คนจนเมือง-ชนบท ทวงสินเชื่อบ้านมั่นคง 3 พันล้าน จี้รัฐแก้ระเบียบติดขัด
รวมพลชุมชนบ้านมั่นคง เผยความสำเร็จ 550 ตำบลเมือง 1,654 ชุมชนชนบท 270 เมืองทั่วประเทศ ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐแก้กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคการในการจัดการที่อยู่อาศัยให้คนจน ทวงสินเชื่อบ้านมั่นคงที่รัฐบาลรับปากไว้อีก 3,000 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆนี้ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) จัดงาน “ปฏิรูปที่ดินและที่อยู่อาศัย โดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่น” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ณ โครงการบ้านมั่นคงชุมชนสร้างสรรค์นครรังสิต จ.ปทุมธานี ทั้งนี้จากข้อมูลเดือน ส.ค.51 มีชุมชนแออัด 26 เมือง 160 ชุมชน 12,914 ครัวเรือน ส่วนหนึ่งบุกรุกที่ดินริมคลอง ที่เอกชน องค์กรศาสนา ที่ราชพัสดุ โครงการบ้านมั่นคงตามนโยบายรัฐเป็นความร่วมมือระหว่างท้องถิ่นและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน
นายธีรวุฒิ กลิ่นกุสุม รองนายกเทศมนตรีเมืองรังสิต กล่าวถึงบทบาทองค์กรท้องถิ่นในการแก้ปัญหาคนจนเมืองและชนบทว่า ปัจจุบันเทศบาลเมืองรังสิตมีโครงการบ้านมั่นคง 17 โครงการ แก้ปัญหาผู้เดือดร้อนได้ 20 ชุมชน 2,611 ครัวเรือน โครงการดังกล่าวเริ่มจากชุมชนมิตรสัมพันธ์ถูกไฟไหม้ทั้งหมด ทำให้เจ้าของที่ดินถือโอกาสยกเลิกสัญญา เทศบาลจึงร่วมมือกับ พอช.จัดหาที่ดินและรวมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อปลูกบ้านในที่ดินแห่งใหม่ ไม่ไกลที่ดินเดิมนัก จนได้ชื่อว่าชุมชนรังสิตนิมิตใหม่
"ท้องถิ่นขึ้นอยู่กับประชาชน แยกกันไม่ได้ ถ้าผู้บริหารไม่ตอบสนองความต้องการประชาชน ประชาชนก็แย่ ถ้าประชาชนไม่ตอบสนองท้องถิ่นเราก็แย่ เราต้องช่วยเหลือเขา”
รองนายกเทศบาลเมืองรังสิต กล่าวอีกว่า สนับสนุนให้มีกองทุนที่อยู่อาศัยหรือกองทุนที่ดินในชุมชน เป็นการทำงานต่อเนื่องกับกลุ่มออมทรัพย์สหกรณ์เดิมของชุมชน และเพื่อให้บ้านมั่นคงเข้มแข็งก็ให้ชุมชนมีกลุ่มออมทรัพย์เพื่อบ้านอีกทาง แต่ก็ปัญหาที่ท้องถิ่นไม่สามารถช่วยชาวบ้านได้เพราะขัดต่อกฎหมาย ซึ่งจะใช้วิธีชี้แจงและหาทางออกร่วมกัน
นางทองคำ วรสวัสดิ์ ตัวแทนสหพันธ์พัฒนาองค์ชุมชนเมืองชาติ (สอช.) กล่าวว่า หน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งอาจไม่เข้าใจการทำงานของชาวบ้าน จึงต้องใช้ความพยายามเข้าหา โดยใช้รูปธรรมความสำเร็จในชุมชนเข้าไปขอความช่วยเหลือเพิ่มทีละเรื่อง จนเกิดความไว้วางใจกันเพิ่มขึ้น แล้วขยายไปสู่การประสานงานระดับจังหวัด ขยายผลการดำเนินงานต่อไป
ทั้งนี้ นายเกรียงศักดิ์ มีสมพร และ นางฑิฆัมพร กองสอน ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนเมือง ได้อ่าน “แถลงการณ์ขบวนองค์กรชุมชนท้องถิ่นเพื่อคืนอำนาจในการจัดการที่ดินและที่อยู่อาศัย” ว่าผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศกว่า 2,000 คน ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และผลักดันนโยบายการปฎิรูปที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยโดยขบวนองค์กรชุมชนและท้องถิ่นที่จะนำไปสู่ความมั่นคง โดยแก้ปัญหาในชนบทแล้ว 550 ตำบล ในเมือง 1,654 ชุมชน 270 เมืองทั่วประเทศ ทั้งนี้ได้ขับเคลื่อนร่วมกับท้องถิ่นดังนี้
1.จัดทำข้อมูลผู้เดือดร้อน 2.จัดทำกติกาการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันของชุมชนและเอกสารรับรองสิทธิ์(โฉนดชุมชน) 3.ปรับวิถีการผลิตทำการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อรักษาดิน น้ำป่า 4.ตั้งและพัฒนากองทุนที่ดินที่อยู่อาศัยระดับชุมชนสู่การเป็นกองทุนระดับเมืองหรือตำบล 5.ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดทำแผนที่และแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อพัฒนาเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่น 6.ร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินสำหรับกลุ่มเฉพาะ เช่น คนไร้บ้าน ชนเผ่า ชาวเล ควบคู่ไปกับการจัดการเรื่องสิทธิ
และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 1.จัดงบประมาณสนับสนุนสินเชื่อบ้านมั่นคงที่รับปากไว้แล้ว 3,000 ล้านบาท 2.เร่งสำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน กำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับโครงการบ้านมั่นคง 3.เร่งรัดกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามมติคณะกรรมการกระจายอำนาจฯ แก้ไขระเบียบ หนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่อยู่อาศัย 4.กระจายอำนาจการตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยให้ได้ข้อยุติระดับท้องถิ่นและจังหวัดให้มากที่สุด 5.หามาตราการให้หน่วยงานรัฐซึ่งรับผิดชอบดูแลที่ดิน นำที่ดินที่ชุมชนอยู่อาศัยหรือทำกินอยู่แล้วมาจัดการร่วมโดยชุมชน 6. สนับสนุนการจัดตั้งและสมทบงบประมาณกองทุนที่ดิน ที่อยู่อาศัยระดับท้องถิ่นทั้งในระดับเมืองและตำบล 7.สนับสนุนการดำเนินงานตามข้อเสนอปฎิรูปประเทศไทยเรื่องสำคัญเร่งด่วน คือกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น มาตรการภาษีลดความเหลื่อมล้ำและการแก้ไขปัญหาที่ดิน
ทั้งนี้นายอิสสระ สมชัย รมว. พม. กล่าวว่า งบประมาณสนับสนุนสินเชื่อบ้านมั่งคงที่รัฐรับปากว่าจะให้ทั้งหมด 6,000 ล้านบาทและยังคงค้างอีก 3,000 ล้านบาทนั้น เพราะตามมติ ครม. เห็นชอบให้จ่ายในปี 2553 เป็นเงิน 3,000 ล้านบาท และ 2,000 ล้านบาทในปี 2554 ส่วนอีก 1,000 ล้านบาทจะจ่ายในปี 2555 ส่วนข้อติดขัดของ พ.ร.บ.ความคุมอาคาร ได้ผ่านการพิจารณาของ ครม. และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความด่วนแล้ว สำหรับการกระจายอำนาจให้ อปท.มีบทบาทดูแลไก้ไขปัญหา รัฐบาลได้ให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองท้องถิ่น เห็นชอบแล้ว โดยมอบให้กระทรวงมหาดไทยแก้ไขกฎระเบียบคำสั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเอื้อต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ อปท.ต่อไป.