57 องค์กรส่งจดหมายเปิดผนึกพิจารณาปล่อยตัวนายฮาคีม อัล-อราบี-ไม่ส่งกลับบาห์เรน
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายเปิดผนึกให้พิจารณาปล่อยตัวนายฮาคีม อัล-อราบี-ไม่ส่งกลับเผชิญอันตรายบาห์เรน
สืบเนื่องจากทางการไทยได้จับกุมตัวนายฮาคีม อาลี โมฮัมหมัด อาลี อัล อาไรบี (Mr. Hakeem Ali Mohamed Ali Alaraibi) อดีตนักฟุตบอลทีมชาติบาห์เรนไว้ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2561 หลังจากที่นายฮาคีมและภรรยาได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นการจับกุมตามหมายแดง (Red Notice) ของตำรวจสากล (INTERPOL) ซึ่งเป็นการออกตามคำขอของทางการบาห์เรน ต่อมาหมายจับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากขัดกับนโยบายของตำรวจสากล ที่ห้ามการออกหมายจับของรัฐบาลต่อผู้ลี้ภัยที่หลบหนีการประหัตประหารมาจากประเทศที่ขอออกหมายจับ
หลังจากการถูกจับกุมนายฮาคีมถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตามคำสั่งของศาลอาญา มาตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 จนกระทั่งปัจจุบัน เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา ศาลอาญาเบิกตัวเขามาสอบถามความยินยอมส่งตัวกลับประเทศบาห์เรนเป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามคำร้องของพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดที่ได้ร้องขอให้ศาลส่งตัวเขากลับประเทศบาห์เรนตามคำขอของประเทศบาห์เรน ซึ่งนายฮาคีมได้คัดค้านคำร้องดังกล่าว โดยทีมทนายความของเขาได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำคัดค้านออกไป 60 วัน ในการเบิกตัวเขามาศาล ปรากฏภาพตามสื่อมวลชนว่าเขาได้ถูกพันธนาการด้วยการใส่เครื่องพันธนาการที่เท้า ซึ่งเข้าข่ายเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งที่เขาไม่ได้เป็นอาชญากรร้ายแรง เป็นเพียงผู้ลี้ภัยและไม่ได้กระทำความผิดใดๆ ในประเทศไทย
องค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ เห็นว่า
1. ทางการไทยควรพิจารณาไม่ส่งตัวนายฮาคีมกลับไปยังประเทศบาห์เรน มีเหตุผลทางกฎหมาย และหลักการสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 2 ประการ คือ
1.1 ตามหลักทั่วไปในการส่งผู้ร้ายข้ามแดน พระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 ของไทย กำหนดไว้ชัดเจนว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนต้องมิใช่ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง เมื่อปรากฏว่ากรณีนี้ นายฮาคีมถูกดำเนินคดีในประเทศบาห์เรนท์อันเป็นผลมาจากข้อกล่าวหาที่เกี่ยวพันธ์กับการเคลื่อนไหวคัดค้าน หรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลบาห์เรน แม้เขาจะถูกกล่าวหาในความผิดฐานอื่นด้วย แต่ข้อหาดังกล่าวก็เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง ดังนั้น ย่อมไม่อยู่ในข่ายที่จะส่งตัวเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนตามคำขอของรัฐบาลบาห์เรนได้
1.2 ประเทศไทยผูกพันตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (Non-Refoulement) ซึ่งเป็นหลักการสำคัญทั้งในกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่เรียกร้องให้ไม่ส่งกลับผู้แสวงหาที่ลี้ภัยและต้องไม่ขับไล่หรือผลักดันกลับออกไปหรือส่งบุคคลไปยังอีกรัฐหนึ่งเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตราย มีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าจะถูกประหัตประหาร ถูกทรมาน หรือได้รับการปฏิบัติที่โหดร้าย หรือถูกคุกคาม เอาชีวิต รวมทั้งอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ยังห้ามไม่ให้รัฐบาลส่งบุคคลกลับหรือส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศใดๆ กรณีมีเหตุอันน่าเชื่อถือว่าบุคคลนั้นจะได้รับอันตรายจากการทรมาน ดังนั้น เมื่อปรากฏว่านายฮาคีมเคยถูกซ้อมทรมานและถูกดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมในประเทศบาห์เรนมาแล้ว จึงมีเหตุอันควรเชื่อหรือความเสี่ยงที่หากเขาถูกส่งตัวกลับไป อาจจะถูกซ้อมทรมานหรือปฏิบัติที่โหดร้ายเช่นเดิมได้
2. การให้ความคุ้มครองตามหลักประกันการพิจารณาคดีอย่างเป็นแก่นายฮาคีม ในระหว่างรอการนัดพิจารณาคำร้องขอส่งตัวนายฮาคีมตามพระราชบัญญัติส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่จะมีขึ้นในเดือนเมษายน 2562 นี้ อย่างน้อยกระบวนการยุติธรรมไทยก็ควรเคารพและคุ้มครองสิทธิของเขาในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะสิทธิที่จะได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และไม่ปฏิบัติต่อเขาเสมือนเป็นผู้กระทำความผิด อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งถูกรับรองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 9 และ 14 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 29
องค์กรที่มารายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกนี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้
1.เพื่อลดผลกระทบที่อาจมีเพิ่มขึ้นแก่นายฮาคีมและเป็นการคุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการสันนิฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ของเขาควรมีการพิจารณาเรื่องการปล่อยชั่วคราวของเขาในระหว่างรอการพิจารณา หรือควบคุมตัวในรูปแบบอื่นที่มีผลกระทบน้อยกว่า
2.ปัจจุบันกรณีของนายฮาคีมจะอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลในคดีส่งผู้ร้ายข้ามแดนองค์กรในกระบวนการยุติธรรมจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพนักงานอัยการซึ่งมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล อาจจะพิจารณาใช้อำนาจตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ถอนฟ้องคดีเพราะจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ และองค์กรตุลาการ ควรพิจารณาคดีโดยคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการไม่ส่งกลับ เพราะกรณีนี้มีหลักฐานที่ระบุได้ว่าเป็นการขอส่งตัวกลับในความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองและเสี่ยงที่ผู้ถูกส่งตัวกลับจะเผชิญกับอันตรายดังที่เคยได้รับ
3.รัฐบาลไทยต้องไม่ดำเนินการหรือสนับสนุนการส่งกลับนายฮาคีมไปเผชิญอันตรายยังประเทศผู้ร้องขอ และปล่อยให้เดินทางกลับไปยังประเทศออสเตรเลีย
1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
2. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
3. สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง
4. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
5. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
6. มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน
7. มูลนิธิศักยภาพชุมชน
8. มูลนิธิอุ่นรักษ์เพื่อพัฒนาเด็ก
9. มูลนิธิก้าวหน้าพัฒนา
10. มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์
11. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
12. เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
13. กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง (กสรก.)
14. ตั้งใจธรรมสำนักงานกฎหมาย
15. กลุ่มด้วยใจ
16. โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
17. กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา
18. นายรัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ
19. นายสุรชัย ตรงงาม ทนายความ
20. นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ทนายความ
21. นางสาวส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความ
22. นางสาวเยาวลักษ์ อนุพันธุ์ ทนายความ
23. นางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ
24. นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความ
25. นายพนม บุตะเขียว ทนายความ
26. นายทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความ
27. นายกฤษดา ขุนณรงค์ ทนายความ
28. นางสาววราภรณ์ อุทัยรังษี ทนายความ
29. นายมนตรี อัจฉริยสกุลชัย ทนายความ
30. นางสาวพิชญุตา ธนพิทชัย ทนายความ
31. นางสาวคุณัญญา สองสมุทร ทนายความ
32. นายอานนท์ นำภา ทนายความ
33. นายธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความ
34. นายพิชัย นวลนภาศรี ทนายความ
35. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว ทนายความ
36. นางสาวอุบลวรรณ บุญรัตนสมัย นักกฎหมาย
37. นางสาวอัญญาณี ไชยชมพู นักกฎหมาย
38. นายสนธยา โคตปัญญา นักกฎหมาย
39. นายบัณฑิต หอมเกษ นักกฎหมาย
40. นายปภพ เสียมหาญ นักกฎหมาย
41. นางสาวภัทรานิษฐ์ เยาดำ นักกฎหมาย
42. นางสาวอิศสิยาภรณ์ อินทพันธุ์ นักกฎหมาย
43. นางสาวนิจนิรันดร์ อวะภาค อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
44. นายสงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ นักวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
45. นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
46. นางสาวหทัยกานต์ เรณูมาศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
47. นางสาวธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
48. นางสาววิภาวรรณ คูณทวีลาภผล นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
49. นางสาวกรกนก คำตา นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
50. นายบดินทร์ สายแสง สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
51. อาจารย์ ดร. ดำเกิง โถทอง คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์
52. นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา
53. นายสาคร สงมา
54. นางไพรัตน์ จันทร์ทอง
55. นายณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช
56. นายประพจน์ ศรีเทศ
57. นางสาวเบญจพร บัวสำลี
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก BBC.com