สธ.ไทย จับมือ "เคนย่า" พัฒนาหลักประกันสุขภาพ
เคนย่ายกไทยเป็นผู้นำระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ลงนามเอ็มโอยูร่วมกันให้ไทยช่วยพัฒนาหลังเพิ่งตั้งไข่เมื่อ ธ.ค.ปีที่แล้ว
วันที่ 1 ก.พ. 2562 ที่โรงแรมเซนทารา เซ็นทรัลเวิลด์ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามบันทึกความเข้าใจส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับสาธารณรัฐเคนยา โดยมี นางซิสิลี เค อาริอุคิ รมว.สาธารณสุขแห่งสาธารณรัฐเคนยา ร่วมลงนาม
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ไทยและเคนยา มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการมานานกว่า 50 ปี และไทยมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อช่วยเคนยาสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดี
รมว.สาธารณสุข กล่าวอีกว่า ขณะนี้โลกได้เรียนรู้แล้วว่า ระบบหลักประกันสุขภาพ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงระบบสังคมกับระบบเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน โดยองค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในปี 2030 ซึ่งไทยยินดีเป็นอย่างยิ่ง ในการให้ความร่วมมือเคนยา เพื่อสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีคุณภาพต่อไป
ขณะที่ นางซิสิลี กล่าวว่า เคนยาเพิ่งเริ่มต้นนำร่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทั้งรัฐบาลไทย และจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการถ่ายทอดความรู้ และแนวทางการนำนโยบายไปปฏิบัติ ทั้งนี้ ไทยถือเป็นผู้นำด้านระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และหลายประเทศทั่วโลกกำลังเดินตาม
รมว.สาธารณสุขสาธารณรัฐเคนยา กล่าวอีกว่า การลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกันฉบับนี้ จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทั้งในด้านความรู้เกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การจัดการด้านการเงินในระบบหลักประกันสุขภาพ การประเมินผลเทคโนโลยี-นโยบายด้านสุขภาพ รวมถึงการบริหารทรัพยากรบุคคลในระบบสุขภาพ เพื่อสร้างความแข็งแกร่ง และขยายระบบหลักประกันสุขภาพในเคนยาให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป
ทั้งนี้ ประเทศเคนยา นำร่องระบบหลักประกันสุขภาพสำหรับประชากร 3.2 ล้านคน เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2561ใน 4 พื้นที่ และกำลังวางแผนขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศต่อไป โดยขณะนี้หลายประเทศในแอฟริกา อยู่ระหว่างเริ่มต้นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามเป้าหมายที่องค์การสหประชาชาติประกาศให้เป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน 2030 โดยมีองค์กรระหว่างประเทศอย่าง องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก ให้การสนับสนุน และมีไทยเป็นจุดหมายสำคัญ ที่ทุกประเทศในแอฟริกาให้ความสนใจ ในฐานะต้นแบบของประเทศรายได้ปานกลาง แต่สามารถสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้ประสบความสำเร็จระดับโลก
นอกจากนี้ รมว.สาธารณสุขสาธารณรัฐเคนยา ยังมีกำหนดการนำคณะดูงานด้านระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ สปสช. ในวันที่ 2 ก.พ.2562 อีกด้วย