เกษตรกรทั่วปท. ทวงถามกรมวิชาการเกษตร แนวทาง 3 สารเคมีเพื่อการเกษตร
สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง และกลุ่มเกษตรปลูกผัก ผลไม้ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด และอ้อย กว่า 100 ราย ยื่นหนังสือถึง ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ให้กำลังใจและทวงถาม ร่างประกาศฯ จำกัดการใช้สารเคมี และกรณีอ้างมีสารชีวภัณฑ์ใช้ทดแทน แต่ความจริงไม่มี
นางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง เปิดเผยว่า “ตามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการพัฒนา แนวทางการใช้สารชีวภัณฑ์ขึ้นมาทดแทนการใช้สารเคมี พาราควอต ภายใน 180 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือจากผู้ตรวจการแผ่นดิน กรมวิชาการเกษตร ผู้รับผิดชอบได้เสนอสารชีวภัณฑ์มาให้กลุ่มเกษตรกรใช้แล้วนั้น จากการตรวจสอบโดยกรมวิชาการเกษตรเอง กลับพบว่า สารชีวภัณฑ์ดังกล่าว มิได้เป็นสารธรรมชาติแต่อย่างใด ทว่าเป็นสารที่มีส่วนผสมของสารเคมีเช่นเดิม เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจุบัน ไม่สามารถหาสารธรรมชาติหรือวิธีการอื่นใดมากำจัดวัชพืชในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรได้
สารชีวภัณฑ์ คือ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งมีชีวิต ได้แก่ สารจากธรรมชาติ ตัวห้ำ ตัวเบียน และเชื้อจุลินทรีย์ที่ ใช้ในการควบคุมศัตรูพืช ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และไม่มีฤทธิ์ตกค้างในสิ่งแวดล้อมเหมือนสารเคมี
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย กล่าวเสริมว่า กรมวิชาการเกษตร ควรเป็นที่พึ่งของภาคเกษตรกร แต่ที่ผ่านมา นอกจากไม่มีผลงานที่สนับสนุนเกษตรกรแล้ว ยังซ้ำเติมเกษตรกรให้ได้รับความลำบากจากมาตรการต่างๆ ในช่วงตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้พวกเราเกิดความเสียหาย และต้องเสียค่าใช้จ่ายโดยรวมมากกว่า 1,500 ล้านบาท ยิ่งไปกว่านั้น ก็ไม่ตรงตามมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ย้ำถึงสาระสำคัญ มาตรการจะต้องไม่ทำให้เกษตรกรเดือดร้อน แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจและแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง และไม่ยอมเผยแพร่ข้อเท็จจริง ถึงผลการตรวจสอบวิเคราะห์ดินและน้ำจากราชบุรีและหนองบัวลำภู ว่า ไม่พบการตกค้างของสารพาราควอต ตามที่ เอ็นจีโอ เคยกล่าวอ้าง ส่งผลกระทบให้ “เกษตรกร เป็นจำเลยสังคม”
ในฐานะ ดร.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ เป็นอธิบดีกรมวิชาการเกษตร การจำกัดการใช้สารเคมี ควรมีหลักการและแนวทางปฏิบัติที่เป็นในทิศทางเดียวกัน ไม่ควรเอื้อประโยชน์ต่อสารเคมีใดสารเคมีหนึ่ง นับจากนี้ไป เกษตรกรจะจับตาการทำงานของทางราชการ เพราะเริ่มมีข้อสงสัยแล้วว่า มีกลุ่มคนบางราย ต้องการ “แบนพาราควอตนั้น เพื่อผลประโยชน์ของใคร?”นายสุกรรณ์ กล่าวสรุป