เอ็นจีโอค้าน สนช.ผ่าน กม.คุ้มครองครอบครัว ถอดกลไกตร. ขึ้นกับ พม. เบ็ดเสร็จ
ภาคประชาสังคมค้าน สนช.ผ่านร่างกม. ส่งเสริมการพัฒนาเเละคุ้มครองสถาบันครอบครัว จี้ชะลอการพิจารณาไปจนกว่าจะรับฟังความเห็นเเท้จริง ไ่ม่เห็นด้วยถอดกลไกอำนาจหน้าที่ตำรวจ ให้ขึ้นกับ พม. เบ็ดเสร็จ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า วันที่ 31 ม.ค. 2562 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมด้านผู้หญิง เด็ก และครอบครัว พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในประเด็นการคุ้มครองสิทธิของผู้หญิง เด็ก และครอบครัว 20 องค์กร จัดเวทีแสดงพลังคัดค้านการผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. ... เนื่องจากยังมีข้อปรับปรุงหลายประเด็น โดยเมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ยื่นจดหมายถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาออกไปก่อน จนกว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเวลาสิบกว่าปีไม่ได้ทำให้เกิดความยุติธรรมหรือทำให้ความรุนแรงลดน้อยลง และน่ากังวลว่ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานตามร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ จะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน ขณะเดียวกัน ร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้ก็ถูกคัดค้านจากองค์กรสิทธิ์ เครือข่ายผู้หญิง เด็ก และครอบครัว เพราะมุ่งเน้นเรื่องการไกล่เกลี่ยประณีประนอมมากกว่าการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และเปิดโอกาสไกล่เกลี่ยทุกขั้นตอนไปจนถึงกระบวนการศาล
“มีคำถามว่า การคุ้มครองความปลอดภัยโดยให้ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวของ พม.ทำหน้าที่ จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ มีการตัดทิ้งกลไกการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดังนั้น พม.จะคุ้มครองด้วยวิธีการแบบไหน เพราะที่ผ่านมาเมื่อเราไปเยี่ยมพื้นที่หรือบ้านพัก เราพบว่า พม. ยังมีเจ้าหน้าที่น้อยมาก"
ในขณะเดียวกัน นิยามความหมายของ ‘ครอบครัว’ ตามร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สอดคล้องกับสถานการณ์ครอบครัวในสังคมไทยปัจจุบันมากน้อยแค่ไหน ท่ามกลางยุคสมัยที่เรามีพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว ครอบครัวสมัยใหม่เปลี่ยนไปแล้ว และอีกประเด็นคือเจ้าหน้าที่ พม. มีความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน เพราะในบริบทครอบครัวโดยเฉพาะในชนบท ผู้หญิงแทบจะไม่มีอำนาจ และฝากถาม สนช.ว่า ร่างฉบับนี้ซึ่งถูกคัดค้านจากหลากหลายองค์กรด้านผู้หญิง เด็ก และครอบครัว แต่แทนที่จะเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความเห็นกันอย่างจริงจัง เหตุใดจึงเร่งรีบ เพราะไม่มีความจำเป็นต้องรีบร้อน และควรชะลอไว้ก่อน ค่อยดำเนินการหลังเลือกตั้ง
“สำหรับประเทศไทย ในอนุสัญญา CEDAWว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ มีข้อเสนอให้ประเด็นความรุนแรงต่อผู้หญิงเป็นงานระดับชาติ แต่ พม. เป็นกระทรวงเล็ก มีบุคลากรจำกัด แบกรับปัญหาสังคมทุกเรื่องในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้มันสำคัญเพราะเป็นเรื่องชีวิตมนุษย์ ซึ่งศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวของ พม. ที่เป็นหลักในร่าง กม. นี้ มีกำลังเจ้าหน้าที่เพียงพอหรือไม่ จะดูแลคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยวิธีไหน ทำไมจึงตัดกลไกของเจ้าหน้าที่ตำรวจออกไปจากร่าง กม. และในระดับชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ห่างไกล จะเข้าถึงการดูแลของศูนย์ของ พม.ได้มากน้อยแค่ไหน” นางอังคณา ระบุ
ด้าน น.ส.นัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าววเสริมในกระบวนการทางกฎหมายว่า กฎหมายเดิมคือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 สืบทอดความเชื่อให้ผู้หญิงอดทน และเมื่อเผชิญความรุนแรง ผู้หญิงซึ่งมีอำนาจน้อยกว่าก็มักต้องยอมที่จะอดทน จนสุดท้าย เกิดความรุนแรง ถูกทำร้าย
น.ส.นัยนา ยังระบุด้วยว่า ใน พ.ร.บ. ฉบับเดิมที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 50 นั้น ผู้ถูกกระทำสามารถไปแจ้งความที่ตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือคุ้มครองได้เลย แต่ในร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ กลับไม่ระบุถึงกลไกนี้ โดยเน้นให้แจ้งเรื่องไปที่ศูนย์ส่งเสริมและคุ้มครองครอบครัวที่ พม.จะตั้งขึ้น แล้วให้ศูนย์ฯ เป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งมีแนวโน้มที่เจ้าหน้าที่จะเน้นการไกล่เกลี่ย รวมทั้งศูนย์ของ พม. มีอำนาจยื่นขอชะลอการพิพากษาคดีอาญาที่อยู่ในชั้นศาลได้ด้วย ซึ่งจะนำกลับไปที่จุดเดิม คือการไกล่เกลี่ย แล้วอาจเกิดโศกนาฎกรรม ผลิตซ้ำความรุนแรง
“ร่างกฎหมายฉบับใหม่ ไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการคุ้มครองผู้เสียหายอย่างเพียงพอ แต่เน้นการไกล่เกลี่ยประณีประนอมเป็นหลัก เมื่อผัวตีเมีย หรือเกิดความรุนแรง ร่าง พ.ร.บ.นี้ไม่ได้ระบุว่าต้องไปแจ้งความหรือไปโรงพัก แต่ให้ไปร้องขอการคุ้มครองจากศูนย์ของ พม.แล้วทางศูนย์ ฯ จะส่งเรื่องไปยังศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ศาลสั่งคุ้มครอง ซึ่งในทางปฎิบัติจะยุติความรุนแรงได้มากน้อยแค่ไหน อาจมีการทุบตีเกิดขึ้นอีก และเมื่อเข้าสู่กระบวนการนี้ บทลงโทษจะเบามาก เป็นการลงโทษฐานขัดคำสั่งศาล แต่ร่างกฎหมายไม่ได้ระบุโทษของการทุบตีเมีย ถือเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อเดิมในกฎหมายฉบับเดิม ทั้งๆ ที่ควรคงโทษฐานกระทำความรุนแรงไว้ และทำให้ผู้ที่ถูกกระทำได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง” น.ส.นัยนา ระบุ
ผอ. มูลนิธิธีรนาถฯ ยังระบุด้วยว่า เจตนารมย์หลักของรัฐบาล คสช. ที่เสนอร่าง กม. ฉบับนี้ เพื่อให้คนที่ใช้ความรุนแรงกลับตัวแล้วยอมความกันได้ แต่ในทางสากล เรื่องความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องละเอียดอ่อน กระบวนการยุติธรรมต้องออกแบบให้ผู้ที่ถูกกระทำได้รับการปกป้องคุ้มครองเป็นหลัก จึงไม่ควรที่จะถอดกลไกที่ระบุอำนาจหน้าที่ของตำรวจออก แล้วให้มาอยู่ใต้อำนาจของ พม. เบ็ดเสร็จ แม้จะมีเจตนาดีให้ พม. เป็นที่พึ่ง แต่ควรสรุปบทเรียนจากการทำงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัวสิบกว่าปีที่ผ่านมา และควรให้มีกลไกที่กำหนดให้หน่วยงานต่าง ๆต้องมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการร่วมกันอย่างชัดเจน ทั้ง ตร. สาธารณสุข และ พม. ภายใต้สถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวที่นับวันจะรุนแรงขึ้น
ขณะที่นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ไม่ได้ระบุกลไกการคุ้มครองผู้ถูกกระทำให้ชัดเจน ที่ผ่านมา มีสถิติฆ่ากันตายในครอบครัวเพิ่มขึ้น แต่ร่าง พ.ร.บ.กลับให้น้ำหนักกับการไกล่เกลี่ย อีกทั้ง พม. ยังขาดกลไกที่จะสนับสนุน ช่วยเหลือ คุ้มครองให้ผู้ถูกกระทำสามารถลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองได้ และศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนที่ พม.จะตั้งขึ้นตามร่าง กม.นี้ ควรมีบทบาทหน้าที่ในการเฝ้าระวังป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงซ้ำ ไม่ใช่ไปเน้นทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยประนีประนอม
ผอ. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวอีกว่าสิ่งที่สำคัญ คือ การที่รัฐต้องสนับสนุนให้ชุมชนสามารถเฝ้าระวังปัญหาความรุนแรงได้ ไม่ใช่กำหนดบทบาทหน้าที่ให้รัฐทำฝ่ายเดียว โดยต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว และชุมชนต้องมีบทบาทสำคัญในการช่วยกันสอดส่องป้องกันและแก้ไขปัญหา พวกเราเครือข่ายกว่า20 องค์กร เห็นจุดอ่อนของร่าง กม.ฉบับนี้ เห็นควรว่าไม่ควรรีบเร่งให้ผ่านการพิจารณา แต่ควรรอให้รัฐบาลใหม่เข้ามาดำเนินการ หรือชะลอแล้วปรับแก้ไขโดยให้ภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/