เมื่อสื่อญี่ปุ่น ชำแหละนโยบายประชานิยมไทย ทักษิณ ถึง บิ๊กตู่ -รบ.ใหม่มาเจอปัญหาศก.แน่
"...ต้องยอมรับว่าประชานิยมแบบรัฐบาลทักษิณนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมร่วมสมัย เพราะว่าในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ก็มีการออกนโยบายเชิงประชานิยมแบบเดียวกันก็คือนโยบายรับจำนำข้าวที่เข้าไปซื้อพืชผลทางการเกษตรแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่า น.ส.ยิ่งบลักษณ์เองก็ต้องหนีออกนอกประเทศด้วยชะตากรรมคล้ายกับนายทักษิณ เวลานี้ก็มีสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะทำผิดแบบเดียวกันนี้เอง อาทิ นโยบายการพยุงราคาปาล์มน้ำมันซึ่งใช้เงินไปถึง 1 พันกว่าล้านบาท หรือนโยบายแจกเงินให้กับคนยากจน 500 บาท จำนวน 14.5 ล้านคนทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร..."
สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติเมื่อวันที่ 23 ม.ค. 2562ที่ผ่านมา ประกาศให้ วันที่ 24 มี.ค.เป็นวันเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของประเทศไทย หลังจากเว้นว่างการเลือกตั้งมายาวนานหลายปี ท่ามกลางกระแสความเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเฉพาะการชูนโยบายขึ้นมาหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะกำลังกลับมาร้อนแรงอีกครั้ง
ดูเหมือนว่า นโยบายประชานิยม กับการเลือกตั้งครั้งใหม่ จะถูกจับตามองจากสื่อต่างประเทศด้วยเช่นกัน!
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ นายวิลเลียม เพเซ็ก ผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจประจำกรุงโตเกียวของญี่ปุ่น ได้เขียนบทความเรื่อง Thailand just can't quit populism ลงในเว็บไซต์เอเชียนิกเกอิ มีสาระสำคัญ คือ หากประเทศไทยยังคงเน้นนโยบายประชานิยมในการบริหารประเทศต่อไป รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารงานจะประสบปัญหาในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ต้องยอมรับว่านโยบายของผู้นำประเทศไทยที่ผ่านมานั้นทำให้เกิดนักประชานิยมตามมา
โดยเฉพาะกับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเข้ามามีอำนาจตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นมุ่งเน้นจะแก้ปัญหาใน 2 เป้าหมาย คือ 1.แก้ปัญหาต่างๆที่ 9 รัฐบาลก่อนหน้าทำไว้ และ 2. หยุดนโยบายประชานิยมที่ทำให้ประเทศไทยต้องประสบกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ หากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาค
ซึ่งดูเหมือนว่าพล.อ.ประยุทธ์นั้นจะประสบความสำเร็จในเป้าหมายแรก แต่ในเป้าหมายที่ 2 นั้นดูเหมือนว่าจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้น ในขณะที่ประเทศกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งภายหลังจากที่ประกาศเลื่อนการเลือกตั้งมาหลายครั้งแล้ว
ส่วนเหตุที่บอกว่า เป็นข้อผิดพลาดนั้นก็เนื่องมาจากรัฐบาลได้ใช้นโยบายเศรษฐกิจเชิงประชานิยมด้วยการแจกเงินให้กับเกษตรกร ซึ่งถือเป็นประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งนโยบายเหล่านี้นั้น รัฐบาลก่อนหน้า พล.อ.ประยุทธ์ก็ได้เคยกระทำมาก่อนแล้ว
และที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นยังไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่ามีความเปลี่ยนแปลงตามมา ซึ่งนี่ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับนักลงทุนไทยและต่างชาติ
แต่ทั้งนี้ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารงานของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้ที่คิดนโยบายประชานิยมเป็นคนแรก แต่ก็ได้สร้างตัวอย่างที่เลวร้ายเอาไว้ให้กับผู้นำที่ตามมาในรุ่นหลังที่มีแนวคิดเชิงปฏิปักษ์กับกลุ่มอำนาจเก่าในประเทศ อาทิ ประธานาธิบดีโรดริโก้ ดูเตอร์เต้ ของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ของบราซิล รวมไปถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา
หากย้อนดูพฤติกรรมของนายทักษิณ จะพบว่ามีการสร้างอิทธิพลกับกลุ่มผู้มีอำนาจรทางการเมืองระดับสูงรวมไปถึงนักการเมืองที่มีอำนาจในท้องถิ่นต่างๆ โดยอาศัยผลประโยชน์ที่มีจากช่วงเวลาที่สภาพเศรษฐกิจมีความเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แต่แทนที่จะมีการอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวสร้างระบบเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการให้คนที่มีฐานะยากจนสามารถทำมาหากินได้ แต่กลับใช้วิธีการอัดฉีดงบประมาณเข้ามาในชุมชนท้องถิ่นในชนบท รวมไปถึงการสร้างคำสัญญาเรื่องนโยบายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแบบครอบคลุมแทน
แทนที่รัฐบาลของนายทักษิณจะมีการลงทุนด้านการศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อพัฒนาในด้านผลผลิตของประเทศ แต่รัฐบาลทักษิณกลับไม่ได้เข้าไปลงลึกถึงสาเหตุและสมมติฐานของอาการป่วยไข้ที่แท้จริง เลือกที่จะเลี้ยงไข้และอาการเจ็บป่วยเอาไว้โดยมอบคำสัญญาบนหน้ากระดาษเอาไว้เพื่อรักษาฐานเสียงที่จนที่สุดในประเทศให้เข้ามาสนับสนุนในการเลือกตั้งต่อไป
อันที่จริงแล้วมีข้อมูลระบุในช่วงทศวรรษที่ 60 และ 70 ว่ากรุงเทพจะเป็นเหมือนกับดีทรอยต์ของเอเชีย ในฐานะศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค เนื่องมาจากอัตราการเติบโตที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามความหวังนั้นก็ถูกลืมเลือนไปโดยสิ้นเชิง
ตามมาด้วยวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ซึ่งในเวลานั้นผู้นำประเทศเอเชียหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ถูกขั้วการเมืองในประเทศกดดันให้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างให้เกิดขึ้น
กลับมาที่กรณีของนายทักษิณซึ่งแม้จะถูกรัฐประหารไปแล้วตั้งแต่ปี 2549 แต่ก็ยังมีอิทธิพลของคำว่าทักษิโณมิกส์ ตามมาอยู่ รัฐบาลที่เข้ามาหลังจากเหตุการณ์นั้นต่างก็เข้ามาและก็ออกไปแบบด้วยความไม่ชัดเจนในการบริหารด้วยกันทั้งสิ้น
ขณะที่กรุงเทพกลายเป็นสนามชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มคนเสื้อแดงที่สนับสนุนนายทักษิณ ที่ต้องการจะตั้งมาเพื่อแข่งกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง
ต้องยอมรับว่าประชานิยมแบบรัฐบาลทักษิณนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมร่วมสมัย เพราะว่าในสมัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของนายทักษิณ ก็มีการออกนโยบายเชิงประชานิยมแบบเดียวกันก็คือนโยบายรับจำนำข้าวที่เข้าไปซื้อพืชผลทางการเกษตรแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ และแน่นอนว่า น.ส.ยิ่งบลักษณ์เองก็ต้องหนีออกนอกประเทศด้วยชะตากรรมคล้ายกับนายทักษิณ
เวลานี้ก็มีสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์กำลังจะทำผิดแบบเดียวกันนี้เอง อาทิ นโยบายการพยุงราคาปาล์มน้ำมันซึ่งใช้เงินไปถึง 1 พันกว่าล้านบาท หรือนโยบายแจกเงินให้กับคนยากจน 500 บาท จำนวน 14.5 ล้านคนทั่วประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร
โดยมีการประเมินกันว่ามีการใช้เงินไปจำนวนมากกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท เน้นไปที่ประชานิยมโดยเฉพาะ
ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สัญญาณแรกของความเลวร้าย อันที่จริงแล้วมีสัญญาณบางอย่างเริ่มต้นมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 2558 แล้วเมื่อรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้งานนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ถือได้ว่าเป็นสถาปนิกของระบบ “ทักษิโณมิกส์” ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งนี่ก็เป็นสัญญาณที่ไม่ดีกับผู้ที่สังเกตุการณ์ทางการเมืองที่ตั้งความหวังว่าประเทศไทยจะพ้นสู่วังวนของนโยบายประชานิยมเสียที
ดังนั้นจึงไม่แปลกใจเลยว่านโยบายว่าด้วยสวัสดิการของ พล.อ.ประยุทธ์ในช่วงปี 2559 นั้นก็มุ่งเน้นไปที่กลุ่มชุมชนในชนบทเช่นกัน
พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าการที่ประเทศมีเสถียรภาพก็คือการปฏิรูปที่เพียงพอแล้ว ซึ่งนี่ส่งผลทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นในประเทศไทยนั้นมีสัดส่วนที่ห่างกันมากขึ้นไปอีกหากเทียบกับประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียน
ประการที่สำคัญต่อมา ก็คือความกลัวว่าจะเสียผลประโยชน์บางประการ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์จึงยังไม่เห็นความชัดเจนว่าจะมีการดำเนินการกับระบบการศึกษาของประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในสังคมยุคใหม่อย่างไรบ้าง
หรือในอีกนัยยะหนึ่งก็คือประเทศไทยนั้นขาดแคลนแรงงานชั้นล่างที่มีฝีมือที่จะเข้ามามีส่วนในกิจการที่เกี่ยวกับสารการผลิตของประเทศ ซึ่งเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของทั้งประเทศ (จีดีพี)
ซึ่งตรงนี้ถือว่าตรงข้ามโดยสิ้นเชิงกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เคยพูดเอาไว้ว่าจะผลักใดประเทศให้กลายเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญ ตามคำพูดว่าไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งหวังว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นศูนย์รวมของระบบสมาร์ตดิจิทัล โดยให้กรุงเทพเป็นเป็นเมืองที่จะผลักดันพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตามการที่จะให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จริงนั้นดูจะเป็นไปได้ยากมาก หลังจากที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ล้มเหลวในการทำให้จีดีพีกลับไปอยู่ที่ 56 เปอร์เซ็นต์
ทุกอย่างก็ย้อนกลับมาที่นโยบายเช่นเดิมถ้าต้องการให้อัตราการเติบโตของจีดีพีเติบโตขึ้นนั้น ก็จะต้องมีนโยบายที่กระจายผลประโยชน์จากผลผลิตในประเทศให้ทั่วถึงกว่านี้และต้องมุ่งเน้นไปที่นวัตกรรมมากกว่านี้ ดังนั้น การศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญ
ซึ่งในการเลือกตั้งที่จะมาถึงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำอะไรดังกล่าวที่มานี้เลย โดยเฉพาะในคำแถลงก็ยังไม่มีระบุถึงการเพิ่มรายได้ของประชากรในประเทศ ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้อาจจะทำให้คนในกรุงเทพจะต้องติดกับรายได้ขึ้นต่ำที่ประมาณ 2 แสนบาทต่อหัวต่อปี ไปอีกเป็นระยะเวลาหลายปี ซึ่งผลกระทบก็มาจากนโยบายของแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
ในช่วงปี 2553 ถึงปี 2559 มีข้อมูลว่าแรงงานการผลิตของไทยถ้าเทียบเป็นต่อหัวต่อคนงาน 1 คนนั้น น้อยกว่าของประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆในภูมิภาค ทั้งๆที่เมื่อก่อนเคยดีกว่ามาตลอด และโดยเฉพาะการประกาศสงครามการค้าของสหรัฐอเมริกาต่อจีนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้นก็อาจจะส่งผลทำให้การฟื้นการส่งออกนั้นทำได้ยากขึ้นไปอีก
มีรายงานในเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาด้วยว่าสถาบันเครดิตสวิสหรือ Credit Suisse ได้ประกาศว่าประเทศไทยนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนคนที่รวยที่สุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเจ้าของความความมั่งคั่งจำนวน 67 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นแทนที่จะเพิ่มสัดส่วนการกระจายรายได้ให้มากขึ้นหรือไม่ก็เพิ่มการสอดส่องกลุ่มทุนที่มีพฤติกรรมผูกขาด รัฐบาลทหารกลับเลือกใช้วิธีการจ่ายเงินให้กับคนอีกประมาณ 99 เปอร์เซ็นต์ที่ได้เป็นเจ้าของความมั่งคั่งนั้นไม่ให้มีปากมีเสียง
ดังนั้นถามว่าการเลือกตั้งจะช่วยได้หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่าผู้โหวตเลือกตั้งนั้นมีทางเลือกอะไรบ้างคือ 1.พรรคพลังประชารัฐที่มีท่าทีสนับสนุนรัฐบาลทหาร 2.พรรคที่สนับสนุนนายทักษิณอย่างพรรคเพื่อไทย และ 3. พรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและเสริมสร้างพื้นที่เมือง
ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จนถึงวันเลือกตั้งนั้นก็ต้องดูว่ารัฐบาลที่ยังมีอำนาจอยู่นั้นจะมีวิธีการเล่นเกมอย่างไรที่จะได้คะแนนเสียงกลับมาเป็นประโยชน์ต่อตัวเองมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลถัดไปนั้นก็จะถูกจดจำว่าจะทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆมากกว่าจะเป็นผู้ที่เข้ามาเยียวยาประเทศ ซึ่งสาเหตุก็คือผลต่อเนื่องจากนโยบายรัฐบาลตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (เรียบเรียงจากเว็บไซต์:https://asia.nikkei.com/Opinion/Thailand-just-can-t-quit-populism)
ทั้งหมดนี่ คือ มุมมองจากสื่อต่างประเทศ เกี่ยวกับนโยบายประชานิยม กับอนาคตของประเทศไทย ในช่วง 20ปี ข้างหน้านี้ หลังผลการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/