GCเปิดพาวิลเลียนCircular Factory รง.จำลองวงจรชีวิตพลาสติก ในงานออกแบบกรุงเทพฯ 62
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC จัดแสดงพาวิลเลียน Circular Factory by GC โรงงานแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิด Circular Living รณรงค์ให้เกิดการสร้างวงจรชีวิตใหม่ของผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการผลิตและการบริโภคให้นานที่สุด ส่งเสริมการจัดการขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน ณ เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2562 ที่อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
นางวราวรรณ ทิพพาวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานกิจการองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่า ในปีนี้นับเป็นปีที่ 2 แล้วที่ GC ได้เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน Bangkok Design Week อย่างต่อเนื่องเพื่อส่งต่อความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยในปีนี้ GC ได้จัดแสดง พาวิลเลียน Circular Factory by GC โรงงานแห่งอนาคตที่มุ่งเน้นการผลิตและการใช้พลาสติกแบบหมุนเวียน เพื่อรณรงค์แนวคิด Circular Living รวมทั้งสร้างเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการพลาสติกอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นที่รับรู้แก่สังคม นักสร้างสรรค์ และผู้ผลิตในวงกว้าง
โดยเป็นการนำนวัตกรรมมา ผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบ แปรรูปพลาสติกเหลือใช้ ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ที่มีมูลค่าเพิ่ม เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในฐานะผู้ผลิตนวัตกรรมเคมีภัณฑ์เพื่อสร้างสรรค์คุณภาพชีวิตที่ดี เรามีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความยั่งยืนในสังคมด้วยการใช้แนวคิด Circular Living ที่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เราให้ความสำคัญกับการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแบบมีส่วนร่วม โดยสนับสนุนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการใช้พลาสติกร่วมกันสร้าง “วงจรชีวิตใหม่” ของผลิตภัณฑ์พลาสติกให้สามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการผลิตและการบริโภคให้นานที่สุดเพื่อลดการใช้งานที่จะก่อให้เกิดปัญหาขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“พาวิลเลียน Circular Factory by GC จะจำลองวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์พลาสติกที่สามารถหมุนเวียนอยู่ในระบบการผลิตและการบริโภคอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดการใช้ซ้ำ ใช้นาน และ นำกลับมาใช้ใหม่ ตั้งแต่การคัดแยกขยะพลาสติกในแต่ละประเภท การเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลระดับโรงงาน และการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่ง Circular Living จะเกิดได้อย่างสมบูรณ์ต่อเมื่อผู้ผลิตเม็ดพลาสติก โรงงานผู้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก นักสร้างสรรค์ และผู้บริโภคร่วมมือกันในการผลิตและใช้พลาสติกอย่างคุ้มค่า ด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ วิธีการผลิตและการใช้งานพลาสติก สนับสนุนการใช้ซ้ำ (Reuse) และเมื่อใช้แล้วส่งกลับมายังวงจรการผลิตซ้ำ (Recycle) ให้กลายเป็นวัตถุดิบที่พร้อมสำหรับการพัฒนาเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ (Upcycle) ต่อไป เช่น เส้นใยสำหรับทอเป็นผืนผ้า อิฐบล็อกสำหรับการก่อสร้าง แผ่นโมดูลาร์สำหรับทำพื้นและถนน ตลอดจนผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์หลายรูปแบบ เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน” นางวราวรรณ กล่าว
สำหรับพาวิลเลียน Circular Factory by GC เป็นความร่วมมือของ GC กับ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) โดยใช้แนวคิดCircular Living ด้วยการเลือกใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลจากพลาสติกประเภท High Density Polyethylene (HDPE) ที่ใช้ในการผลิตขวดแชมพู หรือ ขวดน้ำมันเครื่อง มาฉีดขึ้นรูปเป็นแผ่นพลาสติกสีขาวและสีม่วงจำนวน 5,561 แผ่น แล้วนำมาร้อยด้วยเหล็กเส้นเพื่อทำเป็นแผ่นผนังและหลังคา ทำให้มีน้ำหนักเบาและง่ายต่อการติดตั้ง รวมทั้งยังสามารถจัดเรียงในรูปแบบต่างๆ ตามต้องการ มีความแข็งแรงทนทาน ที่สำคัญเมื่อทำการรื้อถอน พลาสติกเหล่านี้จะถูกแปรสภาพสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ อื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไปโดยไม่กลายเป็นขยะทิ้งไว้ ภายในพาวิลเลียนแบ่งออกเป็น 3 โซน ประกอบด้วย
โซน 1 : 7 Circulars ให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะพลาสติกอย่างถูกต้องตามคุณสมบัติของพลาสติก
โซน 2 : DIY & Industrial Recycle การจำลองเครื่องจักรสำหรับการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลและการขึ้นรูปพลาสติกในหลายรูปแบบ และ
โซน 3 : Upcycle Showcase จากผลิตภัณฑ์สู่ผลิตภัณฑ์ด้วยการอัพไซเคิลเพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกหรือพลาสติกเหลือใช้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น และยังทำให้วงจรชีวิตของพลาสติกยืดยาวออกไปแทนที่จะถูกกำจัดทิ้งด้วยการฝังกลบหรือนำไปเป็นเชื้อเพลิง
พาวิลเลียน Circular Factory by GC จัดแสดงในระหว่างวันที่ 26 ม.ค. – 3 ก.พ. 2562 ณ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC กรุงเทพฯ) อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก
“GC หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พาวิลเลียน Circular Factory by GC จะสามารถส่งต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิด Circular Living เพื่อรณรงค์ให้เกิดการสร้างวงจรชีวิตใหม่ให้กับพลาสติกอย่างสร้างสรรค์ที่นำไปสู่การลดปริมาณขยะบนโลก ซึ่งการเริ่มต้นของ Circular Living ที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้มากที่สุด คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า และช่วยกันคัดแยกขยะพลาสติก เพื่อนำมารีไซเคิลให้ได้เม็ดพลาสติกหรือวัตถุดิบที่เหมาะกับการใช้งานครั้งต่อไป เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพลาสติกได้อย่างคุ้มค่าที่สุด” นางวราวรรณ กล่าวทิ้งท้าย