เปิดผลเจรจาข้อพิพาท 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ก่อนได้ข้อยุติขยายสัมปทาน แลกใช้หนี้แสนล้าน
นี่คือข้อมูลกรอบการเจรจาไกลเกลี่ยยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบีอีเอ็ม คือ ต้องไม่นำข้อพิพาทเดิมมาฟ้องร้องกันอีก ทั้งนี้ กทพ. จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสด และมีเงื่อนไข บีอีเอ็มจะลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และการปรับค่าผ่านทางจะเป็นแบบคงที่ทุก 10 ปี
เกือบ 4 เดือนเต็ม หลังจากที่ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบการแข่งขัน ในปี 2542-2543 ให้แก่ บริษัทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้มีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท และยังมีคดีพิพาทอื่นๆอีก รวมทุกคดีมูลค่า 1.3 แสนล้านบาท จนกระทั่งรัฐบาลมีมติครม.ให้ กทพ.ไปเจรจาต่อรองกับ บีอีเอ็มนั้น (อ่านประกอบ:รองปลัดคมนาคม ระบุพร้อมประชุมพิจารณาผลเจรจา 'กทพ.-บีอีเอ็ม' ขยายสัมปทานทางด่วน 2)
ในส่วนของข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเจรจาแก้ไขปัญหาข้อพิพาทดำเนินงาน โครงการทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วนABC และ D) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) ระหว่าง กพท. และ บีอีเอ็ม นั้น พบว่า
กทพ.มีสัมปทานทางด่วนกับบีอีเอ็มอยู่ 3 สัญญา ซึ่งที่มีปัญหาพิพาทกันจำนวนมาก คือ สัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 (ส่วน ABC และ D) และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด (ส่วน C+) โดยข้อพิพาทส่วนใหญ่เป็นเรื่องการปรับค่าผ่านทาง และผลกระทบทางแข่งขัน ซึ่งมีผลต่อเนื่องไปตลอดสัญญา
สำหรับข้อพิพาทเรื่องปรับค่าผ่านทาง
เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2546 (สมัยนายกฯ ทักษิณ/รมว.คมนาคม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ) จากการที่ กทพ.ไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางให้บีอีเอ็ม ตามสัญญาซึ่งกำหนดว่าทุก 5 ปีให้ปรับขี้นค่าผ่านทางตามเงินเฟ้อ (CPI) ที่มากขึ้น โดยปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็ม 5 บาท (เพราะตลอด 5 ปี ไม่ได้ปรับ )แต่ กทพ. ใช้วิธีปัดลงหากคำนวนแล้วไม่ถึง 5 บาท ทำให้บีอีเอ็มได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าคณะอนุญาโตฯ ชี้ขาดให้ กทพ.ชดใช้บีอีเอ็ม แต่กทพ. ไม่ยอมรับและได้ยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดต่อศาลปกครอง
ส่วนข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางแข่งขัน
เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2542 (สมัยนายกฯ ชวน / รมว.คมนาคม สุเทพ เทือกสุบรรณ) จากการที่ กทพ.ไม่ชดเชยรายได้ที่ลดลงสำหรับทางด่วนบางประอิน – ปากเกร็ดให้แก่ บริษัททางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) (บริษัทลูกของบีอีเอ็ม) เนื่องจากมีการก่อสร้างดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาแข่งขันทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลง
ซึ่งในสัญญากำหนดว่า หากมีการก่อสร้างทางในพื้นที่ใกล้เคียงทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลงถือเป็นทางแข่งขัน กทพ.จะชดเชยรายได้ให้ NECL ตามวิธีที่กำหนดในสัญญา แต่กทพ.กลับไม่ยอมชดเชยโดยอ้างว่า ดอนเมืองโทลล์เวย์ส่วนต่อขยายฯ ไม่ใช่ทางแข่งขัน จึงเกิดข้อพิพาทบานปลายฟ้องร้องกันมาตั้งแต่ปี 2543
จากนั้นคณะอนุญาโตฯ ตัดสินให้ NECL ชนะ แต่ กทพ. ไม่ยอมรับ จึงฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครอง
กระทั่งท้ายที่สุด เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2561 ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาให้ กทพ. ชดเชยรายได้ที่ลดลงจากผลกระทบทางแข่งขันในปี 2542-43 ให้แก่ BEM เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท ซึ่งคดีนี้จะมีผลต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท
ข้อพิพาททั้งการไม่ขึ้นค่าทางด่วนตามสัญญา และสร้างทางมาแข่งนั้น ปัญหานี้ถูกหมักหมมมาหลายรัฐบาล จนตัวเลขที่กทพ.ต้องจ่ายชดเชยให้บีอีเอ็มล่าสุดพุ่งเกินแสนล้านบาทแล้ว
ในจำนวนนี้เป็น 'ดอกเบี้ย' มากกว่าครึ่ง!!!
มีรายงานว่า ที่ผ่านมา 10 กว่าปีหลายรัฐบาลมีความพยายามเจรจา แต่ไม่เป็นผล ไม่จบ เนื่องจากทุกครั้งที่มีข่าวกทพ.เจรจากับบีอีเอ็ม พนักงานและสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจ การทางพิเศษแห่งประเทสไทย (สร.กทพ.) จะออกมาคัดค้านเสมอ
จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดการเจรจาระหว่างกทพ.กับบีอีเอ็มเกิดขึ้นอีกครั้ง หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาปลายปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นที่สุด กทพ.ไม่จ่ายไม่ได้แล้ว ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องนำรายงานคำพิพากษาดังกล่าวและแนวทางการเจรจาให้ ครม. ทราบ จึงเป็นที่มาของมติครม. เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มีมติให้หน่วยงานของรัฐอาจดำเนินการเจรจาต่อรองกับคู่พิพาท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ โดยให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ชอบด้วยกฎหมาย และคำนึงถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ
การแก้ปัญหายุติข้อพิพาทนี้ กลายเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยด่วน เพราะถ้าปล่อย กทพ.ยื้อสู้คดีต่อไปก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น หากรัฐบาล คสช.ไม่แก้ไข สุดท้ายก็เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาล คสช. ด้วย
และนี่คือข้อมูลกรอบการเจรจาไกลเกลี่ยยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ. และบีอีเอ็ม คือ ต้องไม่นำข้อพิพาทเดิมมาฟ้องร้องกันอีก ทั้งนี้ กทพ. จะไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินสดให้แก่บีอีเอ็ม และมีเงื่อนไขว่า บีอีเอ็มจะลงทุนปรับปรุงทางด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร และการปรับค่าผ่านทางจะเป็นแบบคงที่ทุก 10 ปี โดยที่ กทพ. ต้องได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยไปกว่าเดิม
ผลการเจรจา
1) กทพ. และบีอีเอ็มจะถอนฟ้องยุติข้อพิพาททั้งหมดโดยไปรับสิทธิรายได้ในอนาคตจากกการ 'ขยายสัมปทาน' แทนมูลค่าข้อพิพาทกว่า 134,000 ล้านบาท
-ทางด่วนขั้นที่ 2 (ABC) หมดสัญญาสัมปทานวันที่ 1 มีนาคม 2563 ขยายถึง 21 เมษายน 2600 หรือ 37 ปี (ทางด่วนในเมือง แบ่งรายได้จากค่าผ่านทาง (กทพ.60% บีอีเอ็ม 40%)
- ทางด่วนขั้นที่ 2 (D) หมดสัญญาสัมปทาน วันที่ 22 เมษายน 2570 ขยายถึงวันที่ 21 เมษายน 2600 หรือ 30 ปี
- และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด หมดสัญญาสัมปทานวันที่ 27 กันยายน 2569 ขยายสัญญาสัมปทานถึงวันที่ 21 เมษายน 2600 หรือ 31 ปี
2) บีอีเอ็ม จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน โดยจะมีการสร้างทางยกระดับชั้นที่ 2 จากอโศกถึงงามวงศ์วานระยะทาง 17 กม. และก่อสร้างช่องจราจร Bypass โดยไม่มีการเวนคืนที่ของประชาชน มูลค่าก่อสร้างประมาณ 31,500 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 4 ปี ทั้งนี้จะไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่มแต่อย่างใด เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ
3) กทพ. และบีอีเอ็ม จะแบ่งสัดส่วนรายได้ค่าผ่านทางเท่ากับที่ กทพ.ได้รับอยู่ในปัจจุบัน (60:40) ตกปีละหมื่นล้านบาท
4) ปรับอัตราค่าผ่านทางแบบคงที่ทุก 10 ปี
ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการเจรจาครั้งนี้
ประชาชน
1) ได้ใช้ทางด่วนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รถไม่ติด โดยไม่ต้องเสียค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นในการใช้ทางยกระดับชั้นที่ 2
2) จ่ายค่าผ่านทางถูก โดยปรับอัตราค่าผ่านทางแบบคงที่ทุก 10 ปี จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม เช่น ปัจจุบัน 50 บาท / ปี 2571 จะปรับเป็น 60 บาท / ปี 2581 จะปรับเป็น 70 บาท ซึ่งยังถือว่าถูกกว่าค่าผ่านทางดอนเมืองโทลล์เวย์ในปัจจุบัน
3) ไม่ต้องมีภาระสนับสนุน กทพ. เช่น นำภาษีอากรของประชาชนไปสนับสนุน กทพ.
รัฐ / กทพ.
1) บรรเทาความเสียหายที่เกิดต่อรัฐ จากการแพ้คดี โดยสามารถยุติข้อพิพาททั้งหมดที่มีกับบีอีเอ็ม โดยไม่ต้องเป็นหนี้หรือชำระเงินแก่บีอีเอ็ม แต่อย่างใด
2) สามารถลดภาระการลงทุนและดำเนินงานของรัฐ/กทพ. โดยให้บีอีเอ็ม เป็นผู้รับความเสี่ยงในการดำเนินโครงการทั้งด้านรายได้และค่าใช้จ่ายแทน ซึ่งสอดคล้องตามนโยบายการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนกับรัฐ
3) กทพ.ได้ส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางไม่น้อยไปกว่าเดิม ทำให้ กทพ.มีสถานะทางการเงินที่ดี มีสวัสดิการที่ดีแก่พนักงาน และสามารถส่งรายได้ให้แก่รัฐได้
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2562 สร.กทพ.นัดแต่งดำ ถือป้ายคัดค้าน พร้อมกับแสดงจุดยืนให้บอร์ด กทพ.ส่งร่างสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 รวมส่วนต่อขยาย และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบเพื่อความถูกต้อง พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกมติบอร์กทพ. เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ขยายสัมปทานให้บีอีเอ็มอีก 37 ปี
ข่าวนี้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลและกทพ.เองก็ยังไม่มีการทำตามความเข้าใจกับสหภาพแรงงานและพนักงานกทพ.ว่า เป็นการแก้ปัญหาเพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ
ทั้งนี้ ต้องจับตาขั้นตอนจากนี้ บอร์ดกทพ.จะนำผลเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และความเห็นของพนักงานเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลตามมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เมื่อใด...