รายงานผลการจัดอันดับความยาก - ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business 2019
รายงานผลการจัดอันดับความยาก - ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business 2019 และการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562
วันที่ 29 มกราคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่าย ในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business 2019 (พ.ศ. 2562) และการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2562 รวมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน ก.พ.ร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงแรงงาน ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลก Doing Business 2019 (พ.ศ. 2562) ได้จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสะดวกในการประกอบธุรกิจเป็นอันดับที่ 27 จาก 190 ประเทศทั่วโลก จัดเป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 2) และมาเลเซีย (อันดับที่ 15) ซึ่งถึงแม้ว่าอันดับของประเทศไทยปรับลดลงจากปีก่อน 1 อันดับ แต่ประเทศไทยมีค่าคะแนนความยาก - ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business Score : EODB Score) รวมทุกด้านเท่ากับ 78.45 คะแนน ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนที่ได้คะแนนเท่ากับ 77.44 คะแนน และได้รับคะแนนดีขึ้นในเกือบทุกด้าน (ได้รับคะแนนดีขึ้นใน 9 ด้าน จากทั้งหมด 10 ด้าน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 4 ด้านหลักที่ประเทศไทยได้มีการปฏิรูปเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ ได้แก่ (1) ด้านการขอใช้ไฟฟ้าซึ่งได้รับคะแนนสูงถึง 98.57 คะแนน (จากเดิม 90.45 คะแนน) และได้รับการจัดอันดับดีขึ้นเป็นอันดับที่ 6 จาก 190 ประเทศทั่วโลก (จากเดิมอยู่อันดับที่ 13) (2) ด้านเริ่มต้นธุรกิจที่ได้ปรับปรุงค่าธรรมเนียมให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการเริ่มต้นธุรกิจลดลง (3) ด้านการชำระภาษี ที่ได้ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดระยะเวลาในการยื่นภาษีนิติบุคคล และ (4) ด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่ได้ปรับปรุงการดำเนินงานเพื่อลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารส่งออก
2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา มีผลการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญ เช่น (1) การสร้างการรับรู้ให้แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับงานบริการภาครัฐที่ได้รับการพัฒนาเพื่อการยกระดับประสิทธิภาพในการให้บริการและเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย) และ (2) การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงข้อมูลหลักประกันทางอิเล็กทรอนิกส์ (ข้อมูลสังหาริมทรัพย์) ระหว่างกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำฐานข้อมูลและตรวจสอบหลักประกันการชำระหนี้ที่ครบถ้วน ทันสมัยอันจะเป็นประโยชน์ต่อการได้รับสินเชื่อ
3. เพื่อให้ประเทศไทยมีผลการจัดอันดับความยาก – ง่ายในการประกอบธุรกิจ ในรอบต่อไป (Doing Business 2020) ดีขึ้น สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้รวบรวมแผนการดำเนินงานในการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 13 หน่วยงาน และขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นเพิ่มเติมและเสนอขอปรับแผนดังกล่าวในบางส่วนให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง โดยแผนการดำเนินการฯ หน่วยงานรับผิดชอบและความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
3.1 ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ : พัฒนา ปรับปรุง และสร้างการรับรู้ เกี่ยวกับระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e - Registration) โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน)
3.2 ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง : พัฒนาระบบยื่นขออนุญาตก่อสร้างการควบคุมการก่อสร้างอาคารและการติดตั้งประปา [โดยกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)]
3.3 ด้านการขอใช้ไฟฟ้า : ปรับปรุงอัตราค่าบริการการขอใช้ไฟฟ้า (โดยกระทรวงมหาดไทย)
3.4 ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน : เชื่อมโยงข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Zoning Layer) และผังเมืองในพื้นที่ทั่วประเทศไทย (โดยกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพาณิชย์)
3.5 ด้านการได้รับสินเชื่อ : พัฒนาระบบข้อมูลหลักประกันทางธุรกิจทางอิเล็กทรอนิกส์ และส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม [โดยกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และธนาคารแห่งประเทศไทย] โดยกระทรวงคมนาคมมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ในการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูลในลำดับถัดไป เห็นควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพิจารณาประเภทของข้อมูลที่สามารถเปิดเผยได้โดยชอบด้วยกฎหมายร่วมกัน และขยายไปยังหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งภาคเอกชนต่อไป อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยขอตัดเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านธุรกิจค้าปลีกออกจากแผนการดำเนินการฯ ที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ เนื่องจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีแผนการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว
3.6 ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย : ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย และเพื่อลดภาระต้นทุนในการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียน (โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกระทรวงพาณิชย์) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ขอปรับปรุงรายละเอียดของแผนการดำเนินการฯ ให้เป็นปัจจุบัน กล่าวคือ เสนอให้เพิ่มกระทรวงพาณิชย์ร่วมเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจำกัด
3.7 ด้านการชำระภาษี : ผลักดันการชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาช่องทางการชำระเงินสมทบให้แก่กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน (โดยกระทรวงการคลังและกระทรวงแรงงาน) โดยกระทรวงแรงงานขอปรับถ้อยคำให้เข้าใจง่ายยิ่งขึ้น
3.8 ด้านการค้าระหว่างประเทศ : พัฒนาระบบศุลกากรล่วงหน้า ระบบการขนส่งทางน้ำ และระบบคลังข้อมูลทางการค้าของไทย (โดยกระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และกระทรวงพาณิชย์)
3.9 ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง : พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับศาล (โดยสำนักงานศาลยุติธรรม)
3.10 ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย : พัฒนาเจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี/เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ระบบการยื่นคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ และระบบข้อมูลบุคคลล้มละลายทุจริต ตลอดจนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (โดยกระทรวงยุติธรรม)
ภาพประกอบ:https://santafestay.com