ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว
ผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรง คือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของPM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นสั้นอายุขัยสั้นลงลง 0.98 ปี
ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่กำลังปกคลุมกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างหนาแน่น จนเริ่มส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนอยู่ในขณะนี้ หลายองค์กรตั้งเวทีถกประเด็นเหล่านี้ ล่าสุดแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และชมรมลมวิเศษ โครงการอุ่นใจใกล้แพทยสมาคม โดยคณะกรรมการชมรม “ลมวิเศษ” จัดงานแถลงข่าว “ถอด N95 ร่วมแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว” อย่างเป็นระบบและยั่งยืน เพื่อคืนลมหายใจดีๆ กลับสู่คนกรุงเทพฯ อีกครั้ง
ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงปัญหาวิกฤตฝุ่นละอองขนาดจิ๋ว หรือที่เรียกว่า PM2.5 ไนั้น ด้ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย อีกทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจของประเทศอีกนับพันล้านบาทต่อปี ซึ่งจากนี้ไป แพทยสมาคมฯ จะยังคงติดตามสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันแนวทางแก้ไขปัญหาให้สัมฤทธิ์ผลต่อไป
ด้าน ศ.นพ. ชายชาญ โพธิรัตน์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ ผู้ที่ติดตามการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันพิษในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือมาอย่างต่อเนื่อง ระบุถึงปัญหาฝุ่นจิ๋วที่กำลังคุกคามสุขภาพของคนกรุงเทพมหานครมี 4 ประเด็นสำคัญ คือ
ประเด็นแรก ผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนขั้นรุนแรง โดยผลกระทบในระยะสั้นที่รุนแรง คือ เพิ่มอัตราการเสียชีวิตและการเจ็บป่วยรายวันจากโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดโรคสมองให้สูงขึ้น เช่น โรคปอดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของ PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นสั้นอายุขัยสั้นลงลง 0.98 ปี ซึ่งหากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลงมาตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาสก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ
ประเด็นที่สอง การกำหนดค่ามาตรฐาน องค์การอนามัยโลกกำหนดระดับค่าความเข้มข้นของ PM2.5 รายวันและรายปีที่ทำให้ประชากรโลกเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและมีผลกระทบต่อสุขภาพขั้นรุนแรงน้อย โดยมาตรฐานดังกล่าวสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้าหน้าไปได้อย่างยั่งยืน
สำหรับประเทศที่มีระดับมลพิษสูงมากๆ เช่น จีน อินเดีย บังคลาเทศ เนปาล องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ตั้งเป้าหมายในการลดมลพิษเป็นลำดับขั้นให้ชัดเจน เช่น ขั้นแรกตั้งเป้าหมายค่าเฉลี่ยรายปีลดให้ไม่เกิน 35 มคก./ลบ.ม และเมื่อทำได้ก็ตั้งเป้าหมายระยะกลางลดให้ได้ไม่เกิน 25, 15, และสุดท้าย 10 มคก./ลบ.ม ตามลำดับ
ประเด็นที่ สาม การประกาศใช้ดัชนีคุณภาพอากาศรายวัน สำหรับการเตือนประชาชนอย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพน้อยที่สุด และกระตุ้นให้ภาครัฐจัดสรรงบประมาณและมีมาตรการรองรับตามสมควรกับระดับดัชนีคุณภาพอากาศ ดังนั้นจึงควรใช้ค่าการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศที่ไวพอในการเตือนประชาชน เช่น US-EPA AQG ไม่ใช่ตั้งค่าไว้สูงๆ ไว้ก่อน เมื่อสูงมากแล้วค่อยเริ่มเตือนเสมือนลวงให้ประชาชนเข้าใจผิดว่า ยังไม่เป็นอันตรายทำให้ประชาชนไม่มีการป้องกันต่อตนเองและครอบครัว ทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสุขภาพ และยังมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว การลงทุน ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศอีกด้วย
ประเด็นที่สี่ คุณภาพอากาศในบ้าน ในห้อง ในอาคาร คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่า การหลีกเลี่ยงปัญหาฝุ่นละอองภายนอกโดยการเก็บตัวอยู่ในบ้านหรือในอาคารก็ปลอดภัยเพียงพอ ออกไปที่โล่งค่อยใส่หน้ากาก N95 อันที่จริงแล้วเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเมื่อพักอยู่ในอาคาร เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้องเรียน ห้องทำงาน จะเปิดเครื่องปรับอากาศหรือไม่ก็ตาม สภาพห้องโดยทั่วไปมักปิดไม่ได้สนิท อากาศภายนอกยังคงเล็ดลอดเข้ามาในอาคารได้ทำให้ระดับของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ภายในอาคารลดต่ำลงจากภายนอกเพียงแค่ร้อยละ 15-20 ของระดับฝุ่นภายนอกในขณะนั้นเท่านั้น อากาศที่ดูดเข้ามาใช้ในการหมุนเวียนในอาคารมักไม่ได้ผ่านการกรองละเอียด สภาพอากาศในอาคารจึงไม่ต่างจากภายนอกมากนัก ดังนั้นเมื่ออยู่บ้านหรือห้องทำงาน การมีเครื่องฟอกอากาศจึงเป็นเรื่องจำเป็นในช่วงที่คุณภาพอากาศภายนอกไม่ดี
ส่วน รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า “จากนี้ไป คนกรุงเทพฯ จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สามารถรับมือกับปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ให้ดีขึ้นและปลอดภัยขึ้น เช่น การใส่หน้ากากในช่วงที่มีปริมาณฝุ่นอยู่ในระดับสูง การงดกิจกรรมทางกายกลางแจ้ง การใช้เครื่องฟอกอากาศในบ้าน การเช็ดถูบ้านด้วยผ้าเปียก แทนการกวาดบ้านหรือดูดฝุ่น เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหานี้ในระยะยาว รศ.นพ. ฉันชาย ชี้ว่า ต้องอาศัยทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการลดที่มาของฝุ่นทั้งแหล่งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนส่งต่างๆ ต้องมีการควบคุมปริมาณฝุ่นให้ลดลงตามมาตรฐานสากล การลดการบริโภคสินค้าที่ก่อให้เกิดฝุ่นควันมากขึ้น เช่น ยาสูบทุกประเภท
นอกจากนี้ ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วยเหลือในการพัฒนานวัตกรรมในการผลิตและขนส่งให้มีฝุ่นน้อยลง การตรวจสอบมาตรฐานเครื่องยนต์ต่างๆ เช่น รถยนต์ที่เสื่อมสภาพ รถยนต์ดีเซลต้องได้รับการตรวจตราที่เข้มงวดอย่างจริงจัง รวมทั้งต้องมีระบบการแจ้งเตือนประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องเพื่อความปลอดภัยของตนเองและควรได้รับการดูแลที่ทันท่วงทีในช่วงที่เกิดวิกฤต เป็นต้น
"จากงานวิจัยพบว่า หากเราดำเนินมาตรการต่างๆ เหล่านี้ให้เห็นผลจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของประชาชนลงได้ถึง 3.5% ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ปี”
อย่ามองข้ามโรงงานยาสูบ
สำหรับ รศ.นพ. สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมลมวิเศษ กล่าวว่า แหล่งที่มาของฝุ่นจิ๋วอีกแหล่งหนึ่งที่สำคัญและมักถูกมองข้าม คือ กระบวนการผลิตและบริโภคยาสูบ มีงานวิจัยเปรียบเทียบปริมาณฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ เทียบกับควันไอเสียจากรถยนต์ดีเซล ปรากฏว่า ระดับฝุ่นจิ๋วที่เกิดขึ้นในอากาศทั่วไปจากการสูบบุหรี่มีมากกว่าจากเครื่องดีเซลถึง 10 เท่า คือ มีมากถึง 319 มคก./ลบ.ม.ในขณะที่มาตรฐานของฝุ่นจิ๋วในอากาศที่องค์การอนามัยโลกยอมรับได้อยู่ที่ 10 มคก./ลบ.ม.เท่านั้น
"นั่นหมายความว่า การสูบบุหรี่อย่างเดียวก็ทำให้อากาศของเรามีฝุ่นจิ๋วปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐานที่ยอมรับกันถึง 30 เท่า ไม่เพียงแค่นั้น ฝุ่นจิ๋วเหล่านี้ไม่ได้อยู่แค่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปเท่านั้น แต่ฝุ่นจิ๋วยังถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบบุหรี่เองด้วยในปริมาณมากถึง 22 มคก./ลบ.ม.ต่อมวน ทำให้ผู้สูบได้รับอันตรายจากฝุ่นจิ๋วแบบสะสม เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ทำให้เกิดฝุ่นจิ๋วสูงถึงระดับ 515 มคก./ลบ.ม.ดังนั้น หากจะช่วยคนไทยให้มีลมหายใจไร้ฝุ่นทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ทำได้โดยเริ่มต้นที่ตนเองด้วยการเลิกบุหรี่ทั้งแบบดั้งเดิมและบุหรี่ไฟฟ้า ท่านจะช่วยชาติลดปริมาณฝุ่นจิ๋วลงได้ไม่น้อยเลย”
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาฝุ่นควันพิษ ในจังหวัดเชียงใหม่ปี 2559-2560 พบว่า มีอัตราการเสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 1.6% ต่อปริมาณฝุ่นควันพิษ PM2.5 ที่สูงขึ้นทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม.ของค่าเฉลี่ยรายวัน ใกล้เคียงกับที่เคยมีการศึกษาในกรุงเทพฯ ในปี 2551 ส่วนที่อำเภอเชียงดาวซึ่งมีการลักลอบเผามากที่สุด ประชาชนสูดมลพิษตลอดวันและคืนเพราะบ้านเปิดโล่ง ไม่มีเครื่องฟอกหรือเครื่องปรับอากาศ ใช้ชีวิตแบบเกษตรกร ไม่มีการป้องกันด้วยการสวมหน้ากาก N95 ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตรายวันสูงกว่าค่าของทั้งจังหวัดเชียงใหม่กว่า 2 เท่า
ยิ่งกว่านั้นผู้ป่วยที่เจ็บป่วยถึงขั้นนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าช่วงที่ไม่มีมลพิษมาก เพราะร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอมากอยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังพบว่าระดับความเข้มข้นที่สูงขึ้นของฝุ่นควันพิษขนาดจิ๋วยังสัมพันธ์กับการป่วยและต้องรับการรักษาในห้องฉุกเฉินและการนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคระบบการหายใจ หัวใจ และหลอดเลือดสมอง
ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาทั่วโลก โดยประเทศที่กำลังพัฒนาและอยู่ในเขตร้อนได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วและอยู่ในเขตหนาว เช่น อเมริกา ยุโรปเหนือ เอเชียตะวันออก ส่วนผลกระทบในระยะยาวที่ร้ายแรงคือ อายุขัยเฉลี่ยสั้นลงตามระดับความเข้มข้นค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ในพื้นที่บ้านเกิด โดยพบว่าทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม ของPM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ที่เกิดและอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นสั้นอายุขัยสั้นลงลง 0.98 ปี
ยกตัวอย่างในปี 2014 ค่าเฉลี่ยรายปีของ PM2.5 ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ และเขตบางบอน เท่ากับ 66.45, 54.62 และ 34.63 มคก./ลบ.ม หากสามารถลดระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ลงมาให้ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำค่าเฉลี่ยต่อปีไว้คือ 10 มคก./ลบ.ม จะทำให้อายุขัยของประชาชนยืนยาวเพิ่มขึ้นอีก 5.53, 4.37 และ 2.41 ปีตามลำดับ โดยอายุขัยที่สั้นลงมาจากการเสียชีวิตด้วยโรคเส้นเลือดของสมอง เส้นเลือดของกล้ามเนื้อหัวใจ ปอดอักเสบ และมะเร็งปอด ซึ่งโรคทั้ง 4 ดังกล่าวเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยสุด 4 ใน 5 ลำดับแรก แม้ PM2.5 ไม่มีระดับที่ปลอดภัยจากการเสียชีวิตหรือผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง