กาง รธน.จะเป็นนายกฯต้องมีคุณสมบัติอะไร-เส้นทางเชิญ ‘คนนอก’ทำอย่างไร?
“…มาตรา 159 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ระบุว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค สรุปคือ หากบุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะไม่สามารถเป็นนายกฯได้ เนื่องจากคุณสมบัติของนายกฯ ตามมาตรา 160 มีการอ้างอิงถึงข้อห้ามตามคุณสมบัติ ส.ส. ตามมาตรา 98 ที่มีการระบุเรื่อง การไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย...”
ประเด็นเรื่องนายกรัฐมนตรี ‘คนนอก’ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอีกครั้งในช่วงเวลาไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดให้ส่งรายชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรค
โดยเฉพาะกรณีของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ที่ไม่มีชื่อใน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคเพื่อไทย แต่ยังมีชื่อเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯของพรรค ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัยเกษม นิติสิริ จนถูกบางฝ่ายตั้งคำถามว่า กรณีนี้ถือเป็น ‘นายกฯคนนอก’ หรือไม่ ?
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เรื่อยมาจนรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดไว้ชัดเจนว่า นายกฯ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น
ต่อมาช่วงร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 (ฉบับปัจจุบัน ที่ร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.) เดิมทีตามร่างแรกไม่ได้มีการเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าให้มี ‘นายกฯคนนอก’ ได้ คนจะเป็นนายกฯต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองเท่านั้น
แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่เห็นด้วย จึงมีข้อเสนอไปยัง กรธ. ให้ปรับเปลี่ยน โดยอ้างว่า หากเกิดเหตุการณ์ไม่มีเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภา ทำให้เลือกนายกฯไม่ได้ จะทำให้การบริหารบ้านเมืองติดขัด จึงจำเป็นต้องเปิดช่องให้มีการเลือกนายกฯนอกบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองได้ หรือที่เรียกกันว่า ‘นายกฯคนนอก’ นั่นเอง
อย่างไรก็ดีประเด็นนี้ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่า ที่แท้จริงคือต้องการเปิดช่องให้ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคนปัจจุบัน และหัวหน้า คสช. สามารถเข้ามาเป็นนายกฯได้ โดยไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. นั่นเอง ?
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้มีอยู่ 2 ประเด็น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ดังนี้
หนึ่ง จะเป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง ?
มาตรา 160 ระบุว่า รัฐมนตรี (หรือนายกรัฐมนตรี) ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่า มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่สิ้นสุด หรือมีการรอลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท
ประเด็นสำคัญคือต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (คุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส.) กล่าวคือ ติดยาเสพติดให้โทษ เป็นบุคคลล้มละลาย เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ต้องคำพิพากษาของศาลในคดีเกี่ยวการทุจริต หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าทีราชการ การฉ้อโกงประชาชน หรือกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด หรือถูกพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ และกรณีอยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
ประเด็นการถูกระงับการใช้สิทธิหรือถูกเพิกถอนการใช้สิทธิการเลือกตั้งนั้น ย้อนกลับไปมาตรา 95 วรรคสาม ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยมิได้แจ้งเหตุอันควรตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. อาจถูกจำกัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ
ทั้งนี้ตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ระบุว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันสมควร ผู้นั้นถูกจำกัดสิทธิ คือ สมัครเป็น ส.ส. สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครเป็น ส.ว.
ขณะที่มาตรา 159 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ในส่วนการโหวตเลือกนายกฯ ระบุว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และอยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค
สรุปคือ หากบุคคลใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จะไม่สามารถเป็นนายกฯได้ เนื่องจากคุณสมบัติของนายกฯ ตามมาตรา 160 มีการอ้างอิงถึงข้อห้ามตามคุณสมบัติ ส.ส. ตามมาตรา 98 ที่มีการระบุเรื่อง การไปใช้สิทธิเลือกตั้งด้วย
สอง ‘นายกฯคนนอก’ สามารถจำแนกได้ 2 ส่วน
ประการแรก นายกฯในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง แต่ไม่ได้เป็น ส.ส. โดยกรณีนี้ข้อเท็จจริงถือว่า ยังเป็น ‘นายกฯคนใน’ อยู่ แม้จะมีบางฝ่ายค่อนแคะว่า นายกฯที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. ถือว่าเป็นนายกฯคนนอกก็ตาม สาเหตุที่ยังเป็นนายกฯคนใน เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญมาตรา 88 ระบุว่า ในการเลือกตั้งทั่วไป ให้พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแจ้งรายชื่อบุคคลซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 3 รายชื่อต่อ กกต. ก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้ กกต. ประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวให้ประชาชนทราบ และให้นำความในมาตรา 87 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และพรรคการเมืองจะไม่เสนอชื่อบุคคลใดเลยก็ได้
โดยมาตรา 87 วรรคสอง คือ กรณีเมื่อมีการสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพรรคการเมืองจะถอนการสมัครรับเลือกตั้ง หรือเปลี่ยนแปลงผู้สมัครรับเลือกตั้งได้เฉพาะกรณีมีผู้สมัครรับเลือกตั้งตาย หรือขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม และต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง
หรืออธิบายง่าย ๆ คือ หากพรรคเห็นว่า บุคคลที่ถูกใส่ในบัญชีรายชื่อนายกฯ อาจขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม สามารถเปลี่ยนแปลงรายชื่อได้ จนกว่าจะปิดการรับสมัคร
หลังจากใส่ชื่อบุคคลในบัญชีรายชื่อนายกฯแล้ว ถึงคิวมาตรา 159 ระบุว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกฯจากบุคคลที่มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และต้องเป็นบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา 88
ประการถัดมา ‘นายกฯคนนอก’ ที่แท้จริงมาได้อย่างไร ?
สำหรับขั้นตอนการเลือกนายกฯตามปกติคือ มาตรา 159 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ระบุว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรค โดยนับเฉพาะพรรคที่ได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จำนวน ส.ส. เท่าที่มีอยู่ทั้งหมด และการเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด และต้องลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยผู้ที่จะเป็นนายกฯต้องได้รับคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
อย่างไรก็ดีในบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ระบุว่า ระหว่าง 2 ปีแรกนับตั้งแต่วันที่มีรัฐสภาชุดนี้ตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกฯ ให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบนั้น ให้กระทำในที่ประชุมร่วมของรัฐสภา และมีมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกฯ ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่
บทเฉพาะกาลมาตราดังกล่าว ยังระบุอีกว่า หากเกิดกรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกฯจากผู้มีชื่อในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามมาตรา 88 ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ ส.ส. และ ส.ว. รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ 376 เสียง เพื่อเสนอชื่อต่อประธานรัฐสภาให้ยกเว้นไม่ต้องเสนอชื่อจากบัญชีรายชื่อนายกฯพรรคการเมืองก็ได้ หลังจากนั้นทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 หรือไม่น้อยกว่า 500 เสียง เพื่อทำการยกเว้น
หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายคือ การได้มาซึ่ง 'นายกฯคนนอก' แบ่งเป็น 2 ขยัก
ขยักแรก คำว่าที่ประชุมร่วมของรัฐสภาหมายความว่า ใช้เสียง ส.ส. ที่การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวน 500 ราย รวมกับจำนวน ส.ว. ที่ถูกกำหนดไว้ 250 ราย รวมเป็น 750 ราย และดังนั้นการขอให้ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อโหวต ขอให้โหวตงดเว้นไม่ต้องเลือกนายกฯจากบัญชีรายชื่อพรรค ต้องได้เสียง ส.ส. อย่างเดียว หรือ ส.ส. + ส.ว. ก็ได้ รวมกันเกิน 376 เสียง
ขยักต่อมา จะเป็นการโหวตเพื่อขอให้สภายกเว้นไม่ต้องโหวตเลือกนายกฯจากบัญชีพรรค โดยต้องได้เสียงจากที่ประชุมร่วม 2 สภาไม่น้อยกว่า 500 เสียง จาก 750 เสียง
หากผ่าน 2 ขั้นตอนนี้ จึงสามารถเสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกบัญชีรายชื่อนายกฯพรรค หรือ ‘นายกฯคนนอก’ เข้ามาโหวตเลือกกันอีกครั้ง
นี่คือ 2 ประเด็นหลัก ๆ ที่กำลังถกเถียงกันอย่างร้อนแรงตั้งแต่สภากาแฟ ยันโลกออนไลน์ ก่อนที่จะถึงเส้นตายกำหนดส่งแคนดิเดตนายกฯของพรรค ในวันที่ 8 ก.พ. 2562
อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 คลิกที่นี่
อ่าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 คลิกที่นี่
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/