3 จุดตายทุจริตจีทูจียุค‘ปู’! เบื้องลึกเหตุผลทำไม ป.ป.ช.ชง รบ.แก้ปัญหานโยบายข้าว
“…การระบายข้าวแบบจีทูจีที่อ้างว่า ทำกับรัฐบาลจีน จึงไม่เป็นความจริง ขั้นตอนนี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ถูกนำออกมาจากคลังสินค้าของรัฐบาล และเสมือนถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่แท้จริงแล้ว ข้าวกลับถูกกลุ่มผู้กระทำความผิด นำไปขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวไทย และนำเงินส่วนนี้ไปเป็นผลประโยชน์แก่พวกพ้องตน…”
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานไปแล้วว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ออกมาตรการเสนอคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับการจัดทำนโยบายเรื่องข้าว และการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
โดย ป.ป.ช. ยกสารพัดเรื่องราวพฤติการณ์ความไม่ชอบมาพากลที่เกิดขึ้นสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2554-2557 ที่จัดทำโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวแบบจีทูจีโดยทุจริต ปรากฏข้อเท็จจริงตามสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบว่า มีการทุจริตทุกขั้นตอน และนับเป็นการทุจริตเชิงนโยบายที่เรียกได้ว่า ‘คอร์รัปชั่นขนาดใหญ่’ (อ่านประกอบ : )
คราวนี้มาดูในส่วน 3 เงื่อนปมสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า ทำไมการระบายข้าวจีทูจียุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ถึงถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดรัฐมนตรี-ข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพาณิชย์-กลุ่มเอกชนว่าทุจริต และศาลฎีกาฯพิพากษาจำคุกหนักกันบ้าง ?
คณะอนุกรรมการฯ ศึกษาสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. และคำพิพากษาศาลฎีกาฯเกี่ยวกับคดีการทุจริตระบายข้าวจีทูจี ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ช่วงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีการระบายข้าวจีทูจีทั้งหมด 10 สัญญา โปร่งใส 2 สัญญา โดยอีก 8 สัญญาถูกไต่สวนในชั้น ป.ป.ช. ว่า ทุจริต แบ่งเป็น
2 สัญญาแรก มี รมช.พาณิชย์ (นายภูมิ สาระผล) เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว (ในคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หรือ กขช. มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นประธาน กขช.) เป็นผู้ให้ความเห็นชอบกับบริษัท Guangdong Stationery & Sporting Goods Import & Export Corporation (GSSG) ส่วนสัญญาฉบับที่ 3 และ 4 มี รมว.พาณิชย์ (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) เป็นประธานอนุกรรมการพิจารณาการระบายข้าว เป็นผู้ให้ความเห็นชอบในการทำสัญญาซื้อขายข้าวกับ GSSG และ Hainan Grain and Oil Industrial Trading Company (Hainan)
โดย 4 สัญญาแรกศาลฎีกาฯมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ส่วนสัญญาฉบับที่ 5-8 อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงในชั้น ป.ป.ช.
คณะอนุกรรมการฯ ระบุว่า พฤติการณ์การทุจริตมีข้อสังเกต และประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบิดเบือนขั้นตอน และวิธีการระบายข้าว 3 วิธี ดังนี้
1.การตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ ในฐานะที่เป็นตัวแทนรัฐบาลประเทศจีน
หลักการทั่วไปของการซื้อขายข้าวจะเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนการเจรจาซื้อขายข้าวซึ่งไทย โดยกรมการค้าต่างประเทศ ต้องตรวจสอบสถานะของหน่วยงานเกี่ยวกับการเป็นตัวแทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลประเทศจีน โดยกรมการค้าต่างประเทศขณะนั้น ได้ตรวจสอบผ่านสถานทูตจีน ตรวจสอบไปถึงรัฐบาลจีน ได้รับการยืนยันว่าหน่วยงานที่มาติดต่อซื้อข้าว (GSSG และ Hainan) เป็นรัฐวิสาหกิจจีนถือหุ้น 100%
แต่จากคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ มีข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับจีนต้องดำเนินการโดยบริษัท China National Cereals, Oils & Foodstuffs Corporation (COFCO) เท่านั้น แต่ GSSG และ Hainan หากต้องการซื้อขายข้าวต้องขออนุญาตนำเข้าข้าว โดยขอโวตาจาก National Development and Reform Commission (NDRC) ก่อน แต่การขายข้าวโดยขอโควตานี้ จะถูกถือว่าเป็นการนำเข้าข้าวของเอกชน มิใช่เป็นการขายข้าวแบบจีทูจี
ดังนั้นทั้ง 2 บริษัท (GSSG และ Hainan) จึงไม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนให้มาทำสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจีกับกรมการค้าต่างประเทศ อีกทั้งสัญญาทั้ง 4 ฉบับมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการระบายข้าวไปยังต่างประเทศมาตั้งแต่แรก สัญญาซื้อขายข้าวทั้ง 4 ฉบับจึงมิใช่เป็นสัญญาซื้อขายข้าวแบบจีทูจี
การระบายข้าวแบบจีทูจีที่อ้างว่า ทำกับรัฐบาลจีน จึงไม่เป็นความจริง ขั้นตอนนี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อให้ข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว ถูกนำออกมาจากคลังสินค้าของรัฐบาล และเสมือนถูกส่งไปยังประเทศจีน แต่แท้จริงแล้ว ข้าวกลับถูกกลุ่มผู้กระทำความผิด นำไปขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวไทย และนำเงินส่วนนี้ไปเป็นผลประโยชน์แก่พวกพ้องตน
2.การซื้อขายข้าวและการส่งมอบข้าวแบบหน้าคลังสินค้า (Ex Warehouse)
หลักการทั่วไปของการทำสัญญาซื้อขายข้าวจะกำหนดรูปแบบที่เรียกว่า CIF (การส่งมอบที่เมืองท่าของผู้ขาย) หรือ FOB (การส่งมอบที่ท่าเรือของผู้ซื้อ) ซึ่งการซื้อขาย 2 ลักษณะนี้มั่นใจได้ว่าข้าวจะถูกส่งไปยังต่างประเทศ เนื่องจากหลักฐานการชำระเงินจะออกให้ก็ต่อเมื่อผู้ซื้อได้รับข้าวแล้วเท่านั้น
แต่การซื้อขายข้าวแบบจีทูจีของรัฐบาลช่วงปี 2554-2555 กลับกำหนดรูปแบบการซื้อขายข้าวแบบ Ex Warehouse ส่งผลให้การส่งมอบข้าวจะส่งมอบหน้าคลังสินค้า โดยการขายประเภทนี้ ผู้ซื้อต่างประเทศหรือตัวแทนจะมารับสินค้า ณ โรงงานหรือโกดังสินค้าของผู้ขาย ผู้ขายมีหน้าที่เพียงส่งมอบสินค้าให้ถึงมือของผู้ซื้อเท่านั้น จะถือว่ามีการส่งมอบข้าวเสร็จสมบูรณ์
มีข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับรูปแบบการซื้อขายข้าวแบบ Ex Warehouse จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ข้าวได้ถูกส่งออกไปนอกประเทศจริงหรือไม่ และมีข้อพิรุธเกี่ยวกับข้อตกลงตามสัญญาทั้ง 4 ฉบับว่า เพราะเหตุใด การส่งมอบข้าวจึงเป็นแบบ Ex Warehouse แทนที่จะเป็นการส่งมอบแบบ FOB หรือ CIF กล่าวคือ แม้ว่าการส่งมอบ Ex Warehouse จะเป็น Incoterm 2012 ใช้สำหรับการค้าระหว่างประเทศก็ตาม แต่รัฐบาลของประเทศผู้ซื้อย่อมไม่สะดวกที่จะขนย้ายข้าวไปปรับปรุงก่อนลงเรือส่งออกไปยังประเทศปลายทาง การกำหนดส่งมอบแบบ Ex Warehouse จึงเป็นการเปิดช่องทางให้นำข้าวมาเวียนขายภายในประเทศได้
สำหรับการนำข้าวออกจากโกดัง และทำให้เสมือนข้าวถูกส่งมอบแล้ว ดำเนินการโดยผู้รับมอบอำนาจที่อยู่ในไทยของ GSSG และ Hainan จะทำหน้าที่รับมอบข้าวหน้าโกดังสินค้า ทำให้เข้าใจว่ามีการส่งมอบข้าวให้กับบริษัทของรัฐบาลจีน หลังจากนั้นผู้รับมอบอำนาจ (กลุ่มผู้กระทำความผิด) จะนำข้าวกลับไปขายต่อให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวไทย เนื่องจากผู้ประกอบการค้าข้าวไทยไม่มีข้าวที่จะส่งไปยังต่างประเทศ อันมีสาเหตุมาจากเกษตรกรนำข้าวเกือบทั้งหมดไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวกับรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลประกันราคาดีกว่านำไปขายให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวไทย ดังนั้นช่องว่างจากการระบายข้าว และการส่งมอบข้าวทำให้บุคคลที่มีอำนาจและเกี่ยวข้องกับการระบายข้าว สามารถแอบนำข้าวออกไปเวียนขายภายในประเทศได้
3.วิธีการชำระเงินค่าข้าว
หลักการทั่วไป การชำระค่าข้าวตามสัญญาแบบจีทูจี สามารถชำระด้วยวิธี L/C การโอนเงินผ่านธนาคาร หรือการชำระด้วยแคชเชียร์เช็ค และรูปแบบการชำระค่าข้าวของสัญญาซื้อขายข้าวระหว่างประเทศแบบจีทูจีกับจีน กำหนดวิธีการชำระเงินไว้ 3 วิธีข้างต้น แต่พอชำระค่าข้าวจริงกลับเลือกใช้วิธีการชำระแบบแคชเชียร์เช็ค ทั้งที่การชำระเงินแบบ L/C จะเป็นการยืนยันได้ว่า ข้าวได้ถูกส่งไปยังประเทศผู้ซ้อ และเงินค่าข้าวจะถูกชำระจากประเทศผู้ซื้อจริง
ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า วิธีปฏิบัติในการแก้ไขสัญญาเริ่มจากฝ่ายข้าราชการของกรมการค้าต่างประเทศ จัดทำเอกสารแก้ไขกันเองโดยไม่มีการเจรจาใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขสัญญา 2 ฉบับ ในเรื่องเพิ่มวิธีชำระค่าข้าวด้วยการโอนเงินผ่านธนาคาร และวิธีชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็ค เป็นการขอแก้ไขหลังจากทำสัญญาไปเพียง 5 วัน นับเป็นพิรุธอย่างยิ่ง เพราะหากผู้ซื้อประสงค์เพิ่มวิธีชำระเงินดังกล่าว น่าจะเจรจากันให้ได้ข้อยุติตั้งแต่ขณะทำสัญญาแล้ว
อีกทั้งวิธีการชำระเงิน 2 วิธีที่เพิ่มมา ก็ไม่สอดคล้องกับแนวทางการซื้อขายแบบจีทูจี เงินที่ชำระต้องมาจากผู้ซื้อที่เป็นรัฐต่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศไม่เคยปฏิบัติเช่นนี้มาก่อน การชำระค่าข้าวด้วยแคชเชียร์เช็คหรือโอนเงินผ่านธนาคาร ย่อมทำให้ตรวจสอบ และควบคุมการส่งออกข้าว เป็นไปด้วยความยุ่งยาก และเปิดช่องให้นำข้าวไปเวียนขายภายในประเทศ หรือนำกลับไปจำนำในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล เพราะซื้อมาในราคาถูกกว่าท้องตลาดตามที่ปรากฏข่าว ภายหลังทำสัญญามีการใช้แคชเชียร์เช็คชำระค่าข้าวตามสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 หลายร้อยฉบับ เช็คบางฉบับสั่งจ่ายเพียง 2,400 บาท 11,750 บาท 20,460 บาท เป็นต้น และเงินที่ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็คล้วนแต่มาจากบุคคลหรือนิติบุคคลภายในประเทศทั้งสิ้น โดยไม่มีการชำระค่าข้าวด้วยเงินของรัฐวิสาหกิจจีนทั้ง 2 รายเลย
อย่างไรก็ดีการบิดเบือนวิธีการชำระค่าข้าว จากการชำระแบบ L/C จะยืนยันได้ว่าข้าวจะถูกส่งออกไปยังต่างประเทศ และเงินค่าข้าวจะถูกโอนเพื่อชำระค่าข้าวจากรัฐบาลจีนจริง แต่กลับเปลี่ยนเป็นการชำระเงินแบบแคชเชียร์เช็ค เป็นไปเพื่อการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการค้าข้าวไทยที่แอบซื้อข้าวจากกลุ่มผู้กระทำความผิดสามารถชำระค่าข้าวได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่า การชำระเงินแบบแคชเชียร์เช็คจึงเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้กระบวนการทุจริตมีความสมบูรณ์
ตอนถัดไป สำนักข่าวอิศราจะเสนอผลการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องมาตรการแทรกแซงตลาดข้าว ควรมีหรือไม่ หากมีต้องทำอย่างไร
โปรดติดตาม!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/
อ่านประกอบ :
ยกสารพัดเรื่องฉาวยุค‘ปู’-เบื้องหลังมาตรการ ป.ป.ช.ชง รบ.ล้อมคอกทุจริตนโยบายข้าว
ขยายผลจาก‘บุญทรง’!มติทางการ ป.ป.ช. ไต่สวน‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เจ๊แดง’ คดีข้าว-มันจีทูจี