เปิดชื่อผู้สมัคร 30 ส.ส.กทม.วิเคราะห์สังเวียนเดือด ‘พปชร. VS พท. VS ปชป.’ ชิงดำ
“…เขตหนึ่งที่น่าจะสนุกไม่แพ้กันคือ เขต 26 เขตบางบอน เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) ที่ผู้ท้าชิงมีชื่อชั้นพอ ๆ กัน แชมป์เก่าคือ พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ต้องสู้กับคู่แข่งคนสำคัญคือนายวัน อยู่บำรุง เซเลปชื่อดังของพรรคเพื่อไทย ที่ตอนปี 2554 แพ้ให้ พ.ต.อ.นพ.สามารถ แค่เพียงพันคะแนนเท่านั้น ส่วนอีกรายมาจากพรรคพลังประชารัฐ คือ นายวัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์…”
ในที่สุดก็ถึงคิวรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. วันแรก แม้บรรยากาศจะคึกคักน้อยกว่าปีก่อน ๆ เนื่องจาก ‘กฎเหล็ก’ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกโรงเตือน ให้ระวังเรื่องรถแห่หาเสียง อาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ได้ โดยอ้างคำพิพากษาจากศาลด้วย
โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ กทม. บรรดาแกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ทยอยนำว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. มาสมัครกับ กกต. พร้อมจับสลาก ทั้งนายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นต้น
นอกจากนี้มีหลายคนมารถโดยสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น ‘คุณหญิงหน่อย’ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ซ้อนท้ายมอเตอร์ไซค์วินมา เหมือนกับ ‘ไอติม’ พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ ‘ไพร่หมื่นล้าน’ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โหนรถเมล์สาย 24 มาที่สนามกีฬากรุงเทพฯ (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เพื่อนำสมาชิกมาสมัครเช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ : กกต.เปิดรับสมัคร ส.ส.วันแรก พร้อมแค่ 49 พรรค-คนดังพรึบนั่งมอเตอร์ไซค์วิน-รถเมล์)
อย่างไรก็ดีหากโฟกัสเขตเลือกตั้งเฉพาะพื้นที่ กทม. ที่คราวนี้ กกต. ‘หั่นใหม่’ จนถูกนักการเมืองหลายรายวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ไม่เข้าท่า’ จากเดิมเมื่อปี 2554 มี 33 เขต ลดลงเหลือแค่ 30 เขตเท่านั้น การขับเคี่ยวทางการเมืองระหว่างพรรคจึงยิ่งร้อนแรงมากขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อมีพรรคใหม่อย่างพรรคพลังประชารัฐ ถูกจัดตั้งขึ้นมา ใช้ ‘พลังดูด’ กวาดต้อนอดีต ส.ส.-นักการเมืองดังหลายรายเข้าค่าย อาจะแบ่งคะแนนจาก 2 พรรคใหญ่ที่ครองพื้นที่ กทม. มายาวนานอย่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ได้ ?
ในการเลือกตั้ง ส.ส. กทม. ปี 2562 พรรคไหน ส่งใคร ‘ชน’ กันบ้าง สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org สรุปให้ทราบดังนี้
พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคพลังประชารัฐ ส่งครบ 30 เขต ส่วนพรรคเพื่อไทยส่งเพียง 22 เขต ตามยุทธศาสตร์ ‘แยกกันเดิน ร่วมกันตี’ โดยเขตที่ค่อนข้างร้อนแรง ส่วนใหญ่อยู่ในฟากกรุงเทพฯตะวันออก ซึ่งส่วนใหญ่เป็น ‘โซนสีแดง’ เช่น เขตมีนบุรี พรรคเพื่อไทยส่งแชมป์เก่าหลายสมัยอย่าง นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ลงซดกับนายชาญวิทย์ วิภูศิริ ที่ย้ายจากพรรคประชาธิปัตย์ มาอยู่พรรคพลังประชารัฐ โดยเมื่อปี 2554 นายวิชาญ ชนะนายชาญวิทย์ แค่ 3 พันคะแนนนิด ๆ เท่านั้น ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ส่งนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ทายาทอภิมหาเศรษฐีหมื่นล้านบาท ลูกชายนายกิตติ ธนากิจอำนวย เจ้าของยักษ์ใหญ่อสังหาริมทรัพย์อย่าง ‘เครือโนเบิล’ มาท้าชิง โดยช่วงปี 2556-2557 นายธนัตถ์ ได้ร่วมม็อบนกหวีด กปปส. จนได้ฉายา ‘ไฮโซนกหวีด’ ด้วย
ส่วนเขตคลองสามวา แชมป์เก่าอย่างนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ของพรรคเพื่อไทย ถูกท้าชนด้วย 2 ผู้สมัครชื่อดัง อย่าง น.ส.เกศกานดา อินช่วย จากพรรคพลังประชารัฐ บุตรสาว นายวิรัช อินช่วย คนดังย่านคลองสามวา เป็นอดีต ส.ก.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตสภาเขตคลองสามวา ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ส่งนางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง น้องสาวนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตแกนนำคนสำคัญของพรรค และอดีตเลขาธิการอาเซียน เข้าท้าชิงด้วย ขณะทีเขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ชื่อชั้นยังอยู่ที่แชมป์เก่าอย่าง นายธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และนายไพโรจน์ อิสรเสรีพงษ์ แห่งพรรคเพื่อไทย
ถัดมากรุงเทพฯกลาง ส่วนใหญ่เป็น ‘โซนสีฟ้า’ เช่น เขต 6 เขตพญาไท เขตราชเทวี เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เขตจตุจักร ยังคงเหนียวแน่น หากเทียบชื่อชั้นกับ นายประพนธ์ เนตรรังสี แห่งพรรคเพื่อไทย และนางภาดาท์ วรกานนท์ แห่งพรรคพลังประชารัฐ
ขณะที่เขต 8 เขตลาดพร้าว เขตวังทองหลาง (ยกเว้นแขวงพลับพลา) นายสรรเสริญ สมะลาภา อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ยังคงยืน เพราะพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนเกมเอา ‘ผู้กองเจี๊ยบ’ ร.อ.สุณิสา ทิวากรดำรง ที่ฐานเสียงหลักอยู่เขตบางแค มาลงในพื้นที่เขตลาดพร้าว ทำให้อาจเพลี้ยงพล้ำสู้ฐานเสียงของนายสรรเสริญที่ยึดพื้นที่นี้อย่างเหนียวแน่นไม่ได้
เขตที่น่าจะสู้กันมีสีสัน ได้แก่ เขต 9 เขตหลักสี่ เขตจตุจักร (ยกเว้นแขวงจตุจักร และแขวงจอมพล) โดยเขตนี้เป็นฐานที่มั่นของนายสุรชาติ เทียนทอง บุตรชายนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย เป็นแชมป์เก่า โดยมีผู้ท้าชิงที่น่าสนใจคือ นายสิระ เจนจาคะ ผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการของม็อบ กปปส. เวทีแจ้งวัฒนะ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ส่ง พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือ ‘ผู้การแต้ม’ อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. (ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร) มาสู้
สำหรับพื้นที่ฝั่งธนบุรี เช่น เขต 24 เขตราษฎร์บูรณะ เขตทุ่งครุ และเขต 25 บางขุนเทียน ตระกูล ‘ม่วงศิริ’ ครองพื้นที่อยู่แล้ว และคราวนี้ก็คงไม่พลาด โดยเขต 24 นายสาทร ม่วงศิริ อดีต ส.ก.ประชาธิปัตย์ ลงสมัคร สู้กับผู้สมัครใหม่แกะกล่องของพรรคพลังประชารัฐ คือ นายไกรเสริม โตทับเที่ยง ทายาทนักธุรกิจพันล้าน เจ้าของเครือ ‘ปุ้มปุ้ย’ ส่วนเขต 25 นายสากล ม่วงศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ลงสมัครเช่นเดียวกัน
ส่วนเขต 28 บางแค เป็นที่น่าเซอร์ไพรส์ที่ปรากฏชื่อ นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ถูกพรรคเพื่อไทยส่งลง ส.ส.เขตใน กทม. ครั้งแรก จากเดิมที่เคยเป็นอดีต ส.ส.ปราจีนบุรี เมื่อปี 2539 โดยพรรคเพื่อไทยส่งนายวัฒนาแทน ‘ผู้กองเจี๊ยบ’ เจ้าของพื้นที่เดิมด้วย โดยต้องสู้กับ นางอรอนงค์ คล้ายนก ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์
อีกเขตหนึ่งที่น่าจะสนุกไม่แพ้กันคือ เขต 26 เขตบางบอน เขตหนองแขม (เฉพาะแขวงหนองแขม) ที่ผู้ท้าชิงมีชื่อชั้นพอ ๆ กัน แชมป์เก่าคือ พ.ต.อ.นพ.สามารถ ม่วงศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ต้องสู้กับคู่แข่งคนสำคัญคือนายวัน อยู่บำรุง เซเลปชื่อดังของพรรคเพื่อไทย ที่ตอนปี 2554 แพ้ให้ พ.ต.อ.นพ.สามารถ แค่เพียงพันคะแนนเท่านั้น ส่วนอีกรายมาจากพรรคพลังประชารัฐ คือ นายวัชระ กรรณิการ์ อดีตโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
นี่คือเขตพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ ๆ เมื่อดูจากรายชื่อผู้สมัครของทั้ง 3 พรรคแล้ว น่าจะ ‘ชิงเก้าอี้’ กันได้อย่าง ‘ถึงพริกถึงขิง’
ส่วนท้ายที่สุดใครจะ ‘เข้าวิน’ คงต้องรอหลังวันที่ 24 มี.ค. 2562
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
รายชื่อผู้สมัคร ส.ส. พื้นที่ กทม. ทั้ง 30 เขต ของพรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์