สนช.เห็นชอบผ่าน "ร่างพ.ร.บ.ตำรวจศาล"
"โฆษกศาลฯ" เผย สนช.ผ่านแล้ว ร่างพ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล มีอำนาจตามจับผู้ต้องหา - จำเลยหนีหมาย - ขัดคำสั่งเงื่อนไขศาล งบปีแรกกว่า 22 ล้าน จัดให้ได้ 40 อัตรา
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2562 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติผ่านความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ เจ้าพนักงานตำรวจศาล พ.ศ.... แล้ว และเห็นสมควรให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งในขั้นตอนต่อไป สนช. จะส่งร่าง พ.ร.บ.ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ขณะที่ โฆษกศาลยุติธรรม ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ สำหรับการดำเนินการจัดให้ เจ้าพนักงานตำรวจศาล ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยและติดตามจับกุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนีหมายจับด้วยว่า การเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานในกระบวนการยุติธรรม ทั้งในเรื่องที่อาจมีสถานการณ์อันอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ของผู้พิพากษาในการอำนวยความยุติธรรมและกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นศาล กับหลบหนีคดีรวมทั้งกรณีที่มีผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของศาลที่ถูกออกหมายจับแล้วแต่ยังไม่สามารถจับกุมได้ ซึ่งส่งผลให้กระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีเกิดความล่าช้า โดยที่ผ่านมาในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีเพียงสำนักงานรักษาความปลอดภัยที่มีการจัดกำลัง รปภ.ดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยบริเวณศาลเท่านั้น ซึ่งการเสนอให้มีผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าพนักงานศาล ก็เป็นการยกระดับสำนักงานรักษาความปลอดภัย ที่ให้มีภารกิจเพิ่มขึ้นในการจัดสรรกำลังคนที่เรียกว่า เจ้าพนักงานตำรวจศาล โดยผู้นั้นต้องมีคุณสมบัติมีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ไม่เป็นข้าราชการการเมือง เป็นต้นนั้น ซึ่งจะสนับสนุนต่อการพิจารณาพิพากษาคดีให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในส่วนของการติดตามจับกุมผู้หลบหนีหมายจับในชั้นศาล รวมทั้งการรักษาความ ความปลอดภัยให้แก่ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม (ผู้พิพากษา)
โฆษกศาลยุติธรรม ยังย้ำว่า จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตลอดจนรักษาความปลอดภัย ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจดำเนินการได้ทันท่วงที และเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหาย หรือภยันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชน คู่ความ หรือบุคลากรของศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลยุติธรรมในบริเวณศาลและอาคารสถานที่ของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม และทำให้การอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมาขึ้น
สำหรับการเตรียมความพร้อมภายในทั้งงบประมาณ อัตรากำลัง และครุภัณฑ์ที่จำเป็นนั้น สํานักงานศาลยุติธรรมมีความพร้อมและสามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีหลังจากมีการประกาศใช้เป็นกฎหมาย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับดำเนินการ ทั้งในส่วนของบุคลากร , คุรุภัณฑ์ และการบริหารจัดการ ในปีแรกจัดวงเงินไว้ 22.18 ล้านบาท โดยช่วง 3 ปีแรกตั้งเป้าจัดอัตรากำลังไว้ที่ 40 อัตรา จากนั้นก็จะขยายอัตรากำลังเพิ่มขึ้นจนสุดท้ายครบ 109 อัตราในปีที่ 5 ซึ่งงบประมาณทั้งหมดวงเงิน 316.98 ล้านบาท ส่วนเนื้อหาในร่างกฎหมายดังกล่าว มีทั้งสิ้น 11 มาตรา โดยสาระสำคัญที่น่าสนใจ การกำหนดอำนาจหน้าที่ เจ้าพนักงานตำรวจศาล อยู่ใน มาตรา 5 บัญัติให้เจ้าพนักงานตำรวจศาลมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(1) รักษาความสงบเรียบร้อยและรักษาความปลอดภัยบุคคลและทรัพย์สินในบริเวณศาล (2) ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในบริเวณศาล (3) รักษาความปลอดภัยและคุ้มครองข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พนักงานและลูกจ้างของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่ รวมทั้งอาคารสถานที่ และทรัพย์สินของศาลและสำนักงานศาลยุติธรรม (4) ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการแจ้งให้พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจับผู้ต้องหา หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยชั่วคราวโดยศาลแล้วหนีหรือจะหลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นที่ไม่สามารถ ขอความช่วยเหลือจากพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจได้ทันท่วงที ก็ให้มีอำนาจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นได้ และเมื่อจับได้แล้ว ให้นำผู้ถูกจับไปยังศาลโดยเร็ว (5) เมื่อศาลได้ออกหมายจับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งศาล ให้ศาลมีคำสั่ง ตั้งเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้จัดการตามหมายจับ และหากศาลเห็นสมควร ศาลอาจให้พนักงาน ฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้จัดการตามหมายจับด้วยโดยมีเจ้าพนักงานตำรวจศาลเป็นผู้สนับสนุนก็ได้
ขณะที่ มาตรา 6 ระบุให้ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล ต้องมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (2) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ (3) เป็นผู้เลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (4) ไม่เป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น (5) ไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ในพรรคการเมือง (6) มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามอื่นตามที่กำหนดในระเบียบคณะกรรมการ ข้าราชการศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม ให้เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มี ลักษณะต้องห้ามตามวรรคหนึ่งและผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรที่คณะกรรมการข้าราชการศาลยุติธรรม ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมประกาศกำหนดเป็นเจ้าพนักงานตำรวจศาล
ขณะที่ มาตรา 8 ระบุให้ การใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาล อันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นเรื่องความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ให้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม และเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 9 ระบุ ให้สำนักงานศาลยุติธรรม ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์เช่นเดียวกับราชการทหารและตำรวจ ตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งนี้การมีและใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนฯ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรมกำหนด โดยที่ มาตรา 10 ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานตำรวจศาล เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และให้มีหน้าที่และอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจตามประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ติดตามดูรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.เจ้าพนักงานตำรวจศาล ได้ที่นี่ http://www.jla.coj.go.th/doc/data/jla/jla_1549594757.pdf
ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/politic/361878