สกว.เผยคัมภีร์ “ปลดหนี้ด้วยปัญญา” โชว์หลักสูตรแก้จน-ธนาคารแรงงานชุมชน
สกว.จัดเวที “ปลดหนี้ภาคประชาชน” โชว์ชุมชนต้นแบบโรงเรียนแก้จน ธนาคารแรงงาน เสนอแนวคิดหนี้ชาวบ้านจัดการได้ด้วยกระบวนการทางปัญญา-พอเพียง-พึ่งตนเอง-ยึดบัญชีครัวเรือนเป็นคัมภีร์ 15 จังหวัดนำร่อง 50 กรณีตัวอย่าง 582 ครัวเรือน ปลดหนี้ได้คนละ 5.5 หมื่นต่อปี
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่า ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ประกาศชุดนโยบายแก้ปัญหาหนี้สินทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการลดค่าครองชีพ การประกันรายได้เกษตรกรและค่าแรงขั้นต่ำ นโยบายจัดสรรที่ดินทำกินและการออกโฉนดชุมชน การแก้ปัญหาหนี้ในระบบและนอกระบบที่มีผู้เป็นหนี้นอกระบบเกือบ 1.2 ล้านคนโดยใช้สถาบันการเงินระดับฐานราก เช่น สวัสดิการออมทรัพย์ สวัสดิการชุมชน ส่วนของหนี้สินเกษตรกรจะให้ผ่อนในลักษณะปลอดดอกเบี้ยและให้ใช้หนี้ได้ยาวถึง 15 ปี หนี้สินครูดำเนินการผ่านกองทุนแก้ไขหนี้สินครู ธนาคารออมสิน โครงการพัฒนาชีวิตครู และสหกรณ์ออมทรัพย์ของครูเพื่อปลดหนี้สินของครู ส่วนผู้ประกอบอาชีพอิสระจะดำเนินการผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น
“หนี้มีทั้งด้านบวกและลบ ด้านบวกคือเมื่อมีความจำเป็น การสร้างหนี้ก็เป็นการผ่อนคลายความเดือดร้อน แต่ในด้านลบคือเมื่อกู้มาแล้วไม่ได้ใช้ให้เกิดผลงอกเงยกว่าเดิม เลยไม่มีเงินใช้หนี้ จึงพอกพูนขึ้นเหมือนดินพอกหางหมูจนไม่มีปัญญาจะใช้หนี้ สำนวนที่ว่าไม่มีปัญญาจะใช้หนี้ คิดดูดีๆบอกคำตอบอยู่แล้วว่าเราจะแก้ปัญหาหนี้ได้ด้วยปัญญา”
ดร.ลีลาภรณ์ กล่าวว่าปี 2550 สกว.ได้เริ่มดำเนินงานโครงการความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พัฒนาสังคมและสุขภาวะ ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆทั้งหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคประชาชน ชุมชน วิชาการ วัด/มัสยิด สื่อ ฯลฯ เข้ามาร่วมแก้ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญอยู่ โดยมีแนวทางสำคัญคือทำให้เกิดแผนชุมชนที่สะท้อนความต้องการแท้จริงของประชาชนเป็นตัวตั้งสำหรับประสานทรัพยากรเข้ามาตอบสนอง เครื่องมือสำคัญที่ สกว.ได้ทดลองใช้เพื่อทำให้แผนชุมชนตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงของปัญหาชาวบ้าน คือบัญชีครัวเรือนที่ประชาชนต้องเป็นคนจดบันทึกเองและเรียนรู้จากข้อมูลที่เขาเก็บมาเองกับมือ
ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม สกว.กล่าวว่า ผลจากการดำเนินงานในพื้นที่ 17 จังหวัด ระยะที่ 2 (ส.ค.50- ส.ค.53) พบกระบวนการทางปัญญาของชาวบ้านมากมายในการจัดการหนี้ของตน บางคนปลดหนี้หลักหมื่นหลักแสนได้ภายใน 2-3 ปี ทั้งนี้ สกว.ได้ประมวลข้อมูลการทำบัญชีครัวเรือนจากโครงการนี้ใน 15 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ กำแพงเพชร พิษณุโลก ชัยนาท นครปฐม อุทัยธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา กาฬสินธุ์ นครพนม ยโสธร อุบลราชธานี พัทลุง สงขลา สตูล และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละประมาณ 50 บัญชี รวมเป็น 582 ครัวเรือนจาก 41,415 ครัวเรือน พบว่ากระบวนการทำงานโครงการช่วยชาวบ้านชำระหนี้ได้เฉลี่ย 55,250.91 บาท/คน/ปี
"เมื่อแบ่งตามกลุ่มอาชีพ พบว่า ชาวนาสามารถชำระหนี้ได้เฉลี่ย 58,071.98 บาท/คน/ปี อาชีพค้าขายและธุรกิจส่วนตัว 64,197.44 บาท/คน/ปี เกษตรกรทำไร่และสวนเฉลี่ย 52,098.36 บาท/คน/ปี ราชการ 43,854.96 บาท/คน/ปี และอาชีพรับจ้าง 26,574.24 บาท/คน/ปี กระบวนการทางปัญญาของผู้คนมากมายนี้ เริ่มจากสิ่งที่เป็นเรื่องใกล้ตัว คือ การทำบัญชีรับจ่ายครัวเรือน ที่ทำให้เจ้าของบัญชีเกิดสติรู้ตัวและเริ่มคิด เริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายของตน ไปจนถึงการรามกลุ่มเพื่อหาทางช่วยกันแก้ปัญหาที่สาเหตุร่วมกัน เกิดเป็นปัญญาหมู่ ที่ยิ่งมีพลังในการแก้ปัญหาของชุมชนท้องถิ่น”
ทั้งนี้ในวันที่ 4 ต.ค. 9.00-12.00 น. สกว.จะจัดเวทีเสวนา “หนี้ที่จัดการได้ : กระบวนการทางปัญญาในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือน” เพื่อแลกเปลี่ยนบทเรียนการปลดหนี้ของภาคประชาชน ซึ่งมีต้นแบบที่น่าสนใจ อาทิ โรงเรียนแก้จน, ธนาคารแรงงาน, และมีการเสวนาหาทางออกในการจัดการปัญหาหนี้สินและเศรษฐกิจครัวเรือนไทยที่เริ่มต้นจากกระบวนการคิดเป็นและพึ่งพาตนเองเป็นหลัก โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา อาทิ นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.), นายอำนวย ปะติเส ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี .
ภาพประกอบจาก : ฝ่ายชุมชนและสังคม สกว.