บทวิเคราะห์บลูมเบิร์ก ฉายภาพการเมืองไทย 'ชะตากรรม ทษช.-โอกาสบิ๊กตู่' หลังกรณีแคนดิเดตนายกฯ
“...การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบตกลงว่าจะรับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการชี้ชัดว่าพรรคเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร ผนวกกับเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้นก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มีผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาลงคะแนนมากขึ้นอีก ด้วยความรู้สึกว่าต้องโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้กลับประเทศไทย...”
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่จะถึงในวันที่ 24 มี.ค.2562 นี้ เข้าไปเท่าไร บรรยากาศการเมืองไทยยิ่งร้อนแรงมากขึ้นเท่านั้น
ล่าสุดในช่วงบ่ายวันที่ 11 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกแถลงการณ์ผลการประชุม กกต. แจ้งรายชื่อบุคคลเพื่อพิจารณาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รวมทั้งหมด 45 พรรค 69 ชื่อเป็นทางการ แต่ไม่มีการรับรองในส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) แต่อย่างใด (อ่านประกอบ : กกต.ประกาศ69แคนดิเดตนายกฯ ไม่มีพระนาม'ทูลกระหม่อมฯ'เหตุทรงอยู่เหนือการเมือง-ขัด รธน.)
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของสื่อต่างประเทศ ยังคงทยอยออกบทวิเคราะห์เรื่องการเมืองไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อชื่อดังในสหรัฐอเมริกา ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ถึง สถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทยว่าอาจจะต้องประสบกับภาวะแตกแยกทางการเมืองอีกครั้ง พร้อมกับแนวคิดที่ว่าจำเป็นต้องโหวตเลือกให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งถ้าต้องการจะป้องกันไม่ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีกลับมามีอำนาจได้อีก
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ระบุว่า ความเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วง1เดือนที่ผ่านมานั้น กำลังจะสร้างการแบ่งข้างครั้งใหญ่ให้กับการเมืองไทยอีกครั้ง นับตั้งแต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีก่อน
โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกสายตากำลังจับจ้องมองไปที่ชะตากรรมของพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ได้เสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เข้าเป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา และในวันเดียวกันนั้นเองก็มีพระราชโองการ เรื่อง สถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยออกมา
กรณีนี้ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องมีการประชุมกันในวันที่ 11 ก.พ.เพื่อที่จะหารือกันถึงประเด็นดังกล่าวว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติมีความเหมาะสมหรือไม่ ขณะที่ในสังคมนั้นมีกระแสส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องว่าให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ และยังอ้างว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรียังเป็นต้นเหตุของการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายขั้วการเมืองในปัจจุบันอยู่ ขณะที่รัฐบาลทหารเองก็มองเช่นกันว่านายทักษิณนั้นถือว่าเป็นภัยของการถือครองอำนาจของรัฐบาลต่อไป
อย่างไรก็ตาม การยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้นอาจสร้างความโกรธแค้นให้กับผู้ที่สนับสนุนนายทักษิณ และอาจจะสร้างแรงผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไปหลังจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะเมื่อได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.ที่รับการแต่งตั้งเข้ามา
ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ได้อ้างคำสัมภาษณ์ของ นางสาวพรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า “ช่วงเวลานับจากนี้ถือว่าน่ากลัวอย่างยิ่ง เพราะว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายังมีการแบ่งขั้วการเมืองเกิดขึ้น และฝังรากลึกลงไปยิ่งกว่าแต่ก่อน”
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมานั้น นายทักษิณ รวมไปถึงพันธมิตรของนายทักษิณชนะการเลือกตั้งมาโดยตลอด แต่ไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้ เพราะต้องเผชิญหน้ากับคำพิพากษาของศาล การรัฐประหาร การชุมนุมบนท้องถนน ซึ่งบางครั้งก็ถึงขั้นนองเลือด และตามมาด้วยสถานการณ์ไม่สงบ
ขณะที่ ล่าสุด สมาคมพิทักษ์รักธรรมนูญก็ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเช่นกัน เพื่อขอให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ด้วยข้อหาว่าได้ใช้ประโยชน์จากการนำเอาสถาบันเบื้องสูงมาข้องเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้ง
แต่ในทางกลับกันสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติเองก็ได้ยื่นจดหมายไปยัง กกต.เพื่อคัดค้านการเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์นั้นยังคงถือครองอำนาจบริหารอยู่ในฐานะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
ด้านนายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ระบุว่า “การที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบตกลงว่าจะรับการเสนอชื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามคำเชิญของพรรคพลังประชารัฐนั้นเป็นการชี้ชัดว่าพรรคเป็นผู้สนับสนุนรัฐบาลทหาร ผนวกกับเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานั้นก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้มีผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มาลงคะแนนมากขึ้นอีก ด้วยความรู้สึกว่าต้องโหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้นายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้กลับประเทศไทย”
สำนักข่าวบลูมเบิร์ก ยังระบุทิ้งท้ายด้วยว่า ขณะนี้ปัญหาและความเสี่ยงทางด้านการเมืองของประเทศไทยนั้นกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่กำลังเจอปัญหาความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างจีน และสหรัฐอเมริกา และความเสี่ยงทางการเมืองของไทยนั้นอาจจะส่งผลกระทบต่อภารกิจสำคัญของประเทศที่เกิดขึ้นในปีนี้ด้วย
(เรียบเรียงจาก:https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-02-10/thailand-faces-escalating-political-risk-as-divisions-flare)
ทั้งหมดนี้ คือ มุมมองของ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก สื่อดังในสหรัฐอเมริกา ที่ฉายภาพสถานการณ์ทางการเมืองไทยที่เกิดขึ้นล่าสุด ณ ห้วงเวลานี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/