มองข้ามความขัดแย้ง “โป่งลึก-บางกลอย” ดันการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต
มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับจุฬาฯ และอุทยานฯ แก่งกระจาน ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิต “โป่งลึก-บางกลอย” ใช้ความเป็นปกาเกอะญอ เรียกนักท่องเที่ยว สร้างทางเลือกอาชีพและสร้างรายได้ ให้ชาวบ้านอยู่แบบพึ่งพาตนเอง ในระยะทดลองใช้ 2 ปี
หลังจากรัฐบาลมีนโยบายพยายามผลักดันให้คนที่อาศัยกับป่า อพยพย้ายถิ่นฐานลงมายังบ้านบางกลอย เมื่อปี พ.ศ. 2539 กรณีแก้ไขราษฎรชุมชนกระเหรี่ยงในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คนเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบจากแผนการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน แม้รัฐบาลจะจัดสรรพื้นที่ทำกินให้กับชาวบ้านอย่างถาวร แต่ในพื้นที่ยังขาดน้ำเพื่อทำการเกษตร จึงทำให้เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คนกับป่า และคนกับสัตว์ป่า ในพื้นที่ชนกลุ่มน้อย “โป่งลึก-บางกลอย” เกิดขึ้น
สถานการณ์ดังกล่าวได้คลี่คลายลง เมื่อปี พ.ศ. 2554 มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานเเนวพระราชดำริ ได้เริ่มเข้ามาพัฒนาพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยบูรณาการความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานต่างๆ ในการน้อมนำแนวพระราชดำริและองค์ความรู้ 6 มิติ (ดิน น้ำ เกษตร พลังงานทดแทน ป่า และสิ่งแวดล้อม) มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนา เพื่อขจัดปัญหาความขัดแย้งให้หมดไป ผ่านการลองถูกลองผิดมาหลายครั้ง กระทั่งปัจจุบันชาวบ้านสามารถอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าที่ห่างไกลจากตัวเมือง ในแบบพึ่งพาตนเองได้
นายผดุงศักดิ์ เบญจศีล หัวหน้างานพื้นที่ปิดทองหลังพระ กล่าวถึงการเข้ามาพัฒนาของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยว่า เป็นการจัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงประยุกต์ร่วมกับหน่วยงานภาคี เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องโป่งลึกบางกลอย เริ่มจากจัดหาแหล่งน้ำที่เหมาะสม ส่งเสริมการปลูกพืชผัก ปลูกข้าว ในตอนแรกมีการทดลองทำข้าวแบบนาขั้นบันได แต่ก็ถือว่ายังไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะในพื้นที่มีปริมาณน้ำไม่เหมาะสม ชาวบ้านจึงปรับเปลี่ยนวิธีการร่วมกับหน่วยงาน เป็นการปลูกกล้วยแทน มีทั้งกล้วยพันธุ์ดั้งเดิม กล้วยน้ำว้า กล้วยเนื้อเยื่อ สามารถนำมาสร้างรายได้ให้กับครอบครัวได้
ในปัจจุบันขยายผลสนับสนุนการปลูกกล้วย จนนำมาแปรรูปได้ และยังมีการปลูกกาแฟ ทุเรียนในการทำสวนแบบผสมผสาน โดยมีกลุ่มบริษัทผู้ค้ากาแฟรายใหญ่เข้ามารับซื้อกาแฟภายในชุมชน จนล่าสุดมีโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน เพื่อสร้างอาชีพเสริมอีกทางหนึ่งให้กับชาวบ้านด้วย
“จุดเด่นคือ พี่น้องเริ่มเข้าใจ ถ้าเราศึกษา ทำจริงๆ โดยมีตัวอย่าง เขาก็จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้” นายผดุงศักดิ์ กล่าว
ผดุงศักดิ์ เบญจศีล หัวหน้างานพื้นที่ปิดทองหลังพระ
ด้านการพัฒนาระบบน้ำจากการใช้พลังงานทดแทนด้วยระบบไมโครกริด โดยปิดทองหลังพระฯ ซึ่ง แล้วเสร็จเมื่อปี 2560 สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 171 กิโลวัตต์ สูบน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรในระยะแรกได้ 454 ไร่ มีราษฎรได้รับประโยชน์ทั้ง 2 หมู่บ้าน 57 ราย ในปี 2561 มีการขยายต่อถึงน้ำระบบน้ำใช้ในการ อุปโภคบริโภคของชาวบ้านในพื้นที่ให้ทั่วถึง ด้วยการเดินท่อประปาให้กับผู้ที่ต้องการใช้น้ำ มีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้ น้ำ 2 กลุ่ม สมาชิกรวม 151 คน มีระเบียบข้อตกลงการใช้น้ำร่วมกัน และมีการติดตั้งมิเตอร์ เก็บค่าใช้น้ำเป็น รายเดือน
ชาวบ้านมีรายได้จากการส่งเสริมการเกษตรและอาชีพในปี 2561 รวม 2,302,582 บาท ประกอบด้วย ทุเรียน กาแฟ มะนาว กล้วย แปลงผักครัวเรือนเพื่อการบริโภค ปศุสัตว์ ที่มีทั้ง สุกร กบ ปลาดุก ไก่บ้าน และล่าสุดคือส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยววิถีชุมชน
ความร่วมมือของหน่วยงานราชการ เป็นอีกมิติหนึ่งในการทำงาน ทำให้กิจกรรมในพื้นที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง
“กว่าจะทำความเข้าใจกับชุมชนได้ ต้องเรียกว่า ตั้งแต่โกรธกันจนรักกัน” นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กล่าวถึงการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา ในบทบาทของอุทยานฯ แก่งกระจาน
ซึ่งส่วนหนึ่งในการสร้างความร่วมมือกับชุมชน โดยร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐเอกชน และประชาชน ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในอดีต ทั้งในเรื่องสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดิน สิทธิพลเมือง การพัฒนาคุณภาพชีวิต การประกอบอาชีพ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้กลไกของกฎหมายที่กำหนดไว้
หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มองเห็นศักยภาพของคนในพื้นที่ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขยายโอกาสสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในแหล่งชุมชน เพื่อแก้ปัญหาชาวบ้านกลุ่มที่ไม่มีที่ดินทำกิน และไม่มีอาชีพ โดยจัดรูปแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมมารองรับ เช่น วัฒนธรรมการทอผ้า การแสดง อาคารสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว การเดินป่าและการล่องแพร ซึ่งเป็นหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวบ้านอยู่แล้ว
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี บุญเพ็ง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เราเห็นศักยภาพของชาวบ้านที่จะทำการท่องเที่ยววิถีชุมชนได้ เรามีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง และสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน โดยใช้ความเป็นปกาเกอะญอ ความเป็นพื้นบ้าน วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ภาษา การแต่งกาย และเรื่องจักสาน เป็นกลิ่นอายที่คิดว่าเป็นเสน่ห์ เพราะชาวบ้านมีต้นทุนอยู่แล้ว ไม่ต้องลงแรงอะไรมากนัก
“ชาวบ้านมีของดี ไม่อยากให้เขาถูกกลืนกลายเป็นชาวเรา เรายังอยากให้เขาเป็นชาวปกาเกอะญอ บ้านโป่งลึกบางกลอยกับวัฒนธรรมที่มี”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุพรรณี บุญเพ็ง คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เจาะโครงการวิจัย-พัฒนาท่องเที่ยว
โครงการวิจัยและพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในชุมชนปกาเกอะญอ บ้านโป่งลึกบางกลอย เพชรบุรี บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นโครงการที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนา กิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เพื่อ ศึกษารวบรวมฐานทรัพยากรทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของหมู่บ้าน และพัฒนากิจกรรมการเกษตรของชุมชนให้รองรับการดำรงชีวิตในระดับครัวเรือนรวมทั้งรองรับกิจกรรมการ ท่องเที่ยวโดยชุมชน
การดำเนินงานมีความคืบหน้าโดยชาวบ้านที่ร่วมกิจกรรม ได้จัดรวมกลุ่มเพื่อสนับสนุนกิจกรรมด้าน การท่องเที่ยวได้แก่ กลุ่มด้านบริการ กลุ่มการผลิต และกลุ่มท่องเที่ยวซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มย่อยเป็น กลุ่มช่าง กลุ่มแพ กลุ่มแม่บ้าน
หัวหน้างานพื้นที่ปิดทองหลังพระ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่จัดทำโครงการท่องเที่ยววิถีชุมชน ระยะเวลาเกือบ 1 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงศึกษานี้ พบว่าชาวบ้านเห็นศักยภาพ ภูมิปัญญาที่มีในพื้นที่ของตนเอง และสามารถนำสิ่งเหล่านี้มาสร้างรายได้ และทางเลือกอาชีพได้ เช่น การทำสร้อยข้อมือ กระเป๋า ย่าม เครื่องจักสานต่างๆ โดยใครชำนาญอะไรก็เริ่มหยิบจับขึ้นมา มาถัก มาร้อย มาสาน เปรียบเสมือนการขายภูมิปัญญาในท้องถิ่น ด้วยการสร้างสินค้าต่างๆ นักท่องเที่ยวเข้ามาก็เห็นว่า เป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางวัฒนธรรมเคลือบแฝงอยู่ สร้างความสนใจให้นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
พื้นฐานการทำงานในกิจกรรมต่าง ๆ ของพื้นที่บ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย จะดำเนินการไปอย่าง เหมาะสม ค่อยเป็นค่อยไป ไม่เร่งรีบเพื่อป้องกันปัญหาจากบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการ ท่องเที่ยววิถีชุมชนในรูปแบบธุรกิจมากเกินไป ชุมชนต้องมีการสร้างเอกลักษณ์ที่เป็นของตนเอง สร้างความ เข้มแข็งในพื้นที่ให้ได้ก่อนที่จะประชาสัมพันธ์สู่ภายนอกเพื่อเปิดรับการท่องเที่ยวแบบทั่วไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/