เลือกตั้ง 62 กับความเป็นไปได้ พรรคชูนโยบาย “สร้างความปลอดภัยทางถนน” ตั้งศูนย์เฉพาะ
เช็คอุณหภูมินโยบายหาเสียง ช่วงเลือกตั้ง 62 ยังไร้พรรคชู “ความปลอดภัยทางถนน” เครือข่ายฯ ยื่น 3 ข้อเสนอ แก้ปัญหา เน้นตั้งหน่วยงานองค์กรนำ บริหารจัดการเฉพาะ หวังการเมืองขานรับ
ไทยกำลังกลับเข้าสู่โหมดบรรยากาศการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง หลังจากประเทศติดหล่มในการบริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มานานตั้งแต่กลางปี 2557
แน่นอนว่า พรรคการเมืองต่างใช้ช่วงระยะเวลานี้ชูแข่งขันประชันนโยบาย เพื่อกวาดคะแนนเสียงครองสัดส่วนในสภามากที่สุด แต่กลับไร้นโยบายเกี่ยวกับ “การสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน” บรรจุไว้อย่างเป็นรูปธรรม
‘วิทยา ชาติบัญชาชัย’ ผู้เชี่ยวชาญในคณะที่ปรึกษาขององค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บ (WHO expert advisory panel on injury and violence prevention and control) พร้อมด้วย ‘วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์’ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน และภาคีเครือข่าย
เคยมีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ให้เร่งมีนโยบายพรรคในการจัดตั้งหน่วยงานองค์กรนำ (Lead agency) ด้านการบริหารจัดการและวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ โดยอาจแยกไปจัดตั้งเป็นหน่วยงานอีกหน่วยหนึ่งหรือยกระดับอำนาจหน้าที่ของศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม
รวมถึงมีนโยบายลงทุนเพื่อควาปลอดภัยอย่างชัดเจน และประกาศให้การแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระสำคัญและพิจารณาเรื่องความปลอดภัยทางถนนเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนของพรรค
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยืนยันว่าประเทศไทยต้องสูญเสียจากอุบัติเหตุคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาท/ปี ในช่วงปี 2554-2556
อีกทั้งไทยยังมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงสุดเป็นอันดับที่สามและสองของโลกจากรายงานองค์การอนามัยโลกในปี 2556 และในปี 2558 ตามลำดับ
แม้ในรายงานปี 2560 จะลดระดับลงเป็นอันดับที่ 9 ของโลก แต่จากรายงานล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยยังเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรในปี 2559 สูงถึง 22,356 คน ส่วนใหญ่ของผู้ประสบอุบัติเหตุอยู่ในวัย 15-24 ปี ผู้บาดเจ็บหนักที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลกลายเป็นผู้พิการถาวรถึงร้อยละ 4.6
ฝ่ายธนาคารโลกได้ออกรายงานฉบับล่าสุด THE HIGH TOLL OF TRAFFIC INJURIES: Unacceptable and Preventable โดยยกตัวอย่างประเทศไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศว่าหากสามารถลดการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรลงได้ครึ่งหนึ่งภายในระยะเวลา 28 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมี GDP เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 22.1 เมื่อเทียบกับปี 2557
พร้อมเสนอควรจัดตั้งองค์กรนำดำเนินการเรื่องนี้โดยเฉพาะ มีแผนระดับชาติที่สอดคล้องกับปัญหา มีการลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนด้วย
สำหรับระดับนานาประเทศ องค์การสหประชาชาติในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN General Assembly) ที่นครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2561 ได้รับรองเป้าหมายระดับโลกด้านความปลอดภัยทางถนน 12 ข้อ โดยตัวชี้วัดของเป้าหมายข้อที่ 1 มีข้อเสนอแนะให้ประเทศต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการจัดให้มีหน่วยงานองค์กรนำ (Lead agency) ด้านการบริหารจัดการและวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน และแนะนำให้ทุกประเทศดำเนินการภายในปี 2563
โดยการลงทุนเพื่อยกระดับความมาตรฐานความปลอดภัยของถนน องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) มีข้อแนะนำว่าควรอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ของ GDP ซึ่งในส่วนของประเทศไทยตัวเลขจะเป็นประมาณกว่า 1 แสนล้านบาท/ปี โดยจะได้ผลตอบแทนต่อการลงทุนประมาณ 8 เท่า
...............................................................
ความพยายามจะให้มีหน่วยงานองค์กรนำด้านการบริหารจัดการและวิชาการด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร จึงควรเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองที่ไม่ควรละเลย ในเมื่อในรัฐบาล คสช. ที่มีอำนาจเต็ม กลับไม่คืบหน้า จึงต้องหวังพึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยแทน ดังนั้นต้องวัดใจว่า จะมีพรรคการเมืองใดกล้าลุกขึ้นมาขานรับนโยบายนี้หรือไม่? .
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/