ปชช.ที่ไม่เคยเลือกตั้ง 84.93% ชี้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแน่นอน
นิด้าโพลเผย คนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยเลือกตั้ง 84.93% ระบุไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จะถึงนี้แน่นอน ส่วนใหญ่ยังไม่แน่ใจว่าอยากให้พรรคไหนเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ระบุ นโยบายหยุดวิกฤติเศรษฐกิจทุกชนชั้น คือนโยบายที่ได้ใจคนรุ่นใหม่
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 30 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2562 จากประชาชนผู้ที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี (ผู้ที่เกิดระหว่างปีพ.ศ. 2537 – พ.ศ. 2544) กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,254 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรกของผู้ที่มีอายุระหว่าง 18 – 25 ปี การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการไปลงคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.93 ระบุว่า ไปแน่นอน รองลงมา ร้อยละ 8.53 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน และร้อยละ 6.54 ระบุว่า ไม่แน่ใจ
สำหรับการตัดสินใจเลือก ส.ส. ของคนรุ่นใหม่ที่จะไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.39 ระบุว่า เลือกทั้งจากพรรคการเมือง และจากตัวผู้สมัคร รองลงมา ร้อยละ 25.63 ระบุว่า เลือกจากพรรคการเมือง และร้อยละ 23.98 ระบุว่า เลือกจากตัวผู้สมัคร
ด้านพรรคการเมืองที่คนรุ่นใหม่อยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุด และเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่แน่ใจ รองลงมา ร้อยละ 18.74 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 13.86 ระบุว่าเป็น พรรคอนาคตใหม่ ร้อยละ 10.73 ระบุว่าเป็น พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3.66 ระบุว่าเป็น พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.70 ระบุว่าเป็น พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 2.27 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อชาติ ร้อยละ 0.87 ระบุว่าเป็น พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคภูมิใจไทย ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 0.70 ระบุว่าเป็น พรรคประชาชาติ ร้อยละ 0.52 ระบุว่าเป็น พรรคไทยรักษาชาติ และร้อยละ 0.44 ระบุว่าเป็น พรรครวมพลังประชาชาติไทย
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงนโยบายที่พรรคการเมืองใช้ในการหาเสียงที่ได้ใจคนรุ่นใหม่ที่เลือกตั้งครั้งแรก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 35.92 ระบุว่า หยุดวิกฤตเศรษฐกิจทุกชนชั้น รองลงมา ร้อยละ 22.67 ระบุว่า เรียนฟรีถึงปริญญาตรี ร้อยละ 9.41 ระบุว่า ล้างระบบ เส้นสาย หยุดทุนใหญ่กินรวบประเทศ ร้อยละ 7.50 ระบุว่า แก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ร้อยละ 6.02 ระบุว่า ล้างรัฐประหาร สร้างการเมืองแบบใหม่ และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 5.06 ระบุว่า เลิกเกณฑ์ทหาร ร้อยละ 2.52 ระบุว่า การพักหนี้ กยศ. ร้อยละ 1.48 ระบุว่า กัญชาเสรี ร้อยละ 1.31 ระบุว่า แก้กฎหมายให้ Grab สร้างรายได้ถูกกฎหมาย ร้อยละ 0.78 ระบุว่า ยกเลิกการสอบ GAT PAT ร้อยละ 0.70 ระบุว่า เกิดปั๊บรับเงินแสน และร้อยละ 0.61 ระบุว่า บ้านล้านหลัง