ทีดีอาร์ไอชี้เกษตรกรปรับตัวสู้วิกฤติเศรษฐกิจดีกว่าแรงงาน-อาชีพอิสระ
ทีดีอาร์ไอเผยผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกต่อคนไทยกลุ่มต่างๆ เกษตรกรปรับตัวดีกว่าแรงงานรับจ้างและอาชีพอิสระ และยังช่วยเลี้ยงดูคนตกงาน วิพากษ์นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่หวังผลการเมือง จึงให้ผลระยะสั้น ติงเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าภาครัฐไม่ถึงมือคนจนจริง
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) นำเสนอผลการวิจัย “ศึกษาผลกระทบของเศรษฐกิจโลกต่อคนไทยกลุ่มต่างๆ” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ที่โรงแรมดิ เอมเมอรัล โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551-2552 มีผลกระทบต่อผลผลิตมวลรวมประชาชาติน้อยกว่าวิกฤติปี 2540-2541 แต่มีผลต่อการส่งออกรุนแรงกว่าเพราะความต้องการของตลาดลดลงทั่วโลก ขณะที่ในปี 2540-2541 วิกฤติเกิดขึ้นภายในประเทศไทยเอง ตลาดโลกมิได้ซบเซา และการลอยตัวค่าเงินบาทช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า แม้การพยากรณ์กลางปี 2552 คาดว่าการกระตุ้นของรัฐอาจช่วยให้เศรษฐกิจไทยติดลบน้อยลงเกือบร้อยละ 1 แต่ในความเป็นจริงการเบิกจ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่ล่าช้าและต่ำกว่าเป้าทำให้มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่เกิดจากการฟื้นของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจเอเซีย
ทั้งนี้การวิจัยได้สอบถามคนไทยกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ผู้ทำงานรับจ้าง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เกษตรกรและผู้ตกงานในจังหวัดชลบุรีและนครราชสีมา พบว่าวิกฤติเศรษฐกิจปลายปี 2551 และต้นปี 2552 ทำให้ลูกจ้างได้รับเงินโอทีลดลง ต้องหยุดงานชั่วคราว และผลประโยชน์ เช่น ค่าอาหาร ค่ารถ ก็ถูกตัดออกไป ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระทำมาค้าขายได้ลำบากขึ้น ผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยคือเกษตรกร ซึ่งได้ปรับตัวให้เข้ากับเหตุการณ์ง่ายกว่าลูกจ้าง นอกจากนี้ภาคเกษตรยังช่วยเลี้ยงดูผู้ตกงานอีกด้วย
ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ กล่าวว่า ผลของวิกฤติเศรษฐกิจโลกต่อการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมค่อนข้างแรงในไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2552 ในปัจจุบันภาวะการจ้างงานและการทำงานโอทีได้กลับเข้าสู่แนวโน้มปกติแล้ว แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีอยู่ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมควรเตรียมพร้อมรับมือโดยเฉพาะความเสี่ยงในแต่ละรอบวิกฤติมีเส้นทางต่างกัน ปี 2251 เป็นยอดสั่งซื้อผลผลิตที่ลดลง แต่ปัจจุบันเป็นความเสี่ยงด้านราคาสินค้าที่ถูกกระทบโดยอัตราแลกเปลี่ยน
ดร. ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ ศึกษาว่าการช่วยเหลือของรัฐด้วยโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วยกระตุ้นการบริโภคได้พอควร เงินที่อัดฉีดโดยตรงเข้าสู่ครัวเรือนผ่านโครงการเบี้ยผู้สูงอายุและเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า ทุกๆ 100 บาท จะช่วยเพิ่มการบริโภคครัวเรือนประมาณ 60 บาท อย่างไรก็ตามครัวเรือนที่ยากจนได้รับประโยชน์น้อยกว่าครัวเรือนฐานะปานกลาง เพราะเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่า เช่น เช็ค 2,000 บาท เข้าไปไม่ถึงผู้ที่มีรายได้น้อยซึ่งส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม นอกจากนั้นผลกระทบของนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2552 ช่วยให้ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนลดลงประมาณร้อยละ 13 ครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำได้รับประโยชน์คิดเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะดี (ครัวเรือนจนที่สุด 10% ค่าใช้จ่ายลดลงประมาณร้อยละ 25 ในขณะที่ครัวเรือนรวยที่สุด 10% ลดลงประมาณร้อยละ 8)
ดร. ปัทมาวดิ ซูซูกิ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่านโยบายแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 มีการพัฒนาระบบประกันสังคมและการลงทุนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน รองรับคนตกงานจากวิกฤติ แต่ในปี 2551-2552 มีความยากลำบากจากปัญหาทางการเมือง ความขัดแย้ง การคอร์รัปชั่น ทำให้นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างไป คือมุ่งผลเร็วโดยเน้นการใช้จ่ายในรูปเงินโอนและเงินอุดหนุน ซึ่งส่งผลเพียงระยะสั้น แม้จะมีการลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็ง แต่โดยลักษณะโครงการก็จะส่งผลต่อสาขาการผลิตคือการก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ การขนส่ง มากกว่าสาขาอื่นๆ.