โครงการคลินิกแก้หนี้ระยะที่ 2
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า โครงการคลินิกแก้หนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศในการแก้ปัญหาหนี้ของประชาชนอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกันกับเจ้าหนี้หลายรายให้มีโอกาสจัดการแก้ไขปัญหาหนี้ของตนได้ ซึ่งโดยปกติจะทำได้ยาก เนื่องจากเจ้าหนี้แต่ละรายมีหลักเกณฑ์ที่ต่างกัน และลูกหนี้จะต้องเจรจากับเจ้าหนี้แต่ละรายด้วยตนเอง
สำหรับโครงการในระยะที่ 1 ครอบคลุมเฉพาะหนี้ของธนาคารพาณิชย์ แต่ในระยะ 2 จะขยายขอบเขตให้รวมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลของผู้ประกอบการ non-bank ด้วย ซึ่งจะทำให้โครงการนี้มี impact และสามารถช่วยเหลือประชาชนได้กว้างขวางและเบ็ดเสร็จมากขึ้น เพราะหนี้ส่วนนี้มีสัดส่วนจำนวนลูกหนี้กว่า 70% ของทั้งหมด และจากข้อมูลลูกหนี้ที่ติดต่อกับโครงการที่ผ่านมา พบว่าเป็นลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้ non-bank รวมอยู่ด้วยจำนวนสูงพอสมควร อย่างไรก็ดี เป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการ non-bank อย่างน้อย 8 ราย เห็นถึงความสำคัญของโครงการที่จะช่วยแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชน และแสดงความประสงค์เข้าร่วมโครงการ ได้แก่
1. บริษัท เจเนอรัล คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
2. บริษัท ซิตี้คอร์ป ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด
3. บริษัท เทสโก้ คาร์ด เซอร์วิสเซส จำกัด
4. บริษัท บัตรกรุงศรีอยุธยา จำกัด
5. บริษัท พรอมิส (ประเทศไทย) จำกัด
6. บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำด
7. บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท อีซี่ บาย จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ คาดว่าลูกหนี้ของ non-bank จะสามารถเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 เนื่องจากต้องรอให้การแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถรับจ้างบริหารหนี้ NPL ของ non-bank มีผลบังคับใช้ ซึ่งปัจจุบันผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว
นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการของโครงการมีประสิทธิภาพและสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่สุจริตและมีความตั้งใจให้แก้ไขปัญหาได้มากขึ้น จึงปรับปรุงหลักเกณฑ์เพิ่มเติมใน 2 ส่วนสำคัญ ดังนี้
1. คุณสมบัติการเข้าโครงการที่เดิมต้องเป็น NPL ก่อนวันที่ 1 เมษายน 2561 ปรับเป็น ต้องเป็น NPL ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2562
2. ปรับปรุงเกณฑ์การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ และวิธีการชำระหนี้ ให้ยืดหยุ่น ง่าย และสอดคล้องกับสถานะลูกหนี้แต่ละรายได้มากขึ้น
โดยเกณฑ์ใหม่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562
จุดเด่นของโครงการคลินิกแก้หนี้ นอกจากที่เป็น one stop service ในการแก้ปัญหาหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การให้โอกาสลูกหนี้ผ่อนชำระได้สูงสุดถึง 10 ปี ซึ่งจะทำให้ภาระที่ต้องจ่ายต่อเดือนไม่มากจนเกินที่จะรับได้ เช่น ลูกหนี้ที่มียอดหนี้ 100,000 และ 50,000 บาท จะผ่อนชำระขั้นต้นเพียงประมาณ 1,200และ 600บาทต่อเดือนตามลำดับ และจากการสอบถามลูกหนี้ที่ติดต่อได้เบื้องต้น พบว่ามีลูกหนี้อย่างน้อย 300-400 ราย ซึ่งเดิมปรับโครงสร้างหนี้ไม่สำเร็จหรือไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้ จะสามารถแก้ไขหนี้ได้สำเร็จเพิ่มขึ้นตามเกณฑ์ใหม่ หรือ เพิ่มขึ้นประมาณ 30% จากปัจจุบัน
นายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และนายสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (NCB) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะลงนามใน MOU โดย NCB จะยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบรายงานข้อมูลเครดิต (รายงานเครดิตบูโร)
สำหรับลูกหนี้ที่มาติดต่อและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ผ่านช่องทางที่สำนักงานของ SAM เพื่อลดภาระของลูกหนี้ที่สมัครเข้าโครงการ (ปกติมีค่าใช้จ่าย 100 บาท) รวมทั้งจะร่วมกันปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบและส่งข้อมูล ซึ่งจะทำให้การปรับโครงสร้างหนี้เริ่มได้เร็วขึ้นและใช้เวลาโดยรวมสั้นลง
อนึ่ง ตั้งแต่ได้เริ่มดำเนินการ โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ให้คำปรึกษาแนวทางแก้ไขหนี้แก่ลูกหนี้ 33,900 ราย (debt counselling) และมีลูกหนี้ที่สามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำเร็จและลงนามสัญญาแล้ว 1,087 ราย (debt restructuring) สำหรับประชาชนที่มีปัญหาหนี้บัตรเดรดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลกับเจ้าหนี้หลายราย สามารถติดต่อเพื่อขอคำแนะนำการเข้าร่วมโครงการและการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ได้ที่โครงการคลินิกแก้หนี้ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) Call Center โทร. 0 2610 2266 หรือทางเว็บไซต์ www.debtclinicbysam.com
ธนาคารแห่งประเทศไทย
12 กุมภาพันธ์ 2562