เช็คลิสต์ 5 คดีค้าง กทพ. พิพาททางด่วนกับ 2 เอกชนยักษ์ใหญ่
เช็คลิสต์ 5 คดีค้างอยู่ในศาลปกครองกับข้อพิพาททางด่วน การทางพิเศษฯ -BEM-อิตาเลียนฯ
จากคดีที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2561 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขัน ในปี พ.ศ. 2542-2543 ให้แก่ บริษัทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (Bangkok Expressway and Metro Public Company Limited :BEM) เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท และมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาทนั้น
(อ่านประกอบ:เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า มีคดีที่ผ่านกระบวนการอนุญาโตตุลาการ และอยู่ในชั้นศาลประมาณ 5 คดี ประกอบด้วย 4 คดี เป็นข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM และอีก 1 คดี เป็นข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ดังนี้
1.ศาลปกครองชั้นต้น คดีหมายเลขดำ ที่ 623/2557 คดีหมายเลขแดง ที่ 1543/2560 คดีนี้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.692/2560 เลขคดีแดง (ยังไม่ออกเลขคดีแดง)
คดีนี้เป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาระหว่าง กทพ. (ผู้ร้อง) และ BEM (ผู้คัดค้าน) ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ลงนามในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุนระหว่างกัน โดยผู้คัดค้านจะทำการก่อสร้างโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ทั้งระบบ รวมทั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ และรับภาระการเสี่ยงในการลงทุน กรรมสิทธิในงานก่อสร้างและสิ่งปลูกสร้างถาวร ตกเป็นของผู้ร้องทันที และให้ผู้คัดค้านบริหารโครงการเป็นเวลา 30 ปี นับจากวันที่เริ่มการก่อสร้าง ส่วนผู้ร้องจะทดรองออกค่าเวนคืนที่ดินไปก่อน
ต่อมาเกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวตามสัญญา โดยผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทขอให้ผู้คัดค้านชำระเงินสำหรับคดีข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 60/2549 จำนวน 51,161.19 บาท พร้อมดอกเบี้ย และขอให้ชำระเงินสำหรับคดีหมายเลขแดงที่ 61/2549 จำนวน 353,567.63 บาท พร้อมดอกเบี้ย แต่คณะอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกข้อเรียกร้องและคำขอทั้งมูลกรณีที่ 1 และมูลกรณีที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายจากคำชี้ขาดดังกล่าว
จึงขอให้มีคำพิพากษา ขอศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 47/2550 หมายเลขแดงที่ 6/ /2557 ลงวันที่ 23 ม.ค. 2557
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า มูลกรณีที่ 1 การจัดทำทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะให้แก่นายสมพร พัฒนกำจร ผู้ร้องได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุในการเรียกค่าเสียหายถึงค่าใช้จ่ายจากการทำทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะจากผู้คัดค้านและได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการภายในกำหนดระยะเวลาตามที่มาตรา 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดไว้ และคณะอนุญาโตตุลาการ ได้วินิจฉัยชี้ขาดตามรูปแบบขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนด โดยอาศัยเหตุผลและข้อสัญญาในสัญญาพิพาทแล้ว คำชี้ขาดวินิจฉัยข้อพิพาทเฉพาะมูลกรณีที่ 1 จึงอยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ ไม่ปรากฎเหตุเพิกถอนตามนัยมาตรา 40 วรรคสาม (1) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ส่วนมูลกรณีที่ 2 เมื่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มิได้บัญญัติเรื่องกำหนดเวลาในการเสนอข้อพิพาทไว้ระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทไว้ระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต่ออนุญาโตตุลาการ จึงต้องเป็นไปตามระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีศาลปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งในขณะนั้นมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.ดังกล่าว บัญญัติให้การฟ้องคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองต้องยื่นฟ้องภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยเมื่อนับแต่วันที่ผู้ร้องรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีมูลกรณีที่ 2 ตั้งแต่วันที่จ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับเหมาวันที่ 1 ก.พ. 2544 และวันที่ 25 ธ.ค. 2544 แล้วแต่กรณี
การที่ผู้ร้องเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2550 จึงเป็นการเสนอข้อพิพาทเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี 1 ปี ดังนั้นการที่คณะอนุญาโตตุลาการรับข้อพิพาทกรณีที่ 2 ไว้พิจารณาและมีคำวินิจฉัยชี้ขาดเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ทั้งนี้ ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 พิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 47/2550 หมายเลขแดงที่ 6/2557 ลงวันที่ 23 ม.ค. 2557 เฉพาะส่วนที่พิจารณาชี้ขาดมูลกรณีที่ 2 คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดีแก่ผู้ร้อง
ผู้คัดค้านอุทธรณ์โดยสรุปว่า การเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการมิใช่การฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ดังนั้นการที่ศาลปกครองกลางนำบทบัญญัติว่าด้วยระยะเวลาการฟ้องคดีต่อศาลปกครองมาปรับใช้กับการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลปกครองสูงสุดรับคำอุทธรณ์ไว้พิจารณา แล้วมีแก้คำพิพากษาในประเด็นการปรับใช้ระยะเวลาการฟ้องคดีสัญญาทางปกครองกับการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการว่าด้วยการไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นให้ยกคำร้อง ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับคำอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณา
2.ศาลปกครองชั้นต้น คดีหมายเลขดำ ที่ 550/2552 2067/2554 คดีหมายเลขแดง ที่ 1462-1463/2556 คดีนี้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.1617-1618/2556 เลขคดีแดง (ยังไม่ออกเลขคดีแดง)
การอุทธรณ์คำพิพากษา ระหว่าง กทพ. (ผู้ร้อง) และ BEM (ผู้คัดค้าน) ซึ่งผู้ร้องฟ้องว่าผู้ร้องได้ทำสัญญากับบริษัทของผู้คัดค้านให้ดำเนินการก่อสร้างและบริหารโครงการระบบทางด่วน ต่อมาได้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับด่านเปิดใช้งานของระบบทางด่วนและการแบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษ ผู้คัดค้านจึงได้ยื่นข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 19/2544 ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดว่าผู้ร้องเป็นผู้ผิดสัญญาและผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ร้องชำระเงินส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางให้แก่ผู้คัดค้าน
ผู้ร้องไม่เห็นด้วยจึงยื่นฟ้องต่อศาลขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำ ที่ 19/2544 หมายเลขแดงที่ 91/2551 ศาลปกครองชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามสัญญาในการดำเนินการให้อัตราค่าผ่านทางตามเอกสารท้ายสัญญามีผลบังคับใช้พร้อมต้องส่งแบ่งรายได้ค่าผ่านทางที่เก็บได้ให้แก่ผู้คัดค้าน พิพากษายกคำร้องของผู้ร้องและให้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 19/2544 หมายเลขแดงที่ 91/2551 ผู้ร้องอุทธรณ์สรุปความได้ว่า ผู้คัดค้านเรียกร้องส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางพิเศษเกินกว่าที่เก็บได้และไม่สอดคล้องกับเจตนารมย์และวัตถุประสงค์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเสียงข้างมากไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อสัญญา ข้อกฎหมาย
3.คดีหมายเลขดำ ที่ 1205/2551 คดีหมายเลขแดง ที่ 473/2556 คดีนี้มีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. 724/2556เลขคดีแดง (ยังไม่ออกเลขคดีแดง)
การอุทธรณ์คำพิพากษาระหว่าง บริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) และ กทพ. (ผู้คัดค้าน) ซึ่งผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทำสัญญาจ้างเหมา ผู้ร้องก่อสร้างโครงการเชื่อมต่อทางยกระดับดินแดง-ดอนเมือง กับระบบทางด่วน ระหว่างที่ผู้ร้องดำเนินการก่อสร้าง วิศวกรที่ปรึกษาได้ส่งแบบก่อสร้างฐานรากที่ผู้คัดค้านได้อนุมัติ เมื่อผู้ร้องตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขแบบของงานฐานราก เสา และคานหัวเสา ไม่ตรงกับแบบเดิม ทำให้ปริมาณงานเพิ่มขึ้น ผู้ร้องได้มีหนังสือให้ผู้คัดค้านพิจารณาและวินิจฉัยจ่ายเงินค่างานพิเศษเพิ่มเติม แต่ผู้คัดค้านแจ้งว่าไม่จำต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายดังกล่าว ผู้ร้องไม่เห็นด้วยจึงยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ
อนุญาโตตุลาการเห็นว่า ผู้ร้องไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ตกลงกันไว้ในสัญญาย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นงานพิเศษเพิ่มเติม ให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้อง ผู้ร้องเห็นว่า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ และให้ผู้คัดค้านชำระค่าใช้จ่ายงานเพิ่มเติมเป็นเงิน 50,383,562 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้ชำระค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 81,398,809 บาท
ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ก่อนที่ผู้ร้องเริ่มดำเนินการก่อสร้าง ผู้ร้องรู้อยู่แล้วว่ามีประเด็นงานพิเศษเพิ่มเติม ถือได้ว่าผู้ร้องยอมรับก่อสร้างตามแบบรายละเอียด โดยไม่อาจเรียกร้องค่าจ้างชดเชยเพิ่มเติมได้อีก ปริมาณงานที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นงานพิเศษเพิ่มเติม เมื่อผู้ร้องไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ตกลงไว้ในสัญญาย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นงานพิเศษเพิ่มเติมที่จะเรียกร้องกันตามสัญญาได้ คำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ยกคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องจึงเป็นคำวินิจฉัยที่คำนึงถึงข้อกำหนดและเจตนารมย์ของสัญญาแล้ว และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อันจะเป็นเหตุให้ถูกเพิกถอนได้ตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2542
พิพากษายกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์สรุปความได้ว่า การที่ศาลปกครองเห็นว่า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการเป็นคำวินิจฉัยชอบด้วยกฎหมายนั้นเป็นการวินิจฉัยจากข้อเท็จจริงก่อนการยื่นประมูลและตีความจากข้อสัญญาและเงื่อนไขของสัญญา โดยมิได้วินิจฉัยจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในระหว่างที่ผู้ร้องปฏิบัติงานก่อสร้างตามแบบรายละเอียดที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากแบบเบื้องต้น ในสาระสำคัญของงานออกแบบ คำพิพากษาของศาลปกครองกลางจึงคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
4.คดีหมายเลขดำที่ 66/2553 คดีหมายเลขแดงที่ 1349/2556
ระหว่าง BEM (ผู้ร้อง) และกทพ. (ผู้คัดค้าน) ซึ่งศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 7/2546 หมายเลขแดง ที่ 87/2552 ลงวันที่ 25 ก.ย. 2552 ได้
5.คดีหมายเลขดำ ที่ 1646/2559 (ยังไม่ออกคดีหมายเลขแดง)
คดีนี้ระหว่าง BEM โดยนายอนันต์ รัตนธนาวัฒน์ และหรือนายกอบเกียรติ ธนัญชยะ และหรือนายธีรภัทร จันทร์ภิวัฒน์ ผู้รับมอบอำนาจ (ผู้ฟ้องคดี) และกทพ. (ผู้ถูกฟ้องคดี) ฟ้องว่า กทพ. ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 116/2552 ข้อพิพาทหมายเลขแดง ที่ 112/2556 ลว. 20 ธ.ค. 2556 กรณีมีคำชี้ขาดให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าก่อสร้างและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินการก่อสร้างที่มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้แก่ผู้ฟ้องคดีตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ลว. 22 ธ.ค. 2531
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติตามคำชี้ขาดแล้ว แต่ได้รับการปฏิเสธ ปรากฎตามหนังสือ ลว. 4 ก.พ. 2557 เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/