ธกส.เตรียมงบ 600 ลบ. ผุด อสปม. แก้หนี้ชาวบ้าน ล้างครหาปล่อยกู้เพิ่มหนี้
ธกส.กระฉูดไอเดียตั้ง “หมอหนี้” ให้ชาวบ้านเป็นอาสาสมัคร เผยรัฐบาลอนุมัติโครงการประกันรายได้ควบคู่ประกันภัยพืชผลลดความเสี่ยงเกษตรกร กำนันแหนบทอง ติงโครงการประกันรายได้เหมือนเอาเงินโยนทิ้ง สกว.แนะบัญชีครัวเรือนได้มากกว่าแก้จน จุดระเบิดจากภายในแก้ปัญหาชาวบ้านทั้งระบบ
เมื่่อวันที่ 4 ตุลาคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) จัดเวที “หนี้ที่จัดการได้ : กระบวนการทางปัญญาในการแก้ปัญหาหนี้สิน” ที่ สกว. นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) และอดีตรองผู้จัดการใหญ่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) เปิดเผยถึงแนวคิดปฏิรูป ธกส.ให้เป็นองค์กรดูแลระบบการจัดการหนี้สินหมู่บ้าน หรือ Clearing House ไม่ว่าจะเป็นหนี้ที่เกิดจากกองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ หรือหนี้ที่เกิดจากกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านต้องออกไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ
“คนชอบพูดว่า ธกส.ไปสร้างหนี้ให้ชาวบ้าน การมีหนี้ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายถ้าจัดการเป็น และจะจัดการได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูล การทำบัญชีครัวเรือนทำให้ชาวบ้านเรียนรู้และบริหารจัดการตัวเองเป็น คนที่อยากจะปลดหนี้ก็ปลดได้ คนที่ปลดหนี้แล้วก็สามารถสร้างหนี้ที่ตัวเองดูแลจัดการได้”
นายเอ็นนู ยังกล่าวว่าภายในปีนี้ ธกส.กำลังจะทำโครงการ “อาสาสมัครที่ปรึกษาทางการเงินประจำหมู่บ้าน”(อสปม.) โดยเอาชาวบ้านที่มีประสบการณ์ปลดหนี้ได้มาเป็นอาสาสมัคร
“เราไม่อยากใช้นักวิชาการซึ่งบางทีรู้ทฤษฎีแต่ภาคปฏิบัติไม่รู้ ต่อไปเวลาชาวบ้านคนไหนมีปัญหาก็มาปรึกษา อสปม. น่าจะแก้ปัญหาได้ หนี้นอกระบบจะหายไปเลย ถ้าชาวบ้านให้คำแนะนำกันเอง”
กก.คสป. และ อดีตรอง ผจก.ใหญ่ ธกส. ยังกล่าวว่าเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้กระทรวงการคลังและ ธกส.ทำโครงการประกันรายได้ควบคู่กับโครงการประกันภัยพืชผล ตามที่ ธกส.เสนอไปเพื่อลดความเสี่ยงและช่วยให้เกษตรกรอยู่รอดได้ ซึ่งการประกันรายได้เป็นการรับประกันเมื่อเกษตรกรมีผลผลิตออกมาแล้ว แต่การประกันภัยพืชผลเป็นการรับประกันว่าเกษตรกรจะได้ต้นทุนคืน ไม่ต้องมีหนี้สินหากเกิดภัยธรรมชาติจนผลผลิตเสียหาย
“เรื่องราคาพืชผล เราทำจำนำทำประกันรายได้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าอย่างน้อยต้องได้หมื่นขึ้นสำหรับคนทำนาข้าว ส่วนเรื่องภัยธรรมชาติน้ำท่วม-ภัยแล้งซ้ำซาก ต้องมีประกันภัยพืชผล… เช่น ทำนาไม่เกิน 30 ไร่รัฐจะจ่ายเบี้ยประกันภัยให้ทั้งหมด แต่ถ้าเกินเพดานก็ต้องจ่ายเองส่วนที่เกิน”
กำนันเสนอ นราพล ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน จ.ชัยภูมิ และกำนันแหนบทอง กล่าวว่า รัฐบาลให้แต่เงินอย่างเดียว เช่น เงินชดเชยข้าวน้ำท่วมน้ำแล้ง เงินประกันรายได้ ล้วนเป็นการให้ที่ไม่มีประโยชน์ไม่เหมาะสม ทำให้คนรับอย่างเดียวโดยไม่รู้จักวิธีใช้จ่าย เพราะไม่ได้ให้ความรู้
“ปีไหนค่าชดเชยข้าวเหนียวแพงก็ปลูกข้าวเหนียว ปีไหนชดเชยข้าวเจ้าแพงก็ปลูกข้าวเจ้า บางคนขี้โกงปลูกอ้อยทั้งแปลงแต่ไปขึ้นทะเบียนปลูกข้าว รัฐจึงเสียงบประมาณมากมายเหมือนโยนทิ้ง”
กำนันแหนบทอง ยังกล่าวว่า ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่หนักสุดของเกษตรกรคือปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ยังมีค่าแรงที่เริ่มตั้งแต่ 200 บาทต่อคน ค่าเมล็ดพันธุ์ ทำให้ชาวบ้านหันมาทำบัญชีครัวเรือนตามรูปแบบของ สกว.ซึ่งมีรายละเอียดมากและมีการติดตามผล เห็นรายรับรายจ่ายชัดเจน พบว่าคน อ.เกษตรสมบูรณ์ เล่นการพนันทั้งหวยออมสิน ธกส.หวยรัฐบาลปีละไม่ต่ำกว่า 4 หมื่นต่อหัวต่อคน คนชัยภูมิสูบบุหรี่อันดับ 3 ดื่มเหล้าอันดับ 6 ของประเทศ ข้อมูลเหล่านี้นอกจากทำให้ตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยได้ ยังช่วยวางแผนจัดการชีวิตได้ด้วย
“ผมทำนาปี 1 ตรม.ได้ข้าว 18 ต้น เกี่ยวมาแล้วเอามือรูดสีขายได้ 26 บาท แต่ถ้าปลูกผักบุ้งขายจะได้ 420 บาท ผมจึงลดจากทำนา 7 ไร่เหลือ 3 ไร่แค่พอกินแล้วเอาไว้เป็นโรงเรียนสอนคน บ้านผมไม่ใช้เคมี พอทำนาเสร็จจะเอาควายไปมัดในแปลง หลักหนึ่งทิ้งไว้ 3 คืนแล้วย้ายแปลงไป ขี้ควายดีกว่าปุ๋ยสูตร 15”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการ สกว. กล่าวถึง “โครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคมและสุขภาวะ” ของ สกว.ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ 17 จังหวัด ว่าเป็นการวิจัยที่บูรณาการความร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ทำให้เกิดแผนชุมชนที่สะท้อนความต้องการของชาวบ้านเป็น แล้วประสานทรัพยากรมาตอบสนอง และมีเครื่องมือสำคัญคือบัญชีครัวเรือนที่ให้ชาวบ้านจดบันทึกและเรียนรู้จากข้อมูล ผลคือปลดหนี้ได้จริง และยังเป็นข้อมูลที่จุดระเบิดจากภายในสร้างปฏิกิริยาลูกโซ่ ขยายเป็นเครือข่ายเป็นกิจกรรมดีๆ เช่น ธนาคารแรงงาน หลักสูตรแก้จน เกษตรอินทรีย์
“จุดเริ่มต้นเราจะทำโครงการชุมชนเข้มแข็งซึ่งจะแก้ปัญหาทุกอย่างได้ เพราะมองว่ารัฐมีนโยบาย มาตรการความช่วยเหลือมากมายลงพื้นที่แต่แก้ปัญหาไม่ได้ เราเริ่มจากบัญชีครัวเรือน เกิดแรงกระเพื่อมไปเชื่อมโยงกับแผนตำบล การบูรณาการงบประมาณ แต่ของแถมคือชาวบ้านปลดหนี้ได้เยอะมาก เลยลองเก็บตัวอย่างจังหวัดละ 50 ครัวเรือนรวม 697 ครัวเรือน ปลดหนี้ได้เฉลี่ย 5.5 หมื่นบาทต่อครัวเรือนต่อปี”
รอง ผอ.สกว. ยังกล่าวว่า สิ่งที่น่าสนใจคือกลุ่มชาวไร่ชาวนาปลดหนี้ได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยและสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มรับจ้างปลดหนี้ได้น้อยที่สุด แสดงว่าเกษตรกรมีอำนาจกำหนดชะตาชีวิตตนเอง ถ้าได้เรียนรู้และมีปัญญา ต่างจากกลุ่มอื่นๆที่ถูกกดด้วยเงื่อนไขต่างๆ
"เมื่อแบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ชาวนาสามารถชำระหนี้ได้เฉลี่ย 58,071.98 บาท/คน/ปี อาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว 64,197.44 บาท/คน/ปี เกษตรกรทำไร่และสวนเฉลี่ย 52,098.36 บาท/คน/ปี ราชการ 43,854.96 บาท/คน/ปี และอาชีพรับจ้าง 26,574.24 บาท/คน/ปี”.