมั่นที่จะทำให้การเลือกตั้งเป็นหนทางของการปฏิรูปการเมืองและได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายรวมทั้งประชาคมโลก