“ชีวิตเดิม เริ่มใหม่” สสส.พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังหญิง เรือนจำอุบลราชธานี
การถูกจำคุกไม่ต่างจาก “การตายทางสังคม” คุกปิดกั้นบทบาททุกอย่างที่บุคคลนั้นมี รวมทั้งสิทธิประโยชน์พื้นฐานต่างๆ การที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานที่ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ เป็นสภาวะที่ทำให้บุคคลหนึ่งมีความเครียด หมดอาลัยตายอยาก มีชีวิตอยู่เพียงวันๆ เพื่อรอให้พ้นโทษ ยิ่งนานวันยิ่งเกิดความท้อแท้ หมดหวังในชีวิต และยังต้องคิดอีกว่า พ้นโทษไปแล้วสังคมจะให้โอกาสเขาคนนั้นอีกหรือไม่ ฉะนั้นแล้วโครงการเรือนจำสุขภาวะสามารถปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างกำลังกายกำลังใจให้ผู้ต้องขัง เพื่อรอวันกลับไปใช้ชีวิตในสังคม
“ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ต้องขังที่อยู่หลังกำแพงนี้”
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เริ่มต้นให้ข้อมูล โครงการเรือนจำสุขภาวะ ซึ่งทำมาตั้งแต่ปี 2556 ใน 3 เรือนจำนำร่อง ได้แก่ เรือนจำกลางอุดรธานี เรือนจำกลางราชบุรี และขยายผลต่อมาที่เรือนจำกลางอุบลราชธานี
“ สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิดเรือนจำสุขภาวะในสังคมไทย ทั้งในเรื่องปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาโรคผิวหนัง สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ หรือปัญหาสุขภาพจิต”
โครงการเรือนจำสุขภาวะช่วยพัฒนาชีวิตผู้ต้องขัง ทั้งทางร่างกาย และจิตใจ โดยมีองค์ประกอบ 7 ด้าน คือ
(1) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง
(2)ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ
(3)เพิ่มโอกาสเข้าถึงการบริการสุขภาพ
(4)ผู้ต้องขังมีพลังชีวิตคิดบวกและมีกำลังใจ
(5)ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร
(6)สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ เป็นลูก หรือเป็นสมาชิกในครอบครัว
(7)มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม
ทั้ง 7 องค์ประกอบ เธอบอกว่า ต้องมีการบูรณาการควบคู่ไปกับสภาวะแวดล้อมทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ที่ต้องทำให้ผู้ต้องขังมีชีวิตแตกต่างกับชีวิตในสังคมภายนอกน้อยที่สุด ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถเอื้อประโยชน์ต่อผู้ต้องขังและช่วยผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษให้ปรับตัวเข้ากับสังคมได้
ในส่วนของกิจกรรมที่ทางเรือนจำกลางอุบลราชธานีได้จัดไว้ให้ผู้ต้องขังหญิงเลือกตามความถนัดและความสนใจ มีทั้ง ศิลปะบำบัด(การใช้ดินสอสี สีน้ำ สีอะคริลิก) การทำยาหม่อง สวนถาด การปลูกต้นไม้ในขวด การทำงานหัตถกรรม(การถักโครเชต์) และกิจกรรมที่พัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังแบบองค์รวม คือ การฝึกโยคะ ซึ่งจะสามารถฝึกทั้งสมาธิ ความอดทน และเป็นการออกกำลังกายได้ด้วย
ขณะที่ผลงานบางส่วนที่ผู้ต้องขังทำ ยังสามารถสร้างรายได้ และสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้ต้องขัง
พรทิพย์ ไชยโย
นางพรทิพย์ ไชยโย เจ้าพนักงานราชทัณฑ์ชำนาญการพิเศษ เรือนจำกลางอุบลราชธานี ให้ความเห็นถึงกิจกรรมต่างๆ ได้ช่วยบำบัดผู้ต้องขังได้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ต้องขังคลายเครียด ยังช่วยทำให้เขาได้ปรับตัวเข้ากับสังคม ได้ใช้เวลาอยู่กับเพื่อนผู้ต้องขังทำสิ่งที่สร้างสรรค์ ทำรายได้ ทำให้ตัวเองมีคุณค่าขึ้น
“หน้าที่ของเราคือต้องดูแลและให้กำลังใจพวกเขา แต่สิ่งที่ทำให้เขามีความสุขที่สุดนอกจากการได้รับกำลังใจคือเขารู้ว่า ตัวเองยังมีคุณค่ายังทำสิ่งที่มีประโยชน์ได้ เรื่องอดีตไม่สามารถจะกลับไปแก้ไขได้ แต่เรื่องในอนาคตยังสามารถสร้างได้” นางพรทิพย์ ระบุ
เช่นเดียวกับ นางจำปา ไขแสง นักทัณฑวิทยาชำนาญการพิเศษ เรือนจำกลางอุบลราชธานี มองถึงกิจกรรม ทั้งการระบายสี ปลูกต้นไม้ หรือโยคะสามารถผ่อนคลายความเครียด บำบัดพฤติกรรมของผู้ต้องขังได้ โดยภาพรวมด้านวินัยของผู้ต้องขังเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากมีกิจกรรม และจากการติดตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมโยคะของโครงการฯเมื่อพ้นโทษจำนวน 50 คนมีผู้กระทำความผิดซ้ำ 3 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 เท่านั้น
ขณะที่ นางสาวเอ (นามสมมติ) ผู้ต้องขังหญิงเรือนจำอุบลราชธานี เล่าถึงวันแรกที่เข้ามาที่เรือนจำ ภาพแรกที่ปราฎขึ้นในหัว คือ ภาพบรรยากาศคุกในภาพยนตร์ไทยเรื่อง ขัง 8 จะต้องมีกลุ่มผู้มีอิทธิพล ต้องมีการกลั่นแกล้ง
“คิดอย่างเดียวว่าชีวิตหมดหวังแล้ว อีกทั้งสงสารคนที่บ้านที่ต้องคอยส่งเสียเงินให้เรา แต่พอเข้ามาอยู่จริงๆกลับไม่เป็นเหมือนที่คิดไว้ ยิ่งเมื่อเข้ามาร่วมกิจกรรมต่างๆ เรากลับรู้ว่าจริงๆแล้วเราทำอะไรได้บ้าง ชอบอะไรอยากทำอะไรก็ไปทำสิ่งนั้น มีเพื่อนมีคนพูดคุยในเรื่องนั้นๆทำให้ไม่ต้องคิดเรื่องวันเวลาว่า เมื่อไรจะได้ออกไป และถ้าถึงวันที่ได้กลับออกไป เราก็รู้แล้วว่า เราอยากออกไปทำสิ่งดีที่เราทำได้ ตอนนี้เราให้โอกาสตัวเองแล้ว” นางสาวเอ ระบุ และหวังว่า สุดท้ายเธอเมื่อพ้นโทษออกไปจากที่นี่ สังคมไทยจะให้โอกาสเธอสักครั้ง
ส่วนนางสาวบี (นามสมมติ) ผู้ต้องขัง ซึ่งเป็นคนกัมพูชา ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี ด้วยข้อหามียาเสพติดไว้ในครอบครอง เล่าถึงการได้รู้จักการเล่นโยคะจากเรือนจำกลางอุบลราชธานี และได้เปลี่ยนความรู้สึกไปเมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรม
“ตอนแรกที่เข้ามาสิ่งที่ทำ คือ ร้องไห้คิดถึงบ้านไม่อยากกินข้าว ไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น และก็คิดแน่ๆว่า คงไม่มีเพื่อน ไม่มีใคร เพราะเราไม่ใช่คนที่นี่ แต่พอผู้คุมประกาศรับสมัครคนเข้าร่วมโครงการ เราสนใจได้ไปลองดู แรกๆก็เจ็บ ปวดตามร่างกายไปหมด แต่พอผ่านไปเรื่อยเราเริ่มมีความสุข สนุกกับการเรียนโยคะ มีเพื่อน มีครู ตอนนี้รู้แล้วว่า ชีวิตยังมีอะไรเหลืออยู่นอกจากการคิดเรื่องโลกข้างนอก”นางสาวบี บอก
ในส่วนของด้าน ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ และผู้ฝึกสอนโยคะให้ผู้ต้องขังหญิง มองว่า การถูกจำคุกไม่ต่างจาก “การตายทางสังคม” คุกปิดกั้นบทบาททุกอย่างที่บุคคลนั้นมี รวมทั้งสิทธิประโยชน์พื้นฐานต่างๆ ที่เขาควรจะได้รับ การที่ต้องเข้ามาอยู่ในสถานที่ซึ่งมีข้อจำกัดต่างๆ เป็นสภาวะที่ทำให้บุคคลหนึ่งมีความเครียด หมดอาลัยตายอยาก มีชีวิตอยู่เพียงวันๆ เพื่อรอให้พ้นโทษ ยิ่งนานวันยิ่งเกิดความท้อแท้ หมดหวังในชีวิต และยังต้องคิดอีกว่า พ้นโทษไปแล้วสังคมจะให้โอกาสเขาคนนั้นอีกหรือไม่ ฉะนั้นแล้วโครงการสุขภาวะจะสามารถปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างกำลังกายกำลังใจให้ผู้ต้องขังเพื่อรอวันกลับไปใช้ชีวิตในสังคมได้
เธอเห็นว่า การจะเป็นพื้นที่ที่จะดูแลและฟื้นฟูผู้ที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำ ต้องยึดหลักการว่า การลงโทษการจำคุกเป็นการลงโทษที่รุนแรงมากพอแล้ว ดังนั้นการใช้ชีวิตในเรือจำจึงควรมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาความเครียด ให้กำลังใจ และให้โอกาสในการใช้พลังสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคล เพื่อให้ชีวิตในเรือนจำเป็นประสบการณ์ในทางบวกสำหรับผู้ต้องขัง และมีพลังชีวิตมีกำลังใจผ่านอุปสรรคต่างๆเพื่อชีวิตที่ดีมีคุณภาพเมื่อพ้นโทษ
และในฐานะ ผู้ฝึกสอนโยคะให้ผู้ต้องขังหญิง ผศ.ธีรวัลย์ บอกเหตุที่เลือกโยคะมาเป็นหนึ่งในกิจกรรม เพราะส่วนตัวเมื่อเวลาทำงานและเกิดความเครียด ได้ทดลองเล่นโยคะ ความเครียดหายไป และสุขภาพดีขึ้น อีกทั้งโยคะช่วยให้มีสมาธิ สติ การอยู่กับตัวเอง คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ต้องขังได้ ดังนั้นในช่วงปี 2555 ที่ทำแบบสอบถามในเรือนจำมีผู้ต้องขังคนเดียวที่รู้จัก แต่เราก็ลองเปิดรับดูเผื่อมีใครสนใจโยคะ
“เริ่มแรกมีคนเข้ามาสมัครเยอะมาก แต่พอเริ่มเรียนเริ่มฝึกเขาก็เจ็บปวดตามร่างกาย ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ช่วงแรกจะต้องเป็นกัน เราก็สอนเขา ให้กำลังใจสุดท้ายแล้วถ้าใครที่ผ่านมาได้เราก็ดีใจไปกับเขา ไปกับรอยยิ้มของเขา” ผศ.ธีรวัลย์ กล่าว
ในอนาคตโครงการเรือนจำสุขภาวะกำลังจะพัฒนาไปจากผู้ต้องขังหญิง ไปในส่วนของผู้ต้องขังชาย ซึ่งจะต้องมีการปรับกิจกรรมต่างๆ ให้มีรูปแบบตามความเหมาะสมต่อไป
กิจกรรม- ผลงานผู้ต้องขัง