กางกม.‘ป.ป.ช.-มหาดไทย’ ไขปมผู้ว่าฯสุโขทัยตั้งกก.สอบบิ๊กเทศบาลซ้ำหลังถูกชี้มูลได้ไหม?
“...ผู้ถูกกล่าวหารายดังกล่าวซึ่งเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งไม่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับโทษทางวินัย เมื่อดำเนินการทางวินัย ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 98 ต้องดำเนินการตาม วรรคสี่ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการต่อไป ในกรณีดังกล่าวคือผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย โดยวรรคสี่ ดังกล่าว ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการเอาไว้ว่าต้องดำเนินการหลังจากได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาเท่าไร...”
สืบเนื่องจาก สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด นาย ก (นามสมมติ) ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่ง ของ เทศบาลตำบลกงไกรลาศ อ.กงไกรลาศ จ.สุโขทัย และได้ส่งเรื่องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามหน้าที่ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดดำเนินคดีอาญาแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันทางจังหวัดสุโขทัยยังไม่ได้ดำเนินการลงโทษตามผลการพิจารณาของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กลับมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาอีก ทั้งที่ได้มีการมติชี้มูลความผิดแล้ว (อ่านประกอบ : ร้อง ‘อิศรา’ ปมผู้ว่าฯสุโขทัยตั้งกก.สอบซ้ำซ้อน บิ๊กเทศบาลกงไกรลาศ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลผิด)
ในกรณีดังกล่าว ต่อมา กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ส่งเรื่องให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ปรากฏตามหนังสือ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ที่ มท 0804.2/3879 ลงวันที่ 6 พ.ย. 2561 เรื่องขอให้ดำเนินการอำนาจหน้าที่ ถึงผู้ร้องเรียน ระบุว่า ตามที่ท่านได้มีหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า ได้ร้องเรียน นาย ก (นามสมมติ) ผู้บริหารระดับสูงเทศบาลตำบลกงไกรลาศ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีจัดทำเอกสารหลักฐานและเบิกจ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการอันเป็นเท็จ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาและมีมติชี้มูลความผิดแล้ว จึงขอทราบผลการดำเนินารในเรื่องดังกล่าว นั้น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นขอเรียนว่า ได้ส่งเรื่องดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว (ดูเอกสาร)
ต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 เพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปรากฏตามหนังสือ ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย ที่ สท 0023.4/900 ลงวันที่ 14 ธ.ค. 2561
ข้อสังเกตคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถตั้งคณะกรรมการสอบสวนหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด นาย ก ได้หรือไม่ ?
สำนักข่าวอิศรา ติดต่อไปยัง สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สำนักกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อสอบถามกรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลาขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 เพื่อทำการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหา ภายหลังจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัย กระทำได้หรือไม่ อย่างไร
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 กล่าวว่า ผู้ถูกกล่าวหารายดังกล่าวซึ่งเป็นนักการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งไม่มีกฎระเบียบเกี่ยวกับโทษทางวินัย เมื่อดำเนินการทางวินัย ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 98 (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่องประกอบ) ต้องดำเนินการตาม วรรคสี่ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนดำเนินการต่อไป ในกรณีดังกล่าวให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหา ตามความใน มาตรา 90 วรรคสาม (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่องประกอบ) ทั้งนี้ มาตรา 98 วรรคสี่ ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการเอาไว้ว่าต้องดำเนินการหลังจากได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ภายในระยะเวลาเท่าไร ดังนั้น กรอบเวลาการดำเนินการพิจารณาลงโทษ ต้องพิจารณาตาม กฎหรือระเบียบที่ผู้ว่าฯ นำมาใช้ใน และเมื่อได้ผลอย่างไรให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับทราบด้วย ไม่ได้ดำเนินการตาม มาตรา 98 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนต้องดำเนินการลงโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ซึ่งใช้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีกฎหมายหรือระเบียบเกี่ยวกับโทษทางวินัย และต้องดำเนินการสั่งลงโทษภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามความใน มาตรา 98 วรรคสาม
ข้อสังเกต ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 90 วรรคสาม ให้ถือว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคัญบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังนั้น ในกรณีนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยจึงเป็นผู้บังคับบัญชาของ นาย ก (นามสมติ) ที่ผู้บริหารระดับสูงของเทศบาลตำบล
สำนักข่าวอิศราถามว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องต่อไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหารายดังกล่าวแล้ว จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนถอดถอนภายในระยะเวลาเท่าไร
เจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ตอบว่า “ความตาม มาตรา 98 วรรคสี่ ที่ไม่มีการกำหนดกรอบเวลาว่า เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จะต้องดำเนินการต่อภายในระยะเวลากี่วัน ซึ่งจุดนี้เองเป็นช่องว่างกฎหมายที่พิจารณาได้ยากว่า เป็นการดำเนินการล่าช้าหรือประวิงเวลาหรือไม่”
สำนักข่าวอิศรา ถามว่า หากผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนที่ผู้ว่าแต่งตั้งขึ้นนั้น มีความเห็นต่างไปจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นอย่างไร
เจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ตอบว่า "อาจเป็นไปได้ หากมีพยานหลักฐานใหม่เพิ่มเข้ามา ก็ให้ดำเนินการตาม มาตรา 99 แต่ทั้งนี้ การสอบสวนของคณะกรรมการดังกล่าว ตั้งถือสำนวนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก"
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปที่ กองกฎหมายและระเบียบท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเช่นกัน
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สถ. กล่าวว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับเรื่องและสำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน ในกรณีดังกล่าวคือผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552 มาตรา 73 (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่องประกอบ) โดยผู้ว่าจะออกคำตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองปประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554 ซึ่งมีกรอบเวลาการดำเนินการหลังจากได้รับคำสั่งแต่งตั้งไม่เกิน 120 วัน หากไม่แล้วเสร็จ ประธานกรรมการสามารถยื่นขอขยายเวลาต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน และถ้ายังไม่แล้วเสร็จอีก หากเป็นกรณีที่ผู้ว่าฯ เป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ขอขยายเวลาไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ 21 (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่องประกอบ)
เมื่อคณะกรรมการสอบสวนแล้วเสร็จจะเสนอต่อผลการสอบสวนไปยังผู้ว่าฯ และผู้ว่าเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ผ่านกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น โดยรัฐมนตรีฯ อาจใช้ดุลยพินิจ สั่งให้พ้นออกจากตำแหน่งก็ได้ โดยคำสั่งของรัฐมนตรีฯ ให้เป็นที่สุด คือ เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งออกมาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาจะไม่สามารถอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ และเมื่อรัฐมนตรีฯ ลงนามคำสั่งแล้ว จะแจ้งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ
กระนั้น ในการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนจะถือสำนวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหลัก และหากว่ามีข้อมูลพยายหลักฐานใหม่ ให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหา มีหนังสือพร้อมเอกสารและหลักฐาน ถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ทบทวนมตินั้น ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 99 (อ่านรายละเอียดท้ายเรื่องประกอบ)
สำนักข่าวอิศราถามว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จะต้องดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการพิจารณาลงโทษภายในระยะเวลาเท่าไร
เจ้าหน้าที่กองกฎหมาย สถ. ตอบว่า "ในกฎหมายไม่ได้ระบุว่า เมื่อได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว จะต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นภายในระยะเวลาเท่าไร เมื่อได้รับเรื่องแล้ว ผ่านไปกี่วันจึงจะถือว่าล่าช้าหรือเข้าข่ายประวิงเวลา ตรงนี้ไม่มีกำหนด จะต้องพิจารณาเป็นกรณีไป ทั้งนี้เมื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นแล้วก็จะดำเนินการสอบสวนตามกรอบเวลาที่ระบุไว้ในกฎหมาย"
ทั้งหมดนี้ เป็นคำอธิบายเกี่ยวกับข้อสงสัยจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายถึงกรณีดังกล่าว และน่าติดตามต่อไปว่า ผลการสอบสวน นาย ก (นามสมมติ) ผู้บริหารระดับสูงเทศบาลตำบลกงไกรลาศ ของคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย จะเป็นอย่างไร
คำถามคือ ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนซึ่งแต่งตั้งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และได้รับการลงนามเห็นชอบโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หากไม่สอดคล้องกับสำนวนการสอบสวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นอย่างไร สรุปแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดสามาถตั้งคณะกรรมการสอบสวนผู้ถูกกล่าวหาหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลได้จริงหรือ?
อนึ่ง สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย เพื่อสอบถามข้อเท็จจริง เบื้องต้น เจ้าหน้าที่หน้าห้องผู้ว่าฯ แจ้งว่า ผู้ว่าฯ รับทราบเรื่องแล้ว ขอให้ทางสำนักข่าวอิศราส่งหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการมาที่ผู้ว่าฯ อีกครั้ง
----
พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
หมวด 4
การดำเนินการกกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ
มาตรา 90 ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีความเห็นตามมาตรา 70 และเห็นว่า การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหายังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปอาจจะเกิดความเสียหายให้แก่ราชการหรือเป็นอุปสรรคในการไต่สวนต่อไป ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นการชั่วคราว ถ้าต่อมาผลการไต่สวนปรากฏว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาทราบโดยเร็วเพื่อดำเนินการให้ผู้ถูกกล่าวหสกลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่อไป
เมื่อผู้บังคับบัญชาได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหานั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นเวลาหกเดือนหรือจนกว่าจะได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต้องพิจารณาวินิจฉัยแล้วเสร็จภายในหกเดือนนับแต่วันที่แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามวรรคหนึ่ง ในกรณีที่พ้นกำหนดหกเดือนแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมิได้มีคำวินิจฉัย ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ผูถูกกล่าวหากลับเข้าปฏิบัติงานต่อไป
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ถือว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้น และมีอำนาจสั่งการตามวรรคสองได้
ความในมาตรานี้ไม่เป็นการตัดอำนาจของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จะดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลที่ใช้บังคับกับผู้ถูกกล่าวหานั้น
ความในมาตรานี้ไม่ใช้บังคับกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ
ส่วนที่ 2 การดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐ
มาตรา 98 เมื่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาได้รับสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 91 แล้ว ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก โดยในการพิจาณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหา ให้ถือว่าสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้น แล้วแต่กรณี
กรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือข้าราชการอัยการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ประธานกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือประธานกรรมการอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ โดยเร็ว โดยให้ถือรายงานและเอกสารหลักฐานของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นส่วนหนึ่งของความเห็นเพื่อพิจารณาทางวินัยในสำนวนการสอบสวนด้วย และเมื่อดำเนินการได้ผลประการใดแล้ว ให้แจ้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ทราบผลการพิจารณา
การดำเนินการทางวินัยตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอกถอนพิจารณาสั่งลงโทษผู้ถูกกล่าวหาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนได้รับแจ้งมติที่ได้ขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาทบทวนตามมาตรา 99 วรรคสอง ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนหรือหลังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติวินิจฉัยมูลความผิด เว้นแต่คณะกรรมกาทร ป.ป.ช. จะมีมติเมื่อพ้นกำหนดเวลาตามมาตรา 48 แล้ว แต่ไม่เป็นการตัดอำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินการเพื่อดำเนินคเอาญาต่อไป
สำหรับผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัยเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหานั้น ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
ในการส่งสำนวนการไต่สวนเพื่อดำเนินการทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือประธานกรรมการ อาจมอบหมายให้เลขาธิการ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้
มาตรา 99 ในการพิจารณาลงโทษทางวินัยตามคำวินัจฉัยของคณะกรรมการ ป.ป.ช. หากผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนมีพยานหลักฐานใหม่อันแสดงได้ว่าผู้ถูกกล่าวหามิได้มีการกระทำความผิดตามที่กล่าวหาหรือกระทำความผิดในฐานความผิดที่แตกต่างจากที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มอำนาจแต่งตั้งถอดถอน มีหนังสือพร้อมเอกสารและพยานหลักฐานถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนมตินั้นได้ภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับเรื่องตากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในการพิจารณาทบทวนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาพยานหลักฐานโดยละเอียด เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติเป็นประการใดให้แจ้งให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบเพื่อดำเนินการต่อไปตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
----
พ.ร.บ. เทศบาล พ.ศ. 2496 แก้ไขถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552
ส่วนที่ 6
การควบคุมเทศบาล
มาตรา 73 ในกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นว่า นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาล หรือรองประธานสภาเทศบาล ปฏิบัติการฝ่าฝืนต่อความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน ละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ หรือมีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ศักดิ์ตำแหน่ง หรือแก่เทศบาล หรือแก่ราชการ ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมด้วยหลักฐาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอาจใช้ดุลยพินิจสั่งให้นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี ประธานสภาเทศบาลล หรือรองประธานสภาเทศบาลพ้นจากตำแหน่งก็ได้ คำสั่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เป็นที่สุด
----
ระเบียบกระทรวงมหาดไทย
ว่าด้วยการสอบสวนผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ประธานสภาท้องถิ่น รองปประธานสภาท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น และที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2554
ข้อ 21 การสอบสวนจะต้องกระทำให้เสร็จโดยเร็ว อย่างช้าไม่เกินหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่ประธานกรรมการได้รับทราบคำสั่ง ถ้ามีความจำเป็นจะสอบสวนให้ทันตามกำหนดนี้ไม่ได้ก็ให้ประธานกรรมการขอขยายเวลาไปยังผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน และต้องแสดงเหตุขัดข้องตลอดจนความจำเป็นที่จะต้องขอขยายระยะเวลาสอบสวนไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วยทุกครั้ง
เมื่อได้ขยายเวลาตามวรรคหนึ่งแล้วยังสอบสวนไม่แล้วเสร็จอีก หากเป็นกรณีที่นายอำเภอเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ขอขยายเวลาโดยแสดงเหตุขัดข้องความจำเป็นและระยะเวาที่คาดหมายว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ให้ขอขยายเวลาไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือปลัดกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี ขยายเวลาได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสามสิบวัน
การสอบสวนระยะใดระยะหนึ่งดังกล่าวข้างต้น จะเป็นอันใช้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุมัติแล้วทุกครั้ง แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดที่คณะกรรมการสอบสวนได้ดำเนินการในอำนาจหน้าที่แล้วก่อนได้รับอนุมัติ
การสอบสวนครั้งหนึ่งๆ ได้กระทำเพียงใด เลื่อนไปเพราะเหตุใด เมื่อใด ให้คณะกรรมการสอบสวนบันทึกไว้โดยชัดเจน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ย้อนหนังสือป.ป.ช.ฟันบิ๊กเทศบาลกงไกรลาศเบิกจ่ายเท็จ-ไขปมจว.สุโขทัยตั้งกก.สอบซ้ำซ้อน?
ร้อง ‘อิศรา’ ปมผู้ว่าฯสุโขทัยตั้งกก.สอบซ้ำซ้อน บิ๊กเทศบาลกงไกรลาศ หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลผิด