คดีตัวอย่าง! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ขายสลากฯ เกินราคา ทำไมไร้สิทธิฟ้องฉ้อโกง
"แม้จำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์เพื่อให้โจทก์ส่งมอบสลากฯ จำนวน 650 เล่ม โดยไม่มีเจตนาจะใช้เงินที่ขายสลากฯ ที่ได้รับไปจากโจทก์มาแต่แรกก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้จากการขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากฯจากจำเลยที่ 1 เป็นผลประโยชน์ที่ได้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำความผิดฐานขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากฯตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39"
การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล 'เกินราคา' ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก โดยเฉพาะผู้ค้าสลากฯ เดินขายตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งราคาจะอยู่ที่ 90-120 บาท/ใบ ยังไม่นับสลากฯ ชุด ที่มีราคาสูง
ส่วนหนึ่งเกิดจากผู้ค้าในกลุ่มนี้ต้องรับต่อจากพ่อคนกลางมาอีกทอดหนึ่งในลักษณะของเงินสดและเงินเชื่อ ขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างกัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กรณีการตกลงซื้อขายสลากฯ เคยมีกรณีการยื่นฟ้องร้องขึ้น โดยจากการสืบค้นในเว็บไซต์ ฎีกาศึกษา มีคำพิพากษาของศาลฎีกา ที่ 577/2561 เกี่ยวกับการขายสลากฯ เกินราคา ฐานฉ้อโกง ระบุว่า โจทก์ตกลงขายสลากฯ ให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคาเงินเชื่อฉบับละ 100 บาทโดยรู้อยู่ว่าเป็นการขายสลากฯ เกินราคาฉบับละ 80 บาท ที่กำหนดในสลากฯ จำนวน 650 เล่ม เป็นเงิน 6,500,000 บาท
แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 บัญญัติว่า “ ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เพื่อผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากฯ
แม้จำเลยที่ 1 มีเจตนาทุจริตหลอกลวงโจทก์เพื่อให้โจทก์ส่งมอบสลากฯ จำนวน 650 เล่ม โดยไม่มีเจตนาจะใช้เงินที่ขายสลากฯ ที่ได้รับไปจากโจทก์มาแต่แรกก็ตาม แต่ผลประโยชน์ที่โจทก์จะได้จากการขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากฯจากจำเลยที่ 1 เป็นผลประโยชน์ที่ได้สืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำความผิดฐานขายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากฯตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 39
ประกอบกับการกระทำของโจทก์ดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานจำหน่ายสลากฯ เกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่งอีกด้วย
โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย (กรณีที่ไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย 1.มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด 2.ยินยอมให้มีการกระทำความผิด 3.พัวพันกับการกระทำอันเป็นความผิดหรือเป็นการกระทำโดยมิชอบ)
สำหรับความผิดที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ฉ้อโกงโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ.มาตรา 341 .
....................................................
หมายเหตุ:ป.วิ.อ. มาตรา 2(4) บัญญัติว่า "ผู้เสียหาย หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง ..." ซึ่งบุคคลที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดดังกล่าวต้องพิจารณาในขณะที่ความผิดเกิดขึ้นว่า บุคคลนั้นได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดนั้นหรือไม่ อีกทั้งสิทธิของการเป็นผู้เสียหายเป็นสิทธิเฉพาะตัว และไม่อาจโอนสิทธิความเป็นผู้เสียหายไปยังบุคคลอื่นได้ สิทธิในการเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาในขณะที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น(ฎีกาที่ 8782/2558)
มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
ฎีกาที่ 7869/2560 โจทก์ร่วมเป็นนายทุนปล่อยกู้ โดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลประโยชน์ที่เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายอันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 ขณะเกิดเหตุ ไม่ว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมหรือไม่ก็ตาม ถือได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กระปุก
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/