2 เงื่อนไขยกระดับไฟใต้สู่สากล!
ความรุนแรงที่กระทำต่อวัด พระ และนักบวช รวมไปถึงโรงเรียน เด็ก และผู้หญิง ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้หลายฝ่ายข้องใจว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงคิดอะไรอยู่ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าทำแบบนี้ผิดกฎสงคราม ละเมิดสิทธิมนุษยชน และทั่วโลกต้องประณาม
ถ้าเป้าหมายของผู้ก่อเหตุรุนแรง หรือที่คนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า "โจรใต้" คือการแบ่งแยกดินแดน ตั้งรัฐใหม่ และได้เอกราช ก็เกิดคำถามว่าพฤติกรรมฆ่าพระ ยิงเด็ก ระเบิดโรงเรียนแบบนี้ ประเทศไหนจะยกมือสนับสนุนให้ตั้งรัฐใหม่และได้เอกราช
เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.62 "นายกฯลุงตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวโดยสรุปตอนหนึ่งว่า การกระทำของผู้ก่อความไม่สงบต้องการสร้างเงื่อนไขยกระดับปัญหา ดึงองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาแทรกแซง เพื่อให้ตัวเองบรรลุข้อเรียกร้องทางการเมือง (ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องการแยกดินแดน หรือข้อเรียกร้องอื่นๆ)
คำถามที่น่าสนใจก็คือ เงื่อนไขยกระดับที่ว่านี้คืออะไร?
จากการตรวจสอบข้อมูลของ "ทีมข่าวอิศรา" พบว่า เงื่อนไขยกระดับปัญหาของผู้ก่อความไม่สงบมีอยู่ 2 อย่างด้วยกัน เรียกได้ว่าเป็นยุทธศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มคนที่เคลื่อนไหวมาตลอด 15 ปีไฟใต้เลยก็ว่าได้
เงื่อนไขแรก คือการทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Armed conflict หรือ "การขัดกันด้วยอาวุธภายในประเทศ" (Internal armed conflict) คือมีการสู้รบกันด้วยอาวุธระหว่างกองกำลังของรัฐบาล กับกองกำลังของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาลเป็นวงกว้าง จนส่งผลกระทบต่อผู้บริสุทธ์ เด็ก ผู้หญิง คนชรา หรือนักบวช (ในทางทฤษฎีมีเงื่อนไขย่อยที่เป็นองค์ประกอบอย่างอื่นอีกหลายองค์ประกอบ เช่น ฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลอาจจะต้องมีเขตยึดครองของตน ฯลฯ) ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้น ก็จะสะท้อนว่ารัฐบาลจัดการปัญหาไม่ได้ ก็จะมีนานาชาติ หรือองค์กรระหว่างประเทศยื่นมือเข้ามาแทรกแซง
ตามหลักสากลคือ ต้องนำกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หรือ International Humanitarian Law (IHL) มาใช้ เพื่อตีกรอบให้กองกำลังติดอาวุธทุกฝ่ายต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน โดยเฉพาะเป้าหมายอ่อนแอ และสถานที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน เป็นต้น
เงื่อนไขแบบนี้เองที่ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบพยายามก่อเหตุที่มีลักษณะก่อผลกระทบเชิงจิตวิทยาในวงกว้าง (อย่างเช่นฆ่าพระ) เพื่อยั่วยุให้ฝ่ายรัฐนำกำลังเข้าปราบปรามอย่างรุนแรง จนเกิดการสู้รบด้วยอาวุธขยายวงกว้าง ก็จะเข้าเงื่อนไข (บางข้อ) ของ Armed conflict ขณะเดียวกันการที่มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ เด็ก ผู้หญิง หรือนักบวชเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง ก็จะเป็นตัวเร่งให้เข้าเงื่อนไข Armed conflict ด้วย เพราะถือว่ารัฐบาลจัดการปัญหาไม่ได้
นี่คือแผนขั้นต้นของผู้ก่อความไม่สงบ เพราะเมื่อมี "ฝ่ายที่สาม" หรือ Third Party เข้ามาร่วมวงด้วยเมื่อไหร่ อำนาจต่อรองก็จะเปลี่ยนดุล และมีโอกาสที่พวกเขาจะเรียกร้องเอาอะไรได้มากขึ้น (ผลจะเป็นอย่างไรค่อยว่ากันอีกที แต่เบื้องต้นต้องดึง Third Part เข้ามาก่อน)
เงื่อนไขที่ 2 ที่จะยกระดับปัญหา ก็คือสิ่งที่เรียกว่า "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" หรือ Rihgts of self-determination ของดินแดนอาณานิคม
กล่าวอย่างรวบรัดด้วยการสรุปเนื้อหาจากจุลสารความมั่นคงฉบับที่ 59 ที่จัดทำโดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข และคณะ ก็คือ "สิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง" ถูกระบุไว้ในมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 1514 ลงวันที่ 14 ธันวาคม 1960 เรื่อง "การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคม" (Declaration on the Granting of Independence to Colonial Countries and Peoples) โดยมีข้อความที่กำหนดไว้ใน มาตรา 1.1 ของมติที่ 1514 ว่า "กลุ่มชนทั้งปวงมีสิทธิ์ในการกำหนดใจตนเอง โดยสิทธิ์ดังกล่าวพวกเขามีเสรีภาพในการตัดสินใจในสถานะทางการเมือง และดำเนินการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเองได้อย่างเสรี"
ผลของมติที่ 1514 นี้ ทำให้การดำเนินการปลดปล่อยอาณานิคมประสบความสำเร็จ อาณานิคมทั้งหมดต่างได้รับอิสรภาพและได้รับเอกราช จนทำให้หลักการในเรื่องนี้เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป แต่ต่อมาสิทธิ์ในการกำหนดใจตนเองได้ถูกนำไปใช้ในกรณีอื่นๆ ที่ไม่ใช่การให้เอกราชแก่ดินแดนอาณานิคมด้วย เช่น การกล่าวอ้างสิทธิ์ของชนกลุ่มน้อยต่างๆ (Minority groups) ที่ต้องการแยกตัวเองออกเป็นรัฐอิสระ นอกจากนั้นสิทธิ์ในการกำหนดใจตนเองยังถูกใช้ในกรณีสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิ์ของชนพื้นเมืองดั้งเดิมด้วย โดยการแสดงออกถึงสิทธิ์ ใช้วิธีการทำประชามติ
ที่ผ่านมามีหลายประเทศที่เกิดปรากฏการณ์แบบนี้ แต่ในส่วนของปัตตานี (รัฐปัตตานี หรือปาตานี) หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เคยเป็นรัฐอาณานิคมของไทย (ตามความหมายของรัฐสมัยใหม่) ฝ่ายความมั่นคงไทยจึงเชื่อว่ากลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (นำโดยขบวนการบีอาร์เอ็น) ไม่น่าจะเรียกร้องประเด็นนี้ได้ แต่ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบก็พยายามสร้างเงื่อนไข เช่น ในแถลงการณ์ของขบวนการบีอาร์เอ็น ใช้คำเรียกขานรัฐไทยว่า "เจ้าอาณานิคมสยาม" ทุกคำ สะท้อนยุทธศาสตร์การต่อสู้ของบีอาร์เอ็นว่าต้องการให้สถานการณ์ก้าวไปสูุ่การขอใช้สิทธิ์กำหนดใจตนเอง
นี่คือเงื่อนไขที่ฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงพยายามสร้าง ซึ่งทุกฝ่ายต้องรู้เท่าทัน และไม่ตกเป็นเครื่องมือ หรือเติมเชื้อไฟจนทำให้เข้าเงื่อนไขถูกมือที่สามแทรกแซง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ่านประกอบ :