สธ. กรมราชทัณฑ์ สปสช. ร่วม MOU พัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขัง
สธ. กรมราชทัณฑ์ สปสช.ร่วม MOU พัฒนาระบบสุขภาพผู้ต้องขัง เพิ่มศักยภาพสถานพยาบาลในเรือนจำ ดูแลผู้ต้องขังเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ พร้อมเผยผลความร่วมมือที่ผ่านมา มีผู้ต้องขังลงทะเบียนสิทธิบัตรทองแล้ว 2.6 แสนราย ขณะที่สถานพยาบาลในเรือนจำผ่านตรวจประเมินหน่วยบริการในระบบบัตรทองครบ 142 แห่งแล้ว
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2562 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในวันนี้ สปสช.ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ (MOU) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และ สปสช. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักและร่วมกันพัฒนารูปแบบการจัดบริการ ในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ ให้สามารถเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพ การพัฒนาและสนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังให้ครอบคลุมทั้ง การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมและกำจัดโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2558
นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า จากความร่วมมือในครั้งนี้ สปสช.ได้รับมอบดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหน้าที่และบทบาท สปสช.ตาม พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 อาทิ การขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลในเรือนจำเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการประจำ, การลงทะเบียนสิทธิผู้ต้องขังในระบบหลักประกันสุขภาพ, จัดสรรงประมาณและจ่ายชดเชยค่าบริการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อดูแลผู้ต้องขัง และจัดทำระบบข้อมูลบริการ ระบบการเงินและคุณภาพบริการ และจากความร่วมมือนี้ทั้ง 3 หน่วยงานยังเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ และคณะกรรมการระดับพื้นที่เพื่อพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำในการดำเนินงาน โดยมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมตามความเหมาะสม
อย่างไรก็ตามจากความร่วมมือการพัฒนาระบบบริการสุขภาพผู้ต้องขังที่ผ่านมา ข้อมูล ณ วันที่ 7 ม.ค. 2562 ได้รลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้กับผู้ต้องขังแล้วจำนวน 261,672 คน หรือร้อยละ 91.28 จากจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำทั้งหมด 286,671 คน นอกนั้นเป็นผู้มีสิทธิประกันสังคมจำนวน 2,383 คน สิทธิข้าราชการและบุคคลในครอบครัว 1,693 คน สิทธิสวัสดิการท้องถิ่นและครอบครัวจำนวน 269 คน บุคคลต่างด้าว 1,204 คน และบุคคลไม่มีเลข 13 หลักจำนวน 16,456 คน เป็นต้น ส่วนการตรวจประเมินและขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลเรือนจำ สปสช.ได้ดำเนินการครบทั้งหมด 142 แห่งแล้ว โดยเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ 140 แห่ง และหน่วยบริการประจำ 2 แห่ง
“ผลที่เกิดขึ้นจากการลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำครั้งนี้ จะทำให้สถานพยาบาลในเรือนจำได้รับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพิ่มศักยภาพในการดูแลสุขภาพผู้ต้องขังยิ่งขึ้น ส่งผลให้ผู้ต้องขังซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางเข้าถึงการรักษาและบริการสุขภาพที่จำเป็น ลดความเหลื่อมล้ำในระบบสุขภาพ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว